พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถไถนา ควายเหล็ก
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนาข้าวทดลอง สวนจิตรลดา
พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในนาข้าวทดลอง สวนจิตรลดา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่า การทำไร่ทำนานั้น มีความยากลำบาก และเป็นงานหนัก ที่ต้องใช้แรงงานมาก เกษตรกรจะต้องไถ เตรียมดิน ปลูก ดูแลรักษาพืช เก็บเกี่ยวและนวด ขนย้ายผลิตผล งานต่างๆ ที่ชาวไร่ชาวนาต้องทำ จะต้องทำให้ดี ทันต่อระยะเวลา และฤดูกาล พระองค์ทอดพระเนตรการณ์ไกล ถึงความจำเป็นที่เกษตรกรจะต้องใช้เครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสม มาใช้งาน ดังนั้นจึงได้ทรงพระราชดำริกับหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล หัวหน้ากองเกษตรวิศวกรรม กรมการข้าว ในสมัย เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ให้ทำงานวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตรต่างๆ ให้เหมาะสมต่อการผลิต และการใช้งานใน ประเทศไทย
เครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่างๆ ที่ได้มีการวิจัยพัฒนาในสมัยนั้น เช่น ท่อสูบน้ำเทพฤทธิ์ ควายเหล็ก เครื่องนวดข้าว และเครื่องสีข้าวแบบแรงเหวี่ยง ได้รับพระราชทานพระราชวินิจฉัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นแนวทางการปรับปรุงเครื่องจักรกลเกษตรเหล่านั้น ให้ใช้งานได้ดี เป็นผลให้ปัจจุบัน มีการผลิต โดยโรงงานเอกชนในประเทศ ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในราคาไม่แพงนัก และเกษตรกรได้ใช้งานเป็นกำลังสำคัญ ในการผลิต ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (เดิม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาทดลองปลูกในบริเวณสวนจิตรลดา และให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล นำควายเหล็ก หรือรถไถแบบ ๔ ล้อ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ๘.๕ แรงม้า ไปใช้งานเตรียมดิน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแนะนำ ในการปรับปรุง "ควายเหล็ก" ให้ได้รูปแบบที่ดี เหมาะสมกับการใช้งาน และผลิตในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้น พระองค์ท่านทรงขับรถไถนา ควายเหล็ก เพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว
ด้วยสายพระเนตรที่กว้างไกล ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็น ที่ชาวไร่ชาวนาจะต้องใช้เครื่องจักรกลเกษตร ตั้งแต่เมื่อ ๔๐ ปีก่อน ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการผลิตเครื่องจักรกลเกษตรใช้เองในประเทศ เช่น ควายเหล็ก หรือรถไถเดินตามประเภท ๒ ล้อ มีโรงงานเอกชน ประมาณ ๓๐ แห่ง ผลิตปีละประมาณ ๗๐,๐๐๐ เครื่อง เป็นกำลังสำคัญในการทำไร่ ทำนา และส่งออกจำหน่ายให้ประเทศใกล้เคียง และในยุโรป
ปัจจุบันได้มีการดำเนินการต่อเนื่อง จากภาครัฐ และภาคเอกชน ในแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำริไว้ ทำให้มีการผลิต และการใช้งานเครื่องจักรกลเกษตรอย่างแพร่หลาย ในประเทศไทย
การทำเกษตรกรรมด้วยเครื่องมือทุ่นแรงและเครื่องจักรกลเกษตร
ในอดีตการใช้เครื่องมือทุ่นแรง และเครื่องจักรกลเกษตรมีน้อยมาก เนื่องจากเกษตรกรปลูกพืช สำหรับบริโภคภายในครัวเรือน แต่ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา จากการเพาะปลูก เพื่อบริโภค เริ่มมีการเพาะปลูก เพื่อการค้า การใช้เครื่องมือทุ่นแรง และเครื่องจักรกลเกษตร จึงได้แพร่หลาย และเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะเครื่องจักรกลเกษตรจะใช้มากขึ้น เนื่องจากมีการส่งเสริมให้มีการปลูกพืช แซมหรือปลูกหลายฤดู การปรับปรุงพันธุ์ใหม่ซึ่ง มีช่วงเวลาการเติบโตสั้นและต้องปลูกให้ได้ตาม กำหนดเวลาที่เหมาะสมจึงจะได้ผลดีเท่าที่ควร ทำให้ต้องมีการใช้เครื่องจักรกลเกษตรเพื่อใช้ เตรียมดินและเก็บเกี่ยวให้ทันเวลากับการปลูกพืช รอบต่อไป นอกจากนี้การขยายพื้นที่เพาะปลูก มากขึ้นทำให้ต้องใช้รถไถนาช่วยเตรียมดินให้ทัน เวลา อีกประการหนึ่ง การกระจายการปลูกพืช และพืชใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลเกษตร เข้าช่วย เพราะเกษตรกรอาจจะไม่มีความเข้าใจ และความชำนาญในการปลูกพืชใหม่ เช่น ถ้าเราใช้เครื่องปลูกพืช และเครื่องใส่ปุ๋ย ก็จะช่วยให้สามารถปลูกได้แนวตรง และประหยัดการใช้ปุ๋ย นอกจากนี้ยังช่วยให้ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช ในปัจจุบัน เครื่องจักรกลที่นิยมใช้กันมากได้แก่ เครื่องมือเตรียมดิน เช่น รถไถเดินตาม เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะราคาถูก ผลิตได้ภายในประเทศ ขนาดเล็ก เหมาะแก่การเกษตรในประเทศไทย และง่ายต่อการใช้ในไร่นา ส่วนรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ จะต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมากจะใช้กับพืชไร่ รถแทรกเตอร์เหล่านี้ มักจะใช้กับผาลไถ และเครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องที่นิยมอีกชนิดหนึ่งคือ เครื่องสูบน้ำ ซึ่งเกษตรกรมักจะมีไว้ใช้เอง หรือใช้ร่วมกัน เพราะการสูบน้ำเข้านา เป็น สิ่งจำเป็น เครื่องพ่นยาฆ่าแมลงเป็นเครื่องที่มีการ ใช้แพร่หลายที่สุดเพราะราคาถูก ส่วนใหญ่จะ เป็นเครื่องพ่นยาฆ่าแมลงที่โยกด้วยมือ ซึ่งผลิตได้ ภายในประเทศ เครื่องจักรกลเกษตรที่กำลังได้รับ ความนิยมมากขึ้น คือ เครื่องนวดพืช ในปัจจุบัน นี้สามารถใช้กับพืชหลายชนิด เช่น ใช้กับข้าว ถั่วเหลืองและถั่วเขียว เป็นต้น โดยเพียงแต่เปลี่ยน ตะแกรงและความเร็วรอบของลูกนวดเท่านั้น เครื่องที่เริ่มจะได้รับความนิยม ได้แก่ เครื่องตัดอ้อย เครื่องเก็บข้าวโพด เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องอบ ข้าวเปลือก เครื่องเหล่านี้จะช่วยลดการสูญเสีย หลังการเก็บเกี่ยวและเพิ่มคุณภาพของผลิตผล
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ พบว่า ขนาดไร่นา มีความสัมพันธ์โดยตรงกับปริมาณการใช้เครื่องจักรกลเกษตร กล่าวคือ ขนาดไร่นาที่ใหญ่ขึ้น จะมีการใช้เครื่องจักรกลเกษตรมากขึ้น และเครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้ในภาคกลาง มักจะมีขนาดใหญ่กว่าภาคเหนือ เพราะขนาดไร่นาใหญ่ และมีการรับจ้าง เช่น การรับจ้างไถนา นวดเมล็ดพืช และเก็บเกี่ยวข้าว โดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เป็นต้น ผู้รับจ้าง จึงนิยมเครื่องขนาดใหญ่เพราะทำงานได้รวดเร็ว ซึ่งต่างกับภาคเหนือที่นิยมใช้เครื่องเล็กกว่าเพราะ สภาพการเพาะปลูกและขนาดของกระทงนาเล็ก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีการรับจ้าง นวดเมล็ดพืชและการเก็บเกี่ยวข้าว เพราะไร่นา และกระทงนามีขนาดใหญ่
ภาคกลางเป็นภาคที่มีอัตราการใช้เครื่องจักรกลเกษตรมากที่สุด เพราะเป็นภาคที่มีการปลูกพืชปลายฤดู และพืชแซมมากที่สุด นอกจากนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีฐานะดีกว่า เมื่อเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่นๆ รถไถเดินตามเป็นเครื่อง จักรกลเกษตรที่มีอัตราส่วนใช้มากที่สุดในภาคกลาง และรองลงมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพราะ ภาคนี้ขนาดไร่นาจะใหญ่ สำหรับเครื่องสูบน้ำใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการใช้มากเป็นอันดับ สองรองจากภาคกลาง เพราะภาคตะวันออกเฉียง เหนือเป็นภาคที่แห้งแล้งและกันดารมาก จำเป็น ต้องมีการสูบน้ำเข้าไร่นามาก