วิวัฒนาการของการทอผ้าในประเทศไทย
วิวัฒนาการ ของการทอ
เส้นไหมซึ่งย้อมแล้ว เตรียมม้วนขึ้นกี่เป็นด้ายเส้นยืน
แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดมาใช้อธิบายเรื่องจุดกำเนิดของการทอ ผ้าในประเทศไทยก็ตาม แต่ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การทอผ้าเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งที่มนุษย์ในสมัยโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดน นี้ รู้จักทำขึ้น ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ เช่น ที่เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี อายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีรูปมนุษย์โบราณกับสัตว์เลี้ยง เช่น ควายและสุนัข แสดงว่า มนุษย์ยุคนั้นรู้จักเลี้ยงสัตว์แล้ว ลักษณะการแต่งกายของมนุษย์ยุคนั้น ดูคล้ายกับจะเปลือยท่อนบน ส่วนท่อนล่างสันนิษฐานว่า จะใช้หนังสัตว์ หรือผ้าหยาบๆ ร้อยเชือกผูกไว้รอบๆ สะโพก บนศีรษะประดับด้วยขนนก
จากภาชนะเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่พบบริเวณถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ ปีมาแล้ว พบว่า มีการตกแต่งด้วยรอยเชือก และรอยตาข่ายทาบ ทำให้เราสันนิษฐานว่า มนุษย์น่าจะรู้จักทำเชือกและตาข่ายก่อน โดยนำพืชที่มีใยมาฟั่นให้เป็นเชือก แล้วนำเชือกมาผูก หรือถักเป็นตาข่าย จากการถักก็พัฒนาขึ้นมา เป็นการทอ ด้วยเทคนิคง่ายๆ แบบการจักสาน คือ นำเชือกมาผูกกับไม้หรือยึดไว้ให้ด้ายเส้นยืน แล้วนำเชือกอีกเส้นหนึ่งมาพุ่งขัดกับด้ายเส้นยืน เกิดเป็นผืนผ้าหยาบๆ ขึ้น เหมือนการขัดกระดาษ หรือการจักสาน เกิดเป็นผ้ากระสอบแบบหยาบๆ
ลวดลายพื้นบ้านเป็นลายซิกแซกและลายงู ปรากฏในภาชนะดินเผาเขียนสียุคบ้านเชียงลวดลายเช่นนี้
คล้ายคลึงกับลวดลาย การทอผ้าพื้นเมืองของหลายๆ ประเทศ
เราพบหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีที่บริเวณบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เช่น พบกำไล สำริด ซึ่งมีสนิม และมีเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมนั้น นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สนิมเป็นตัวกัดกร่อนโลหะ ซึ่งเป็นอนินทรียวัตถุ แต่กลับเป็นตัวอนุรักษ์ผ้า ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ที่แหล่งบ้านเชียงนี้ เรายังพบแวดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์การปั่นด้ายแบบง่ายๆ และพบลูกกลิ้งแกะลาย สำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก จึงทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์อาศัยอยู่ในบริเวณบ้านเชียง เมื่อ ๒,๐๐๐- ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว รู้จักการปั่นด้าย ทอผ้า ย้อมสี และพิมพ์ลวดลายลงบนผ้าอีกด้วย
วัตถุ ดิบสำหรับการทอผ้า
ปุยฝ้ายพันธุ์น้ำตาลและพันธุ์ขาว
วัตถุดิบสำหรับการทอผ้านั้น คงจะมีการพัฒนากันขึ้นมาเป็นลำดับ แต่เราก็พอจะสันนิษฐาน จากหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบในประเทศไทยได้ว่า ในสมัยโบราณมนุษย์คงจะได้แสวงหาพืชในท้องถิ่น ที่มีเส้นใยแข็งแรง เช่น ปอ ป่าน กัญชา กล้วย สับปะรด มาปั่นเป็นเกลียวเชือกใช้ ก่อน ต่อมาจึงนำเชือกมาถักทอเป็นตาข่ายและ เป็นผืนผ้าเป็นลำดับ เศษใยผ้าที่พบที่บ้านเชียง เชื่อว่าเป็นเศษใยกัญชา การใช้เส้นใยพืชเป็นวัตถุดิบในการทอผ้านี้ ก็ยังมีผู้คนบางท้องถิ่นในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ทำใช้กันอยู่บ้างในปัจจุบัน เช่น ในภาคเหนือของไทย และในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีการทำผ้าจากใยของป่านกัญชา ซึ่งมีลักษณะเหมือนผ้าลินินอย่างหยาบๆ ในโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการทอผ้าจากใยของต้นกล้วย ในบอร์เนียว และในฟิลิปปินส์ก็ยังใช้ใยสับปะรดทอผ้าใช้กันอยู่ ผ้า ป่านใยสับปะรดของฟิลิปปินส์ได้มีการพัฒนา เทคนิคการฟอก จนกลายเป็นผ้าป่านแก้วที่ทนทาน สวยงาม และราคาแพง นิยมใช้กันในสังคมชั้น สูงของฟิลิปปินส์จนถึงทุกวันนี้
ดอกกรรณิการ์ ใช้ส่วนก้านย้อมจะได้สีส้มแดง
วัตถุดิบอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้ทอผ้า ได้แก่ ไหม ฝ้าย และขนสัตว์ นั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า มีกำเนิดจากดินแดนอื่นนอกประเทศไทย ไหมนั้นเชื่อว่า มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วนำไปเผยแพร่ในญี่ปุ่น อินเดีย รวมทั้งดินแดนต่างๆ ในเอเชีย และยุโรป ส่วนฝ้าย เชื่อกันว่าอาจมาจากอาหรับและเผยแพร่เข้ามาใช้ กันอย่างกว้างขวางในอินเดียก่อน จึงเข้ามาในแถบประเทศไทย และประเทศใกล้เคียงภายหลัง จนกลายเป็นพืชพื้นเมืองในแถบนี้ไป สำหรับขนสัตว์ เป็นวัสดุที่เหมาะกับอากาศหนาว เชื่อกันว่านำมา ใช้ทำผ้าในยุโรปตอนเหนือก่อน แล้วจึงแพร่หลาย ไปสู่ดินแดนอื่นๆ
วัตถุดิบที่ใช้ย้อมสีผ้านั้น เชื่อกันว่า คนโบราณรู้จักนำพืชสมุนไพร และเปลือกไม้ที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นของเรา มาใช้ย้อมผ้า และทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ที่สืบทอด และค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้สีธรรมชาติจากพืชมาย้อมผ้ากันอยู่ เช่น นาง แสงดา บัณสิทธิ์ ที่บ้านไร่ไผ่งาม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ศิลปินแห่งชาติด้านการย้อมสีธรรมชาติ และทอผ้าแบบล้านนาเดิม ในจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุรินทร์ ก็ยังมีการย้อมผ้าด้วยพืชพื้นบ้านกันในหลายๆ อำเภอ เป็นต้น พืชพื้นบ้านเหล่านี้ สามารถนำเอาดอก ใบ เปลือกไม้ และเมล็ด มาต้มเคี่ยวให้เกิดเป็นสีเข้มขึ้น แล้วนำน้ำสีมาย้อมผ้า เช่น ย้อมรากยอเป็นสีแดง ย้อมครามเป็นสีน้ำเงิน ย้อมมะเกลือเป็นสีดำ ย้อมขมิ้นชัน หรือแก่นขนุนเป็นสีเหลือง ย้อมลูกสมอ หรือใบหูกวาง หรือเปลือกมะกรูดเป็นสีเขียว ย้อมลูกหว้าเป็นสีม่วง ย้อมเปลือกไม้โกงกางเป็นสีน้ำตาล เป็นต้น
ลูกหว้าให้สีม่วง
อุปกรณ์ในการทอผ้า
กระสวย เป็นเครื่องมือในการสอดด้ายเส้นพุ่ง
กี่ผูกเอวซึ่งเป็นของพื้นบ้านดั้งเดิมในยุคโบราณ ปัจจุบันพบในชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง หรือชาวอีบันในบอร์เนียวหรือในหมู่เกาะของอินโดนีเซียลักษณะโครงสร้างของกี่สามารถ เคลื่อนย้ายได้โดยง่าย
อุปกรณ์ หรือเครื่องมือสำคัญในการทอก็คือ เครื่องทอ ซึ่งคนไทยพื้นบ้านในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เรียกกันว่า กี่ หรือ หูก ภาคใต้เรียกว่า เก
กี่หรือหูก พัฒนาขึ้นมาจากหลักการเบื้องต้น ที่ต้องการให้มีการขัดลายกันระหว่างด้ายเส้นยืน กับด้าย เส้นพุ่ง เป็นจำนวนมากเพียงพอที่จะให้เกิดเป็นผืนผ้าขึ้น
ด้ายเส้นยืน (บางแห่งก็เรียกเส้นเครือ) จะมีจำนวนกี่เส้นหรือมีความยาวเท่าใดก็ตาม จะต้องมีการขึงให้ตึง และยึดอยู่กับที่ ในขณะที่ด้ายเส้นพุ่ง จะต้องพันร้อยอยู่กับเครื่องพุ่ง ซึ่งคนไทยเรียกว่า กระสวย สำหรับใช้พุ่งด้ายเข้าไปขัดกับด้ายเส้นยืนทุกเส้น และพุ่งกลับไปกลับมา จนเกิดเป็นเนื้อผ้าตามลวดลาย และขนาดที่ต้องการ
เครื่องมือทอผ้าที่ง่าย และมีลักษณะธรรมชาติที่สุดในโลกเห็นจะได้แก่ การผูกด้ายเส้นยืนเข้ากับนิ้วมือข้างหนึ่ง และใช้นิ้วมืออีกข้างหนึ่ง พุ่งด้ายเข้าไปถักทอ โดยอาจใช้เข็มหรือกระดูกช่วย วิธีนี้ใช้กันอยู่ในหมู่ชาวอินเดียนแดง ในสหรัฐอเมริกา การทอแบบนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ฟิงเกอร์ วีฟวิง (finger weaving) หรือทอด้วยนิ้ว ผ้าที่ได้จะมีลักษณะแคบและยาว เช่น ผ้าคาดเอว แต่ก็สามารถนำมาเย็บต่อเป็นเสื้อผ้าได้ เป็นต้น
หูกหรือกี่ที่ทำได้ง่าย และมีลักษณะเป็นธรรมชาติอีกประเภทหนึ่งคือ กี่ผูกเอว พบในหมู่ชาวบ้าน หรือชาวเขา ที่อยู่ห่างไกลในหลายๆ ประเทศ ทั้งในเอเชีย และละตินอเมริกา ภาษาอังกฤษเรียกว่า แบ็กสแตรปป์ลูม (back-strapped loom) กี่หรือหูกประเภทนี้ จะใช้ไม้ท่อนสั้นๆ ขึงด้ายเส้นยืนไว้ สองด้าน ปลายด้านหนึ่งมักจะผูกยึดไว้กับต้นไม้ หรือบางครั้งก็ให้ผู้ทอนั่งราบกับพื้น เหยียดขา ตรงและใช้เท้าเหยียบปลายไม้ไว้ให้ตึง ปลายอีก ด้านหนึ่งจะผูกติดไว้กับเอวของผู้ทอ เวลาทอ ผู้ทอสามารถจะโน้มตัวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง แล้วเหยียบไม้ที่ปลายเท้า เพื่อดึงด้ายเส้นยืนให้ตึง หรือหย่อนได้ตามต้องการ ในปัจจุบันยังพบว่ามี ชาวบ้าน เช่น ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดราชบุรี และชาวบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ชาวอีบัน ใน บอร์เนียว ประเทศฟิลิปปินส์ ในปัจจุบันนี้ ชาวบ้านในประเทศไทย ที่ทอผ้าใช้เอง หรือทอขายเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน ต่างนิยมใช้กี่ที่ปรับปรุงให้ทอผ้าได้ง่ายและสะดวกขึ้น กี่ที่ใช้กันอยู่จึงมีโครงไม้ที่แข็งแรง มีที่นั่งห้อยเท้า บางแห่งยังใช้กี่แบบพื้นบ้านโบราณที่มีโครงไม้ขนาดเล็ก เรียกว่า "ฟืมเล็ก" และ ใช้ขนเม่น หรือนิ้วมือช่วยเก็บลาย ซึ่งเหมาะสำหรับทอผ้าที่ต้องการความละเอียด และทอเป็นผ้าหน้าแคบ เช่น ผ้าตีนจก หรือผ้าขิต ที่มีลวดลายวิจิตรผืนเล็ก บางแห่งก็นิยมใช้ฟืมใหญ่ และบางแห่งเช่นใน จังหวัดสุรินทร์ จะนิยมกี่ผูกด้ายที่มีความยาวมาก ซึ่งขนาดของกี่นั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามความ ต้องการ แต่โดยทั่วไปแล้วหูกหรือกี่ชาวบ้านมัก จะยาวประมาณ ๑๒ ฟุต กว้างประมาณฟุตครึ่ง และสูงจากพื้นประมาณ ๔ ฟุตครึ่ง เหมาะที่จะตั้ง ไว้ใต้ถุนบ้านและสามารถทอให้ผ้าได้หน้ากว้าง พอสมควร แต่ก็ยังใช้มือพุ่งกระสวยและใช้ ไม้คานสอดในการเก็บลายขิต หรือในการทอผ้า มัดหมี่ต้องขยับเส้นพุ่งให้ตรงลายทุกครั้ง บาง แห่งก็อาจจะมีเครื่องทุ่นแรง เช่น มี "เขา" หรือ ไม้เก็บขิตแขวนไว้ ไม่ต้องมาสอดลายทุกครั้ง เป็นการประหยัดเวลา กี่ชนิดนี้เรียกว่า กี่มือ บางแห่งก็ใช้ กี่ กระตุก ซึ่งสามารถใช้มือกระตุกกระสวยให้พุ่ง หรือ "บิน" ไปมาได้อย่างรวดเร็วมากกว่า กี่มือเหมาะสำหรับการทอผ้าที่ไม่มีลวดลายมาก เช่น ผ้าขาวม้า ผ้านุ่ง "กี่กระตุก" นี้ ชาวจีน ที่อาศัยอยู่แถบสำเพ็งเป็นผู้นำเข้ามาใช้ทอผ้าขาย ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เพื่อทอผ้าให้ได้ปริมาณมากขึ้น สำหรับขายชาวเมือง อย่างไรก็ตาม กี่กระตุกก็ยังเป็นเครื่องทอผ้าที่ใช้มือคนอยู่นั่นเอง
ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๗๘ กระทรวงกลาโหม ได้ตั้งโรงงานทอผ้า สำหรับใช้ในราชการทหารขึ้น เรียกว่า "โรง งานฝ้ายสยาม" เพื่อผลิตเสื้อผ้า และสำลี สำหรับทหาร มีการสั่งเครื่องจักรทอผ้าและฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามา นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการทอผ้า ด้วยเครื่องจักร สามารถผลิตผ้าได้จำนวนมาก และไม่ต้องมีลวดลายตามแบบผ้าพื้นบ้าน
อุตสาหกรรมการทอผ้า ด้วยเครื่องจักรใน ประเทศ ได้มีการปรับปรุงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการส่งออกในปริมาณมากทุกๆ ปี และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทอให้มีลักษณะเป็นผ้าที่ใช้สอยกันตามรสนิยม และความต้องการของตลาดโลก
ผ้ามัดหมี่ ส่วนที่ทอเสร็จแล้วอยู่ในกี่ ในภาพจะเห็นฟืม (ฟืมเหล็ก) สำหรับกระแทกให้ผ้าที่ทอแล้วแน่นขึ้น