เล่มที่ 21
ศิลปะการทอผ้าไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การทอผ้าเป็นงานศิลปหัตถกรรมของผู้หญิงที่เรียนรู้สืบทอดกันภายในครอบครัวต่อมาหลายๆ ชั่วคน
นับว่าเป็นบทบาททางสังคมวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิงไทยในท้องถิ่นต่างๆ

            ผ้า เป็นวัสดุสำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม จึงนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่จำเป็นอย่างหนึ่ง ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ควบคู่ไปกับอาหาร และที่อยู่อาศัย

            ในอดีต การทอผ้าใช้เองในครัวเรือนเคยมีความสำคัญมากในสังคมไทย ชุมชนน้อยใหญ่ ในหมู่บ้าน และแม้แต่ในเมือง ต่างก็มีธรรมเนียมการทอผ้าไว้ใช้สอยเอง และสำหรับมอบให้ผู้อื่น เป็นของขวัญ ในโอกาสต่างๆ เช่น สงกรานต์ หรือในการไหว้ผู้ใหญ่ ในงานแต่งงาน และยังมีประเพณีการทอผ้าถวายวัด ถวายพระ ในงานทำบุญประจำปีอีก เช่น ในประเพณีทอดผ้ากฐิน และทอดผ้าป่า เป็นต้น

            ในประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับไทย งานทอผ้าเป็นงานเฉพาะของผู้หญิง ผู้ชายจะทำงานหัตถกรรมอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับครอบครัว และชุมชน เช่น จักสาน ตีเหล็ก ทำเครื่องเงิน และแกะสลักไม้ งานหัตถกรรมของทั้งหญิงและชายเหล่านี้ มักจะ ทำในยามว่างจากการทำไร่ทำนา ซึ่งทั้งหญิงและชายมีหน้าที่ออกไปใช้แรงงานร่วมกัน

            เด็กผู้หญิงในหมู่บ้านในสมัยก่อน จะเรียนรู้การทอผ้าจากการเฝ้าสังเกตการทำงานของยาย แม่ น้า หรือพี่สาว เมื่อเด็กโตพอจะนั่งกี่สำหรับใช้ทอผ้าได้ ก็จะเริ่มทอผ้าง่ายๆ ก่อน แล้วจึงเริ่มพัฒนาเทคนิคการทอ จนสามารถทอผ้าที่มีลวดลายวิจิตร สำหรับงานพิธีได้ การทอผ้าจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมของผู้หญิงที่เรียนรู้สืบทอดกันภายใน ครอบครัวต่อมาหลายๆ ชั่วคน นับเป็นการอบรมบ่มนิสัยลูกผู้หญิงให้มีความละเอียด มีระเบียบ อดทน รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และรู้จัก ศิลปะ นอกจากนี้ยังเป็นการสืบทอดเทคนิควิธี และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของครอบครัว และของชุมชนอีกด้วย นับได้ว่า การทอผ้าเป็นบทบาททางสังคมวัฒนธรรม ที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้หญิงไทย ในท้องถิ่นต่างๆ ในอดีต

            สำหรับสังคมเมืองหลวง และเมืองท่าใหญ่ๆ ของไทยนั้น มีการค้าขายติดต่อกับดินแดนใกล้ไกลมาแต่โบราณ จึงมีพ่อค้าจากต่างแดนผ่านไปมา นำสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ มาขาย มาแลกเปลี่ยน หรือมาเป็นของกำนัลแก่ผู้คนในเมืองเหล่านั้น ซึ่งผ้าสวยๆ ใช้วัสดุ และมีลวดลายแปลกตาจากต่างแดน ก็นับว่า เป็นสินค้าล้ำค่าที่พึงปรารถนาอย่างหนึ่ง ดังนั้นคนไทยในเมืองหลวง และเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะผู้คนชั้นสูง จึงรู้จักใช้ผ้าต่างประเทศ เช่น จากจีน อินเดีย อาหรับ และยุโรป ได้แก่ ผ้าแพรไหม ผ้าสักหลาด ผ้ายก ดิ้นเงินดิ้นทอง และผ้าพิมพ์ เป็นต้น พวกผู้หญิง ในตระกูลขุนนาง หรือคหบดี ก็มักไม่ทอผ้าเอง แต่จะมีบ่าวไพร่ หรือชาวบ้านรับทอผ้าให้ตามสั่ง เมื่อผ้าต่างชาติได้ใช้กันแพร่หลาย ในหมู่คนไทยที่ซื้อหาจากต่างประเทศ ต่อมาก็มีการลอกเลียนแบบ โดยนำมาว่าจ้างให้ช่างทอไทยหัดทอบ้าง ทำให้ศิลปะการทอผ้าของไทย ยิ่งมีความวิจิตรมากยิ่งขึ้น เป็นลำดับ