เล่มที่ 22
ภาษาศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


“คุณว่าอันนี้ดีไหม” “ผม ว่าดีนะครับ” “คุณถาม ผมตอบ”

            แรกทีเดียว "ภาษาศาสตร์" เป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงธรรมชาติ และองค์ประกอบต่างๆ ของภาษา ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ แต่ต่อมานักภาษาศาสตร์ ได้ขยายวงการศึกษาออกไป เนื่องจากนักภาษาศาสตร์สังเกตเห็นว่า คนในสังคมเดียวกันใช้ภาษาต่างกัน และคนๆ เดียวกัน ก็ใช้ภาษามากมายหลายแบบหลายลีลา แตกต่างกันไปตามบริบท และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร ในที่สุดการศึกษาถึงความแตกต่างของภาษาในสังคมเดียวกันก็ได้กลาย เป็นภาษาศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า ภาษาศาสตร์เชิงสังคม (Sociolinguistics) ส่วนการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของภาษานั้นมีมานานแล้ว แต่ภายหลังเมื่อเกิดมีทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ขึ้น ผู้ที่ศึกษาถึงวิวัฒนาการของภาษาก็ได้นำทฤษฎีภาษาศาสตร์ไปใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลง และเรียกการศึกษาแขนงนี้ ว่าภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (Historical linguistics) การศึกษาถึงพัฒนาการการเรียนรู้ภาษาของเด็กและการเรียนภาษาที่สอง ในปัจจุบันนับ เป็นส่วนหนึ่งของภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (Psycholinguistics) ภาษาศาสตร์แขนงต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีวิธีการศึกษา วิเคราะห์ภาษาและการตั้งคำถามที่แตกต่างกันไป วิธีการศึกษาวิเคราะห์ภาษาในด้านเสียง คำ ประโยค และข้อความ ของนักภาษาศาสตร์ที่ยกตัวอย่างมานี้ก็แตกต่างไปจากวิธีการของนักภาษากลุ่มอื่น เช่น อาจารย์ภาษาไทย ทั้งนี้เป็นเพราะนักภาษาศาสตร์ตั้งคำถามที่แตกต่างไป โดยทั่วไปนักภาษาศาสตร์มักศึกษาวิเคราะห์ภาษาเพื่อหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า "มนุษย์เรียนรู้ภาษาได้อย่างไร?" "มนุษย์ใช้และเข้าใจภาษาอย่างไร?" ต่างจากอาจารย์ภาษาไทยซึ่งมักจะถามว่า "ใช้ภาษาอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม?"

            จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า นักภาษาศาสตร์ (linguist) คือ ผู้ที่ศึกษา และวิเคราะห์ภาษาอย่างเป็นระบบ โดยใช้ทฤษฎีทางภาษา ผู้ที่เป็นนักภาษาศาสตร์จึงเป็นผู้ที่รู้ทฤษฎีทางภาษา และสามารถวิเคราะห์ภาษาใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้ที่สามารถพูดภาษานั้นๆ ได้ และนักภาษาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่รู้หลายภาษา ต่างจากผู้ที่สามารถพูดได้หลายๆ ภาษา (polyglot) ซึ่งอาจไม่รู้ทฤษฎีภาษา และไม่สามารถวิเคราะห์ภาษาตามแนวของภาษาศาสตร์ได้