ไม้เลื้อย
ไม้เลื้อยดอกหอมของไทย พบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติค่อนข้างมาก อาจจะเนื่องมาจากส่วนใหญ่มีการกระจายพันธุ์ได้ดี หลายชนิดเป็นที่นิยมปลูกกันทั่วไป และอีกหลายชนิดยังคงเป็นไม้ป่า ที่ไม่รู้จักแพร่หลาย หากในการศึกษาสำรวจ ได้มีการบันทึกข้อมูลเรื่องกลิ่นหอมไว้ด้วย อาจจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกมาก ชนิดที่มีกลิ่นหอมน่าปลูก เช่น
กุมาริกา หรือ สร้อยสุมาลี หรือ ช่อมาลี (Parameria barbata Schum. หรือเดิม (P.laevingata Moldenke)
กุมาริกาเป็นไม้เลื้อยในวงศ์ Apocynaceae วงศ์เดียวกับยี่โถ และหิรัญญิการ์ ชื่อทั้งสามนั้น เป็นชื่อที่นิยมเรียกในวงการไม้ประดับ มากกว่าชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ได้แก่ เครือเขามวก เครือเขามวกขาว ตั่งตู้เครือ ตังติดมวก ส้มลม วอร์กั้นจรู้ก วันจรู้ก และส้มเย็น เถาของกุมาริกาค่อนข้างเล็ก แต่เหนียว แยกสาขามาก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ค่อนข้างถี่ รูปรีแกมรูปไข่กลับ ยาว ๒-๔ ซม. กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ปลายแหลมเนื้อใบหนาเล็กน้อย ช่อดอกแยงแขนง ออกตามซอกใบเกือบตลอดกิ่ง ดอกสีขาว ขนาดเล็ก ประมาณ ๓ มม. แต่ดอกดกและบานพร้อมๆ กัน จึงดูสวยงามมาก กลิ่นหอมค่อนข้างแรง ดอกบานในฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคมขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง หรือเพาะเมล็ดในธรรมชาติพบตามป่าเบญจพรรณหรือชายป่าอื่นๆ
ดอกกุมาริกา หรือสร้อยสุมาลี
กลอย และชนิดใกล้เคียง (Dioscorea spp.)
ไม้เถาและมีหัวพวกเดียวกับกลอย ในเมืองไทยมีประมาณ ๓๐ ชนิด ส่วนใหญ่ดอกมีกลิ่นหอม ในช่วงหลังฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาว ตามป่าต่างๆ โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ มักจะเป็นช่วงฤดูออกดอกของ "กลอย" หลายชนิด ส่งกลิ่นหอมไปทั้งป่า พืชพวกกลอยเป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวอยู่ใต้ดิน เถามักจะยาวเลื้อยไปตามต้นไม้ได้สูงและไกล ใบมีหลายชนิด หลายรูปแบบ มีทั้งพวกที่มีใบเดี่ยวและใบประกอบ ส่วนใหญ่จะสังเกตได้จากใบซึ่งเป็นใบเดี่ยว มีเส้นใบออกจากฐานใบหลายเส้นยาวไปถึงปลายใบ เนื้อใบมักจะบาง ช่อดอกส่วนมากแยกเพศ ช่อห้อยลง ดอกขนาดเล็ก ค่อนข้างแน่น ดอกเพศผู้มักจะมีกลิ่นหอมแรงกว่าดอกเพศเมีย ผลเป็นผลแห้ง มี ๓ ปีก ช่วงที่มีผลแห้ง ต้นเหนือดินมักจะตายไปแล้ว เห็นเป็นเถาสีนวลอมน้ำตาลอ่อน มีผลห้อยระย้า ระเกะระกะอยู่ตามไม้ใหญ่ที่ต้นเคยเลื้อยพันอยู่ หลายชนิดของพืชสกุลนี้ใช้หัวทั้งใต้ดินและตามเถา เป็นอาหารได้ จึงมีชื่อเรียกเป็นมันต่างๆ เช่น มันเสา (D. alata Linn.) มันขมิ้น หรือว่านพระฉิม (D. bulbifera Linn.) และมันดง (D. glabra Roxb.) เป็นต้น
ส่วนใหญ่ยังไม่มีการปลูกมันพวกนี้อย่างจริงจัง มักจะเก็บตัวจากตามป่าขยายพันธุ์โดยเมล็ดหรือโดยหัวตามเถา
ขจร หรือสลิด (Telosma minor Craib)
ขจรเป็นไม้เถาล้มลุกที่มียางขาวคล้ายน้ำนม พบขึ้นทั่วไปตามชายป่า ป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ นิยมปลูกกันแพร่หลาย เถามีลักษณะกลม ค่อนข้างเล็ก ผิวไม่เรียบ สีขาวอมเทา ใบออกเป็นคู่ตรงข้าม รูปหัวใจ ปลายแหลม หรือเรียวแหลม เนื้อใบบางและอ่อน ขนาด ๔-๗ ซม. ช่อดอกเกิดตามซอกใบ เป็นช่อกระจุก ห้อยลง ดอกในช่อทยอยบานไปเรื่อยๆ ขนาด ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบดอกส่วนโคนเป็นหลอด ส่วนหลายแผ่กางออกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกมน ดอกบานใหม่สีเขียว วันต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง เหลืองจนถึงเหลืองอมส้มในบางพันธุ์ ดอกมีกลิ่นหอมขจรขจายสมชื่อ ออกดอกในหน้าฝน ฝักคล้ายกระสวย ยาว ๑๐-๑๒ ซม. กว้างประมาณ ๒ ซม. ฝักแก่แตก เมล็ดมีจำนวนมาก มีพู่สีขาวละเอียดปลิวไปได้ไกล
ขจรเป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับดอกรัก และนมตำเรีย นอกจากจะเป็นไม้ประดับแล้ว ขจรยังเป็นพืชผักที่นิยมนำใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อนมาใช้เป็นอาหาร
ดอกขจร
คัดเค้า (Oxyceros horridus Lour. หรือเดิม Randia siamensis Craib)
คัดเค้า หรือคัดเค้าเครือ คัดเค้าหนาม เค็ดเค้า จีเค้า หนามลิดเค้า และพญาเท้าเอว โดยทั่วๆ ไปเรียก คัดเค้า เป็นไม้เลื้อยยืนต้น มีหนามแหลมแข็งและโค้ง เป็นพืชพวกเดียวกับเข็ม พุดซ้อน และยอ ในวงศ์ Rubiaceae พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ หรือตามที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ต้นมักจะเป็นเหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๕.๕-๑๒ ซม. กว้าง ๒.๕-๔ ซม. ปลายใบแหลมหรือมน ผิวใบค่อนข้างมัน เนื้อใบเหนียว ดอกเกิดที่ปลายกิ่งตามซอกใบ เป็นช่อกระจุกสั้นๆ ขนาดดอกประมาณ ๑.๕ ซม. โคนดอกเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรยาวเรียงสลับกับแฉก ดอกบานใหม่สีขาวนวล วันต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอมเป็นที่รู้จักมานาน
คัดเค้านอกจากดอกจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังใช้ส่วนต่างๆ ทุกส่วนคือ ต้นราก ใบ ดอก และผล เป็นสมุนไพรได้ด้วย ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
นมตำเรีย หรือ นมตำเลีย (Hoya parasitica Wall.)
นมตำเรียเป็นไม้เถายืนต้น มีรากเกาะ และใช้ต้นเลื้อยพัน พบขึ้นทั่วประเทศ ตามป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าชายเลน ตลอดจนป่าชายหาด เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Asclepiadaceae วงศ์เดียวกับรักขจร และข้าวสาร ไม้เถาชนิดนี้รู้จักได้ง่าย จากลักษณะของใบที่ค่อนข้างแข็งและหนา (คล้ายกล้วยปิ้ง จึงมีบางชนิดมีชื่อเรียก กล้วยปิ้ง) ใบรูปไข่ หรือรูปรี หรือรูปไข่แกมรูปใบหอกออกตรงข้ามเป็นคู่ และทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม รูปร่างและขนาดของใบมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละท้องถิ่น หรือแต่ละสภาพแวดล้อม เช่น ในที่ร่มใบเขียว ถ้าอยู่ในที่สูงหรือได้รับแดดจัด มักจะมีสีม่วงแดง หรือม่วงคล้ำ ช่วงระยะที่ออกดอกในแต่ละภูมิภาคก็ต่างกัน ช่อดอกเกิดตรงซอกใบก้านช่อกลมและแข็ง ออกในแนวระนาบหรือเกือบขนานกับแนวระนาบ ดอกออกจากปลายก้านช่อ เป็นกลุ่ม ครึ่งหรือค่อนทรงกลม ขนาดทั้งช่อ ๔-๗ ซม. ดอกสีขาว ขาวนวล หรือขาวอมชมพู ขนาดประมาณ ๑ ซม. กลีบดอกมี ๕ แฉก ส่วนปลายพับโค้งลง เมื่อดอกบานเต็มที่ ผิวกลีบด้านในมันวาว คล้ายผิวไข่มุก กลางดอกมีเส้าเกสรเป็นแท่นเตี้ยรูปดาว กลางเส้าเกสรเป็นแอ่งเว้าลงเล็กน้อย ดอกมีกลิ่นหอมแรง บานเพียง ๒ วัน ก็จะร่วงไป แต่ช่อดอกเดิมจะสร้างดอกชุดใหม่ได้หลายครั้ง ผลเป็นฝักยาวรี ขนาด ๘-๑๐ ซม. เมล็ดมีพู่ละเอียดสีขาว ช่วยให้ปลิวไปได้ไกล
นมตำเรียมีชื่ออื่นๆ ได้แก่ นมพิจิตร นมหนู เนื้อมะต่อม และลิ้นเหี้ย พันธุ์ไม้ชนิดนี้ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เมื่อเจริญอยู่ตัวแล้ว แทบจะไม่ต้องการการบำรุงรักษาเลย ใบมีอายุหลายปี ถ้าได้รับแสงมาก ใบจะหนาแน่นกว่าปลูกในที่ร่ม การขยายพันธุ์โดยตัดกิ่งชำ นิยมปลูกในกระเช้า หรือปลูกให้เลื้อยตามเสาหรือต้นไม้ใหญ่ เป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกเลี้ยงกันพอสมควร
ดอกนมตำเรีย
รสสุคนธ์ (Tetracera loureiri Pierre)
รสสุคนธ์มีชื่ออื่นอีกมาก ได้แก่ สุคนธรส รสสุคนธ์ขาว อรคนธ์บอระคน ปดคาย ปดเลื่อน ปดน้ำมัน ปะละ สะปัลละ และย่านบิด เป็นไม้เถายืนต้นในวงศ์ Dilleniaceae พวกเดียวกับส้านและมะตาด ชอบขึ้นตามดินทรายในที่โล่ง เถาแข็งและเหนียว ผิวสากคายเช่นเดียวกับใบ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือกลมรี ปลายแหลม ขอบใบเป็นจักเนื้อใบบางแต่แข็งกรอบเมื่อแก่ สีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อพุ่มขนาดกลางออกตามซอกใบ ช่อตั้ง แยกแขนง และค่อนข้างดก ดอกในช่อบานเกือบพร้อมกันหมดเห็นเป็นพู่กลมๆ สีขาว ขนาด ๑-๑.๒ ซม. ส่วนที่เห็นเด่นชัดเป็นพู่คือ เกสรเพศผู้ กลีบดอกร่วงง่าย บานวันเดียว แต่ออกดอกหลายครั้งในแต่ละปี ดอกหอมตลอดวัน ผลเล็ก เมื่อแตกเห็นเมล็ดสีดำขอบล่างสีแดง พันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่คล้ายรสสุคนธ์มากคือ รสสุคนธ์แดง (Tetarcera indica Merr.) ซึ่งพบมากในภาคใต้ตามป่าชายหาด ดอกจะออกน้อยกว่ารสสุคนธ์ แต่ก็มีกลิ่นหอมเช่นกัน
รสสุคนธ์เป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเลี้ยงได้ง่ายและทนทาน ชอบดินร่วนแสงจัด ขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันทั่วไป และรู้จักกันมานาน
เล็บมือนาง (Quisqualis indica Linn.)
เล็บมือนางเป็นไม้เถายืนต้น ซึ่งรู้จักกันทั่วไป พบขึ้นในทุกภาคของประเทศ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายหาก ตลอดจนป่าผลัดใบ ภาคเหนือเรียก จะมั่ง จ๊ามั่ง หรือมะจีมั่ง ภาคใต้แถวจังหวัดยะลาเรียก อะดอนิ่ง เหมือนทางมลายู และกะเหรี่ยงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียก ไท้หม่อง อยู่ในวงศ์ Combretaceae วงศ์เดียวกับสมอ หูกวางและสะแก เถาของเล็บมือนางแข็งและเหนียว ผิวปริเป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๗-๑๒ ซม. กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนใบมนกลม เนื้อใบยาง มีขนอ่อนประปราย (ในสภาพแห้งแล้ง เมื่อแผ่นใบร่วงไปแล้ว ก้านใบกลายเป็นหนาม ยาว แข็ง) ดอกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง ดอกในช่อมีสีต่างๆ กัน ดอกบานใหม่สีขาวหรือขาวอมชมพู วันต่อๆ มาสีจะเข้มขึ้นตามลำดับ จนเป็นสีแดง เมื่อใกล้จะโรย ลักษณะดอกเป็นหลอดยาว ดูคล้ายก้านดอก ส่วนหลาแยกเป็น ๕ กลีบ กลีบรูปรีปลายมน เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๕-๒ ซม. กลิ่นหอมเย็น และจะหอมมากตอนพลบค่ำไปถึงเช้า ออกดอกในช่วงฤดูร้อน ช่วงที่ออกดอกสวยงามมาก ดอกดก ออกแทบทุกกิ่ง สีสวยสะใส สะดุดตา ผลรูปรีคล้ายกระสวยเบี้ยวเล็กน้อย ขนาดประมาณ ๒ ซม. เมื่อเด็ดใบ หรือตัดต้น จะมีกลิ่นฉุน
เล็บมือนางเป็นพันธุ์ไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่าย โตเร็ว และทนทาน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ทุกส่วนมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพร ใช้เป็นยาขับพยาธิ ยาเกี่ยวกับโรคท้องเสีย ท้องผูก และใช้ทาแผล
ดอกเล็บมือนาง