กล้วยไม้
กล้วยไม้เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในวงศ์ Orchidaceae ในประเทศไทยพบกล้วยไม้ป่ามากกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด หลายชนิดดอกมีกลิ่นหอม ความหอมของกล้วยไม้เป็นที่ทราบกันมานาน ดังที่ปรากฏในบทร้อยกรองในวรรณคดีไทย เช่น
ในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒
กล้วยไม้ที่ดอกหอม เช่น เอื้องมะลิ หรือ หวายตะมอย (Dendrobium crumenatum Sw.) เอื้องครั่ง (Den. parishii Rchb.f.) เอื้องสีตาล (Den. heterocarpum Wall.) สามปอยขุนตาล (Vanda denisoniana Bens. & Rchb.f.) ไอยเรศ (Rhynchostylis retusa Bl.) ช้างสารภี (Acampe rigida Hunt.) เอื้องแซะหลวง เอื้องกุหลาบ และช้างกระ เป็นต้น ซึ่ง ๓ ชนิดหลังนี้ มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมกันมาก
เอื้องแซะหลวง (Dendrobium scabrilingue Lindl.)
เอื้องแซะหลวงเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบขึ้นบนกิ่งไม้ตามภูเขาสูง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เป็นกล้วยไม้ที่นิยมกันมาก ทั้งไทยและพม่ามาแต่โบราณ เนื่องจากดอกบานทนเป็นเดือน และมีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นตลอดเวลา ต้นเป็นลำเล็กๆ สูง ๖-๑๘ ซม. ขึ้นเป็นกอ มีขนละเอียดสีดำตามต้น ใบอยู่ใกล้ๆ ยอด รูปขอบขนาน และค่อนข้างแข็ง ยาว ๖-๗ ซม. กว้างประมาณ ๒ ซม. ดอกออกจากซอกใบ ขนาด ๒-๒.๕ ซม. สีขาว ผิวกลีบด้านในค่อนข้างมันวาว กลีบปาก สีเขียวอมเหลือง ผิวไม่เรียบ แนวกลางนูนตามยาว ปีกของกลีบปากอยู่ในแนวตั้ง มีลายเป็นขีดเล็กๆ สีเขียว สีของกลีบปากจะเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองสด และสีเหลืองอมส้มในวันต่อๆ มา
กล้วยไม้ชนิดนี้เจริญงอกงามได้ดีตามภูเขา ที่สูง มากกว่า ๑,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ชอบแสง และอากาศเย็น จึงนำไปปลูกเลี้ยงได้ค่อนข้างยาก
เอื้องแซะหลวง
เอื้องกุหลาบ (Aerides falcata Lindl.)
กล้วยไม้ชนิดนี้ มีชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ เอื้องกุหลาบกระเป๋าเปิด เอื้องกุหลาบป่า เอื้องกุหลาบพวง เอื้องด้ามข้าว และเอื้องปากเป็ด
เอื้องกุหลาบเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย พบขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าชายหาด ลำต้นค่อนข้างยาว ใบแคบยาว เรียงสลับซ้ายขวาของต้น ปลายใบหยักเว้าไม่เท่ากัน รากยาวเกาะแนบต้น หรือกิ่งของต้นไม้ที่อาศัย ยอดมีการเจริญต่อไปได้เรื่อยๆ ส่วนโคนที่แก่ค่อยๆ ตายไป มีการสร้าง กิ่งใหม่ไกลจากยอด ช่อดอกออกจากซอกใบ ช่อ ห้อยลง ดอกเรียงสลับเป็นจังหวะ ค่อนข้างโปร่ง ทั้งช่อยาว ๒๐-๓๐ ซม. ดอกบานจากโคนช่อไป สู่ปลายช่อ ดอกบานในหน้าร้อนประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม สีขาวอมชมพูม่วง กลีบปาก ส่วนปลายกว้าง ขอบด้านข้างมักจะม้วนลง เส้าเกสรคล้ายส่วนหัวของนก ปลายเป็นจงอยแหลม เอื้องกุหลาบเป็นกล้วยไม้ที่มีกลิ่นหอมเย็น คล้ายกุหลาบ มีช่วงดอกบานประมาณ ๑ อาทิตย์ ออกดอกปีละครั้ง เป็นกล้วยไม้ที่สวยงาม ปลูกเลี้ยงได้ง่าย ให้ดอกได้ดีในทุกภาคของประเทศ ในธรรมชาติ มักพบขึ้นเป็นกอ บนคาคบไม้ใหญ่ ถ้าปลูกเลี้ยงให้น้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นมักจะยาวและห้อยลง
เอื้องกุหลาบอีกชนิดหนึ่ง ที่มีกลิ่นหอมคล้ายกัน คือ เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด (Aerides odorata Lour.) มีลักษณะต่างจากชนิดแรก ตรงปลายกลีบปาก ซึ่งมีขนาดเล็ก และพับกลับไป จรดกับขอบปีกของกลีบปาก คลุมส่วนของเส้าเกสร เอื้องกุหลาบชนิดนี้มีสีขาว หรือขาวอมชมพูเล็กน้อย
เอื้องกุหลาบกระเป๋าปิด
ช้างกระ (Rhynchostylis gigantea Ridl.)
ช้างกระเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย ที่มีกลิ่นหอมมาก เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย และมีความหลากหลายของสีดอก เช่น พวกที่มีสีแดงออกม่วงทั้งดอก เรียก ช้างแดง ถ้ามีสีขาวล้วนเรียก ช้างเผือก นอกนั้นเรียก ช้างกระ ซึ่งเป็นพวกที่มีกลีบขาว ประจุดม่วงชมพู ในธรรมชาติพบมากทางภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคใต้ พบกระจายไม่มากนัก กล้วยไม้ชนิด นี้เป็นกล้วยไม้ที่งามสง่า ขนาดต้นค่อนข้างใหญ่ ใบรูปขอบขนาน ยาว ๑๕-๓๐ ซม. กว้าง ๓.๕-๖ ซม. ใบหนา ออกสลับซ้ายขวาของต้นค่อนข้างถี่ รากใหญ่ ยาวและแข็งแรง เกาะแนบต้นหรือกิ่ง ไม้ที่อาศัย ช่อดอกออกจากซอกใบยาวใกล้เคียง กับความยาวของใบ และกว้าง ๔-๖ ซม. แต่ละต้นมี ๒-๔ ช่อ ซึ่งจะทอดเอนลงเป็นมุม ที่ตรงข้ามกับใบ ดอกในช่อขนาดประมาณ ๒ ซม. เรียงสลับ จังหวะชิดกันตลอดช่อ จุดประที่กลีบมีลักษณะต่างๆ กันตามพันธุ์ กลีบปากสีชมพูอมม่วง ดอกบานในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และ บานทนเกือบ ๒ อาทิตย์
ช้างกระเป็นกล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เช่นเดียวกับเอื้องกุหลาบ และมีดอกให้ชม ค่อนข้างจะแน่นอนทุกปี
เขาแกะ