เล่มที่ 22
ไม้ดอกหอมของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ไม้ต้น

            ไม้ต้นที่มีดอกหอมที่เป็นที่รู้จักกัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทย และประเทศใกล้เคียงที่พบขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ พวกที่นำมาปลูกเลี้ยงตามบ้านเรือนมีค่อนข้างน้อย มักจะปลูกตามถนนหนทาง ตามสวนสาธารณะ และวัด ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง เหมาะสมกับขนาดและอายุของพันธุ์ไม้ เช่น

กันเกรา (Fagrea fagrans Roxb.)

            กันเกราเป็นชื่อที่ใช้กันในภาคกลาง มีชื่ออื่นๆ อีก เช่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือเรียก มันปลา ภาคใต้เรียก ตำเสา หรือทำเสา ภาคตะวันออก และเขมรเรียก ตาเตรา มาเลเซียเรียก ตะมะซู ตำมูซู เต็มบูซู พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ขนาดกลางกึ่งขนาดใหญ่ เรือนยอดคล้ายเจดีย์ หรือรูปไข่ กิ่งใหญ่ แตกที่ระดับค่อนข้างต่ำ เป็นลำตรงขึ้นไป กิ่งด้านข้างสั้นอยู่ในแนวระนาบ ส่วนกิ่งเล็กที่แตกแขนงจากกิ่งสั้นมักจะอ่อนและห้อยลง กันเกราเป็นไม้ผลัดใบ แต่แตกใบชุดใหม่เร็ว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปใบเป็นรูปรี ขนาดยาว ๗-๑๐ ซม. กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลม ผิวใบมัน ดอกออกเป็นช่อคล้ายช่อดอกเข็มออกตามกิ่งเล็ก และค่อนข้างดก ดอกบานใหม่สีขาวนวล สีดอกจะเข้มข้นเป็นสีเหลือง จนถึงเหลืองอมส้ม ในวันต่อๆ มา ขนาดดอกกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้เป็นเส้นสีขาวยาวกว่ากลีบดอก ดอกกันเกรามีกลิ่นหอมมาก ฟุ้งกระจายค่อนข้างไกล ฤดูออกดอกเป็นช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ในภาคใต้ส่วนในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ผลกลมเล็ก ขนาดประมาณ ๖ มม. เมื่อสุกเหลืองอมส้นหรือแดงอมส้ม

            กันเกราเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Potalidaceae (เดิม Loganiaceae) พบขึ้นตามที่ราบทั่วประเทศแต่จะพบมากทางภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงบอร์เนียว ชวา สุมาตรา และหมู่เกาะใกล้เคียง นอกจากจะมีทรงต้นสวย ดอกดกและหอมแล้ว ยังมีเนื้อไม้สวยสีเหลืองอ่อน และแข็งแรงทนทาน ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ได้ดี แก่นและเปลือกใช้เป็นสมุนไพรได้ด้วย จึงเป็นพันธุ์ไม้ที่น่าส่งเสริมให้ปลูกประดับตามสวนสาธารณะ หรือปลูกเป็นไม้ริมถนน เพื่อความสวยงามและการใช้ประโยชน์ขยายพันธุ์โดยใช้ไหล หรือเพาะเมล็ด


ต้นและดอกกันเกรา

จันทน์กะพ้อ (Vatica diospyroides Syming.)

            จันทน์กะพ้อเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Dipterocarpaceae พวกเดียวกับยางนา และพะยอม ทางภาคใต้เรียก จันทน์พ้อ และที่จังหวัดพังงาเรียก เขี้ยวงูเขา จันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดกลาง โตช้าชอบขึ้นในที่ดินร่วนชื้นและร่มปะปนกันไม้ต้นชนิดอื่นในป่าดิบชื้น ต้นค่อนข้างตรงเปลือกเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือกว้าง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีค่อนข้างยาว ขนาดยาว ๗-๙ ซม. กว้าง ๒-๓ ซม. สีเขียวเข้ม เรียงตัวแบบเวียนไปตามกิ่งห่างๆ กัน ดอกออกตามกิ่งเป็นช่อเล็กๆ ทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก แต่มักจะมีช่อหลายช่อเป็นกระจุกและเรียงเป็นระยะๆ ตามกิ่ง ดอกขนาด ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาลกลีบดอกเรียงเวียนซ้อนเกยกันเล็กน้อย ด้านในสีขาวนวลหรืออมชมพู ด้านนอกมีแถบแคบๆ มีขนละเอียดสีน้ำตาลอมแดง กลิ่นหอมแรง ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปัจจุบันพบเห็นได้ค่อนข้างน้อย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ปลูกเลี้ยงค่อนข้างยาก ถ้าแดดจัดหรือลมแรงใบจะไหม้ ปัจจุบันพบน้อยลงมาก

บุนนาค (Mesua ferrea Linn.)

            บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Clusiaceae (Guttiferae) พวกเดียวกับสารภี มะดัน มะพูด พบขึ้นตามป่าชื้น เป็นไม้เนื้อแข็ง เติบโตช้า มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่นดังนี้ เชียงใหม่เรียก สารภีดอย แม่ฮ่องสอนเรียก ก๊กก่อ ก้ำก่อ ปัตตานีเรียกปะนาคอ บุนนาคเป็นไม้ต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง เปลือกเรียบ เรือนยอดเป็นพุ่มคล้ายเจดีย์ ใบดกทึบสีเขียวแก่ทางด้านบน ด้านล่างสีเขียวนวล ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรี หรือรูปรีแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๙ ซม. กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน เนื้อใบเหนียวและค่อนข้างแข็ง ใบอ่อนออกเป็นกิ่งชุดใหม่ ห้อยลู่ลง สีนวลอมเขียว หรือสีแดง ระยะที่แตกใบอ่อนจึงสวยงามมาก ระยะที่มีดอกในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม จะยิ่งสังเกตได้ง่าย ดอกออกตามซอกใบ มีขนาดใหญ่ ๖-๗ ซม. สีขาวหรือขาวอมชมพู กลีบดอกมี ๔ กลีบแผ่กว้างแต่ละกลีบรูปเกือบกลม ขอบเป็นลอนคลื่นเล็กน้อย ตรงกลางดอกมีเกสรจำนวนมากเป็นพู่สีเหลืองสด ทั้งดอกจึงดูคล้ายไข่ดาว และมีกลิ่นหอมแรง

            พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีประโยชน์มาก เนื้อไม้เหนียวและแข็งแรงทนทาน จึงได้ชื่อเป็น "iron wood" ใช้ในการก่อสร้างได้ทุกประเภท ราก ใบ ดอกใช้เป็นสมุนไพร น้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง และทำเครื่องสำอาง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

            พระยาวินิจวนันดร อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เขียนไว้ในหนังสือไม้ประดับบางชนิดของไทย ที่ท่านรวบรวมไว้ดังนี้ "บุนนาคมีอยู่ทั่วไปตามป่าชื้น นอกจากเป็นไม้ดอกที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งแล้ว ยังเป็นไม้ใบที่สวยงามน่าดู อันจะหาไม้อื่น เทียบได้ยากด้วย เพราะใบเขียวแก่ขนาดย่อม พุ่มทึบรูปเจดีย์ ใบอ่อนขาวๆ หรือแดงๆ ถ้าปลูกเป็นไม้ริมถนนกันมากๆ ในที่สุดก็จะได้ไม้แข็งแรงทนทานที่สุดชนิดหนึ่งใช้ด้วย"


ใบอ่อนบุนนาค


ดอกบุนนาค

ปรูหรือปรู๋ (Alangium salviifolium Wang. subsp. hexapetalum Wang.)

            ปรู เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Alangiaceae มีชื่ออื่นๆ เรียกตามท้องถิ่นดังนี้ ภาคกลางเรียก ปรูหรือผลู ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปรู๋ ปราจีนบุรีเรียก มะเกลือกา เชียงใหม่เรียก มะตาปู พันธุ์ไม้ชนิดนี้พบขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบ ชายป่า ตลอดจนคันนา และพบมากในภาคกลาง ไปจนถึงภาคเหนือ ปรูเป็นไม้ต้นขนาดกลาง เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างกว้าง ปลายกิ่งมักจะอ่อนโค้งห้อยลง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบแบบรูปไข่กลับ หรือรูปรี ค่อนข้างกว้าง ขนาดยาว ๗-๑๐ ซม. กว้าง ๔-๖ ซม. ปลายมนกว้าง โคนใบสอบ เส้นแขนงใบแยกใกล้ๆ โคนใบ มี ๕-๗ คู่ ใบสีเขียวเข้ม ปรูเป็นไม้ผลัดใบ ออกดอกในช่วงฤดูร้อนเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่อดอกเกิดก่อนหรือพร้อมใบชุดใหม่ เกิดเป็นกระจุกตามกิ่ง ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน หรือขาวนวล ดอกตูมเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมื่อบานกลีบดอกซึ่งมี ๕ แฉก จะโค้งม้วนงอลง เกสรเพศผู้เป็นพู่สีขาวดอกมีกลิ่นหอม

            พันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นไม้ต้น ที่ให้ดอกสวยงามและหอม เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือทางเกษตรได้ดี ราก เปลือก แก่น ใบ และผลใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายชนิด สมควรที่จะนำมาขยายพันธุ์ ปลูกเป็นไม้ประดับให้กว้างขวางยิ่งขึ้น


ดอกปรูหรือปรู๋

ประดู่ป่า (Pterocarpus macrocarpus Kurz)

            ประดู่เป็นไม้ต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์ Fabaceae (Leguminosae) พวกเดียวกับแค และถั่วต่างๆ พบมากในป่าผลัดใบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้ ภาคเหนือเรียก ดู่ หรือ ดู่ป่า ภาคกลางเรียก ประดู่ป่า เชียงใหม่เรียก ฉะนอง สระบุรีและราชบุรีเรียก ประดู่เสน และแม่ฮ่องสอนเรียก ติเลง จิต๊อก ประดู่ป่า คล้ายกับประดู่บ้านหรือประดู่ลาย หรือประดู่อังสนา (Pterocarpus indicus Willd.) ซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ริมถนน หรือไม้ให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะ แต่กิ่งของประดู่ป่าไม่ทอดห้อยลง กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ประดู่ป่าเป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นตรงเปลือกสีน้ำตาลแก่ แตกไม่ลึกนัก เรือนยอดเป็นพุ่ม ใบเป็น ใบประกอบ มีใบย่อย ติดเยื้องกัน ๔-๑๐ ใบ ใบรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปใบหอกยาว ๖-๑๐ ซม. กว้าง ๓-๔ ซม. ปลายใบแหลม เนื้อใบเหนียว ช่อดอกเกิดหลังออกใบชุดใหม่ เป็นช่อสั้นๆ แยกแขนง ดอกบางต้นสีเหลืองอ่อน บางต้นสีเหลืองทอง ขนาด ๑-๑.๕ ซม. มี ๕ กลีบ ดอกประดู่มักจะบานพร้อมกันทั้งต้น และร่วงในวันเดียวกัน มีกลิ่นหอมเย็นกระจายไปไกล ผลเป็นแผ่นแบนค่อนข้างกลม ตรงกลางนูน ขอบบางเป็นคลื่นเล็กน้อย

            ประดู่ทั้งสองชนิด เป็นไม้ต้นให้ร่มเงาที่สวยงาม ออกดอกในฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ดอกมักจะดก เห็นเป็นสีเหลืองไปทั้งต้น เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างได้ทุกประเภท เปลือกและแก่นใช้เป็นสีย้อมผ้า ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด


ดอกประดู่ป่า

ปีบ (Millingtonia hortensis Linn.f.)

            ไม้ต้นชนิดนี้ขึ้นง่าย และโตเร็ว พบขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบ เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Bignoniaceae วงศ์เดียวกับศรีตรัง และชมพูพันธุ์ทิพย์ มีชื่อเรียกในภาคเหนือว่า กาซะลอง และกาดสะลอง ทางกาญจนบุรี ชาวกะเหรี่ยง เรียก เต็กตองโพ่ บีบเป็นไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นตรง ผิวแตกเป็นเหลี่ยมตื้นเรือนยอดเป็นพุ่มรี ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก แยก ๒-๓ ครั้ง เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่ปลายแหลม ขอบใบเรียบหรือหยักเล็กน้อย ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบมัน ช่อดอกเกิดที่ปลายกิ่ง มีขนาดใหญ่ แตกแขนงค่อนข้างโปร่ง ดอกสีขาวขาวนวลหรืออมชมพูอ่อน ส่วนที่เป็นหลอดเรียวยาว ๖-๗ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉกสามแฉกกางออกจากกัน อีก ๒ แฉกโคนชิดกัน ปลายเว้าลง ดอกบานกลางคืนมีกลิ่นหอมเย็น ตอนสายดอกร่วง ดอกในช่อทยอยบานเรื่อยๆ ราว ๑ เดือน ออกดอกตั้งแต่เดือนตุลาคม-มีนาคม ผลเป็นฝักแบนยาว ๒๐-๒๕ ซม. เมล็ดแบนเป็นปีก ปลิวไปได้ไกล

            ปีบเป็นพันธุ์ไม้ที่มีทรงต้นสวย ดอกหอม ดอกแห้งนำมาปนกับยาเส้นใช้มวนบุหรี่สูบ รากใช้เป็นสมุนไพร เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน เป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และเป็นไม้ริมถนน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง หรือจากไหล


ต้นและดอกปีบ


ต้นและดอกปีป
พยอม (Shorea roxburghii G. Don.)

            พะยอมเป็นไม้หอมที่รู้จัก และนิยมกันมานาน ดังที่ปรากฏในบทเพลง และวรรณคดีต่างๆ

            ไม้ต้นชนิดนี้พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณเกือบทุกภาค เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับจันทน์กระพ้อ มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมายหลายชื่อดังนี้ พะยอมดง พะยอมทอง กะยอม ขะยอม ขะยอมดง เชี่ยว เชียง แคน และยางหยวก พบมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรง สีน้ำตาล ผิวแตกเป็นร่องยาวแคบเรือนยอดเป็นพุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวลู่ลง เรียงตัวแบบสลับ รูปใบรีแรมรูปใบหอก ยาว ๘-๑๒ ซม. กว้าง ๓-๔ ซม. ปลายและโคนใบมน เนื้อใบเหนียวผิวใบด้านบนเขียวและมัน ด้านล่างเขียวนวล พะยอมเป็นไม้ผลัดใบ แต่แตกใบชุดใหม่เร็ว ใบอ่อนสีเขียวอ่อนอมเหลือง ผลิใบใหม่ก่อนช่อดอกเล็กน้อย ดอกดกออกเป็นช่อใหญ่แทบทุกกิ่ง สีขาวนวลอมเหลืองอ่อน ขนาดดอกประมาณ ๒ ซม. กลีบดอกมี ๕ กลีบ โคนกลีบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบแต่ละกลีบกางออกจากกัน ม้วนเรียวแคบลง และบิดเล็กน้อย ผลมีกลีบเลี้ยงคลุม และส่วนปลายของกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ยาว ๓ ปีก ช่วยในการกระจายพันธุ์ ช่วงฤดูออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะสังเกตเห็นต้นพะยอมได้ง่าย โดดเด่นจากพืชอื่น เนื่องจากพะยอมมักจะมีดอกดกเต็มต้นสีขาวนวลและมีใบสีเขียวอ่อนสวยงามมาก

            พันธุ์ไม้ชนิดนี้ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ขยายพันธุ์โดยเฉพาะเมล็ด เป็นพันธุ์ไม้ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องมือ เปลือกมีรสฝาดใช้กันบูด ฟอกหนัง และเป็นยา ยางหรือชันใช้ยาเรือและเป็นยา ดอกใช้ประกอบอาหารและเป็นสมุนไพร



ดอกพะยอม

มะตูม (Aegle marmelos Corr.)

            โดยทั่วๆ ไป เรามักจะรู้จักมะตูมกันค่อนข้างแพร่หลาย เพราะเนื้อของมะตูม ที่นำมาเชื่อมเป็นขนมหวาน มีรสดี เก็บไว้ได้นาน มะตูมแห้งนำมาชงน้ำดื่ม ใบสด เปลือก ผลดิบ ผลสุก นำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้หลายอย่าง เปลือกผลใช้ย้อมผ้าได้ด้วย

            มะตูมเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Rutaceae วงศ์เดียวกับแก้ว มะนาว และส้มต่างๆ มีชื่ออื่นได้แก่ มะปิน มะปีส่า ตม ตุ่มตั่ง และกะทับตาเณร พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ และขึ้นได้ในที่แห้งแล้ง ตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป จนถึงภาคเหนือ ต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาจากระดับต่ำ มีหนามแหลมยาวและแข็ง ทั้งที่ต้นและกิ่ง เรือนยอดคล้ายเจดีย์หรือเป็นพุ่มโปร่ง ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย ๓ ใบ (คล้ายตรี ซึ่งเป็นอาวุธของพระอิศวร นิยมใช้ในงานมงคลต่างๆ) แต่ละใบรูปคล้ายใบหอก หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาว ๔-๘ ซม. กว้าง ๒.๕-๔ ซม. เนื้อใบบาง มีต่อมใสเล็กๆ กระจายทั่วไป ปลายใบสอบแหลม ดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามกิ่ง สีขาวนวล ขนาด ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบดอก ๕ กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก กลิ่นหอมเย็น ออกดอกในฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลค่อนข้างกลม หรือกลมรีขนาด ๘-๑๕ ซม. เปลือกแข็งผิวเรียบเป็นมัน และเมื่อแก่จัดสีเหลือง หรือเหลืองอมเขียว มีกลิ่นหอมมาก เนื้อข้างในนุ่ม รับประทานได้ รสหวานหอม

            มะตูมเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นง่าย และทนทานต่อความแห้งแล้ง ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด หรือโดยการตอนกิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีประโยชน์สูงอีกชนิดหนึ่ง


ใบและยอดอ่อนมะตูม

รวงผึ้ง (Schoutenia glomerata King subsp. peregrina Roekm. & Hartono)

            รวงผึ้งเป็นไม้ต้นขนาดเล็กที่สวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับ และเป็นไม้ริมถนนได้ดี พบขึ้นตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป จนถึงภาคเหนือ เป็นพันธุ์ไม้พวกเดียวกับตะขบฝรั่ง และปอกระเจา ในวงศ์ Tiliaceae มีชื่ออื่นๆ ได้แก่ น้ำผึ้ง สายน้ำผึ้ง และดอกน้ำผึ้ง ลำต้นแตกกิ่งต่ำ กิ่งค่อนข้างเล็ก เรือนยอดเป็นพุ่มมน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรียาว ๕-๙ ซม. กว้าง ๒-๓ ซม. แผ่นใบสองข้างไม่เท่ากัน ผิวใบด้านบนเขียว ด้านล่างสีน้ำตาลอมนวล ช่อดอกดก เกิดตามซอกใบเป็นช่อสั้น ดอกขนาดประมาณ ๑ ซม. ทุกส่วนของดอกสีเหลืองทอง มี ๕ กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก กลิ่นหอม ดอกบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

            รวงผึ้งเป็นไม้เฉพาะถิ่นของไทย พบมากทางภาคเหนือ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันน้อยลง ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ด


ดอกรวงผึ้ง
รัง (Shorea siamensis Miq.)

            รังเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับพะยอม และจันทน์กะพ้อ พบขึ้นทั่วไปตามป่าผลัดใบ และพบมากตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป จนถึงภาคเหนือ มักขึ้นเป็นกลุ่ม ในช่วงฤดูผลัดใบสวยงามมาก ใบก่อนจะร่วงเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เหลืองอมส้ม ป่าผลัดใบถ้ามีต้นเต็ง (Shorea obtusa Wall.) และต้นรังเป็นไม้เด่น เรียกป่าเต็ง-รัง รังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกหลายชื่อ ได้แก่ ฮัง เปา-ดอกแดง เรียง เรียงพนม สักป้าว แลบอง เหล่ท้อ และเหล่บอง ลำต้นของรังตรง เปลือกสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่อง เรือนยอดเริ่มจากประมาณกลางต้นเป็นพุ่มสูงโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับรูปกลมรี ยาว ๑๐-๑๒ ซม. กว้าง ๖-๗ ซม. ปลายมน เนื้อใบค่อนข้างหนา เห็นเส้นใบชัด ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ขนาดดอกประมาณ ๑.๕ ซม. สีเหลืองนวล ลักษณะดอกคล้ายถ้วยเกิดจากกลีบดอกทั้ง ๕ กลีบเรียงเวียนซ้อนกัน และปลายกลีบม้วนงอลงไปหาก้านดอก ดอกร่วงง่าย มีกลิ่นหอมเย็น ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลรูปรีมีกลีบเลี้ยงหุ้ม ปลายกลีบเลี้ยง ๓ อัน เจริญไปเป็นปีก คล้ายใบพาย ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

            รังเป็นไม้เนื้อแข็ง ทนทานต่อความแห้งแล้งและไฟป่าได้ดี เนื้อไม้ใช้ในการปลูกสร้างและทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่ต้องการความทนทาน

ลำดวน (Melodorum fruticosum Lour.)

            ทางภาคเหนือเรียก หอมนวล เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Annonaceae วงศ์เดียวกับน้อยหน่า ต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง เรือนยอดคล้ายกรวย ปลายกิ่งทอดห้อยลง ใบดกทึบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับบนกิ่ง รูปใบรี ขนาดยาว ๗-๑๐ ซม. กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวนวล กลีบวงนอก ๓ กลีบ กางออก ปลายคุ่มเล็กน้อย กลีบวงใน ๓ กลีบ หนาและแข็ง ปลายและขอบกลีบจรดกันคลุมเกสร มีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นเกือบตลอดวัน ดอกบานในหน้าร้อนช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พบขึ้นตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไปจนถึงภาคเหนือที่จังหวัดศรีสะเกษ มีสวนสาธารณะที่มีต้นลำดวนเป็นจำนวนมาก เป็นแหล่งจูงใจให้คนไปชม และมีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน

ลำดวนเป็นพันธุ์ไม้ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคย และนิยมกันมาเป็นเวลานาน มีการนำรูปแบบของดอกมาทำเป็นลวดลายประดับ และทำขนมเป็นรูปดอกลำดวน มีรสหวานมันและหอม


ดอกลำดวน
สารภี (Mammea siamensis Kosterm.)

            สารภีเป็นไม้ต้นดอกหอมที่สวยงามทั้งทรงต้น ใบ และดอก อีกชนิดหนึ่งอยู่ในวงศ์ Clusiaceae (Guttiferae) เช่นเดียวกับบุนนาค เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบ ตามพื้นราบ ไปจนถึงระดับความสูงจากน้ำทะเล ประมาณ ๔๐๐ เมตร ชื่อท้องถิ่นทางเชียงใหม่เรียกสารภีแนน จันทบุรีเรียก ทรพี และภาคใต้เรียก สร้อยภี ลำต้นแตกกิ่งสลับหลายระดับ ผิวต้นสีเกือบดำ แตกเป็นลายคล้ายเกล็ดเรือนยอดเป็นพุ่มทึบ คล้ายรูปไข่หรือกลม หรือทรงกระบอก ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับปลายมน ขนาดยาว ๑๐-๑๕ ซม. กว้าง ๔-๖ ซม. แผ่นใบแบนเรียบ ค่อนข้างเหนียว ผิวใบด้านบนสีเขียวแก่ ด้านล่างสีอ่อนกว่า ก้านใบ และเส้นกลางใบสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมขาว สารภีเป็นไม้ต้นที่มีใบเขียวตลอดปี ดอกเป็นช่อกระจุกตามกิ่งเรียงรายต่อเนื่องกันไป ออกดอกระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ดอกตูมค่อนข้างกลม ดอกบานสีขาวนวล ขนาด ๑.๒-๒ ซม. กลีบดอกมี ๔ กลีบ มักจะม้วนกลีบลงสู่โคนก้านดอก เกสรเพศผู้เป็นเส้นๆ สีเหลืองอ่อน มีจำนวนมาก มีกลิ่นหอม ดอกร่วงง่ายทยอยบานราว ๒-๓ วัน ผลรูปรี ขนาด ๒.๕x๓ ซม. ผลแก่สีเหลืองอมส้ม สวยงามคล้ายมะปรางแต่ผิวเป็นมัน

สารภีเป็นไม้ประดับที่สวยงาม และนิยมปลูกตามสวนสาธารณะทั่วไป เป็นไม้ให้ร่มเงาที่ดีมาก เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง และดอกเป็นสมุนไพร ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด หรือโดยตอนกิ่ง

ดอกสารภี