เล่มที่ 22
ภาษาศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :


ถ้าเป็นภาษาพูดก็ต้องใช้เสียงเป็นสื่อกลาง



รูปอวัยวะในการออกเสียง : เมื่อออกเสียง [p] ป,พ
เสียง

            นักภาษาศาสตร์แบ่งแยกเด็กขาดระหว่างภาษาพูดกับภาษาเขียน เนื่องจากนักภาษาศาสตร์มองว่า มนุษย์ปกติทุกคน ย่อมใช้ภาษาได้ นักภาษาศาสตร์จึงถือว่า คำว่า "ภาษา" ในเบื้องต้นหมายถึง "ภาษาพูด" เท่านั้น ไม่รวมถึงภาษาเขียน เพราะมนุษย์สามารถพูดภาษาเป็นทุกคน แต่ภาษาเขียนนั้น บางสังคมก็ไม่มีใช้ เมื่อเป็นภาษาพูด "เสียง" ย่อมเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาษา นักภาษาได้ศึกษาถึงธรรมชาติของเสียง และลักษณะของเสียง ที่มีใช้อยู่ในภาษาต่างๆ ผลการศึกษาวิเคราะห์นี้รวมกันเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียงในด้านต่างๆ ที่เรียกว่า สัทศาสตร์ (Phonetics) และนักสัทศาสตร์ (phonetician) ได้คิดสัญลักษณ์แทนเสียงสากลขึ้นจำนวนหนึ่งเพื่อใช้บันทึกเสียงในภาษาต่างๆ ในโลก เรียกว่า สัทอักษร (phonetic symbols) อักษรแทนเสียงนี้สร้างขึ้นโดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการออกเสียง และอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง นักสัทศาสตร์กล่าวว่า อวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง นักสัทศาสตร์กล่าวว่า อวัยวะที่ใช้ในการออกเสียงนั้นเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่หลักอย่างอื่นอยู่แล้ว เป็นต้นว่า อวัยวะสำหรับระบบหายใจ อวัยวะสำหรับระบบการกิน และเสียงที่เราใช้พูดภาษาต่างๆ เกือบทั้งหมดเกิดจากลมหายใจออก นั่นคือ ขณะที่เราพูดนั้น เราหายใจออก เมื่ออากาศออกหมด ผู้พูดก็ต้องหยุดพูดและหายใจเอาอากาศเข้าไปใหม่

            นักสัทศาสตร์แบ่งเสียงออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ เสียงพยัญชนะ และสระ ส่วนเสียงวรรณยุกต์ที่มีใช้ในภาษาไทยนั้นนับเป็นเสียงเฉพาะพิเศษ ที่มีใช้อยู่ในบางภาษา แต่เสียงพยัญชนะและเสียงสระนั้น มีใช้ในทุกภาษา เนื่องจากเสียงเกิดจากลมหายใจออก เราจึงถือว่า "ปอด" เป็นต้นกำเนิดของเสียง และกระบวนการออกเสียงเริ่มขึ้น เมื่ออากาศออกจากปอดไปผ่านเส้นเสียง ถ้าเส้นเสียงสั่นก็จะเป็นเสียงประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากเสียงที่ผ่านเส้นเสียงแล้ว ไม่มีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้น จากนั้นเสียงจะผ่านเข้าช่องคอ และถ้าเสียงออกจากตัวผู้พูดทางจมูก (คือปากปิด) ก็นับเป็นเสียงนาสิก (nasal) ซึ่งต่างจากเสียงที่ออกทางปาก (oral) นอกจากนี้ "ลิ้น" นับเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เกิดเสียงต่างๆ เมื่อสิ้นสัมผัสเพดานในจุดต่างๆ ช่องปากก็จะเกิดเป็นห้องเสียงรูปต่างๆ ซึ่งทำให้เสียงที่เกิดต่างกันไป เช่น ถ้าลิ้นสัมผัสเพดานส่วนหน้า เสียงที่ออกจากปาก (เช่น น,ด,ล) ก็จะมีลักษณะที่ต่างจากเสียงที่โคนลิ้นปิดกั้นอยู่ที่เพดานอ่อน (เช่น ก,ข,ค) เสียงที่เกิดจากฟันบนขบริมฝีปากล่าง (เช่น ฝ,ฟ) และเมื่อริมฝีปากบนและล่างแตะกัน ก็เกิดเป็นเสียงที่ต่างออกไปอีก (เช่น บ,พ) สรุปก็คือ นอกจากเส้นเสียงที่ทำให้เกิดเสียงในเบื้องต้นแล้ว ยังมี ลิ้น ฟัน ริมฝีปาก และเพดานที่มีส่วนทำให้เกิดเสียงลักษณะต่างๆ กัน และจากการใช้อวัยวะดังกล่าวนี้ มนุษย์เราสามารถทำเสียงต่างๆ ได้มากมายนับเป็นร้อยๆ เสียง แต่ที่ปรากฏอยู่ ไม่มีภาษาใดใช้เสียงเกิน ๗๐ เสียง และเป็นเสียงที่มนุษย์นำมาใช้เป็นภาษาอย่างมีระบบ มีกฎเกณฑ์ กล่าวคือ แต่ละภาษามีกฎเกณฑ์และข้อจำกัดในการใช้เสียง เป็นต้นว่า เสียง "ส" ในภาษาไทยมีใช้เฉพาะตำแหน่งต้นพยางค์ ตำแหน่งท้ายพยางค์ หรือตำแหน่งตัวสะกด ไม่ใช้หรือไม่ออกเสียงนี้ (ในคำว่า "โอกาส" เราไม่ได้ออกเสียง "ส" ออกเป็นเสียงแม่ "กด") หรือเสียงพยัญชนะไทยจะเกิดร่วมกันเป็นเสียงควบกล้ำได้ไม่เกิน ๒ เสียง ในตำแหน่งต้นพยางค์ (เช่น พระ ปลาย) และในตำแหน่งท้ายพยางค์หรือเสียงสะกด ภาษาไทยไม่ใช้เสียงควบกล้ำเลย ต่างจากภาษาอังกฤษ ซึ่งในตำแหน่งต้นพยางค์มีเสียงควบกล้ำได้ ๓ เสียงและในตำแหน่งท้ายพยางค์อาจมีมากกว่า ๓ เสียง เช่น strong (มีเสียงควบกล้ำ ๓ เสียง) texts ออกเสียงสะกด ๔ เสียง คือ -ksts (x ออกเป็น ๒ เสียง คือ k และ s) การศึกษาถึงลักษณะเสียงที่มีอยู่ในภาษาหนึ่งๆ และลักษณะพยางค์และกฎเกณฑ์ว่าเสียงใดเกิดเมื่อใด นับเป็นการศึกษาถึงระบบเสียง (phonology) ของภาษานั้น