ขั้นตอนที่ ๔ การเก็บเกี่ยวและนวด
วิธีการนวดข้าวของภาคเหนือ
การนวดข้าวและเครื่องนวดข้าว
การนวดข้าวเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้ายของการทำนา หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะต้องแยกเมล็ดข้าวออกจากรวงข้าว แล้วแยกเมล็ดข้าวลีบ และฟางข้าวออกไป เพื่อให้ได้เฉพาะเมล็ดข้าวเปลือกที่ต้องการ กระบวนการที่เรียกว่าการนวดข้าวมีหลายวิธี คือ
วิธีการแบบดั้งเดิม
การนวดข้าวแบบดั้งเดิมทำให้ต้องใช้แรงงานในการทำความสะอาดข้าวมาก
ประกอบด้วย วิธีที่ใช้แรงงานคนอย่างเดียว และวิธีที่ใช้แรงงานสัตว์ ควบคู่ไปกับการใช้แรงงานคน วิธีใช้แรงงานคนอย่างเดียว แบ่งออกเป็น ๒ วิธีคือ
๑) วิธีการตี
๒) ใช้เท้าย่ำ
๑. การนวดโดยการตี
เป็นวิธีที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนนวดข้าวชาวนาจะขนฟ่อนข้าวมากองรวมไว้บนลานนวดเสียก่อน แล้วใช้เสื่อลำแพนปูลงกับลานนวด วิธีการนวดนั้น ชาวนาจะมีไม้ไผ่สองท่อนผูกติดกันด้วยเชือกหนังควาย ใช้สำหรับจับฟ่อนข้าว และตีใส่แผ่นกระดานที่วางเอียงได้มุมพอเหมาะ ตีจนกว่าเมล็ดข้าวเปลือกจะหลุดออกจากฟางได้หมด
ในภาคเหนือนั้น วิธีการนวดแบบการตีนั้น แตกต่างจากภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่บ้าง คือ ชาวนาจะไม่นิยมทำลานนวด แต่จะใช้ครุทำด้วยไม้ไผ่ ยกเคลื่อนที่ไปยังกองฟ่อนข้าวที่ตากแห้งไว้เป็นหย่อมๆ วิธีการนวดนั้น ชาวนาใช้ไม้ตีแบบเดียวกับที่ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตีกับด้านข้างของครุ เมล็ดข้าวเปลือกจะหลุดลงไปในครุ หลังจากตีกองข้าวแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว ก็เคลื่อนครุไปที่กองข้าวต่อไป และตีข้าวเปลือกจนหมดแปลง
การทำความสะอาด ทำพร้อมกับการตี เครื่องมือที่ใช้ทำความสะอาด ทำด้วยไม้ไผ่สานคล้ายพัด ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า "วี" ใช้พัดโบกเอาสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ข้าวลีบ และเศษฟางต่างๆ ออกจากข้าวเปลือก ความสามารถในการนวดข้าว โดยการตีและทำความสะอาดข้าว ประมาณ ๖๐ กก./ ชม./คน
๒. การนวดข้าวโดยวิธีใช้เท้าย่ำ
เป็นวิธีที่ใช้กันในภาคใต้ของประเทศ ชาวนาในภาคนี้เก็บเกี่ยวข้าว โดยการเก็บเอาเฉพาะรวงข้าวเท่านั้น รวงข้าวที่เก็บมาจะรวมกันแล้วมัด เรียกว่า "เรียง" เรียงข้าวที่เก็บมาจากนาจะนำมากองรวมไว้ในยุ้ง เมื่อต้องการนำไปสีเป็นข้าวสาร ชาวนาจะนำเอาเรียงข้าวมานวด การนวดข้าวแบบนี้ชาวบ้าน เรียกว่า "การยีข้าว" โดยเอาเรียงข้าวมาวางใส่กระด้งหรือเสื่อ ครั้งละ ๔-๕ เรียง แล้วใช้เท้าขยี้ไปมา จนเมล็ดข้าวเปลือกหลุดออกมาจากซังรวง การนวดแบบนี้ถ้านวดติดต่อกันนานๆ จะทำให้เจ็บปวดเท้ามาก อัตราการนวดข้าวแบบนี้จะนวดข้าวได้ประมาณ ๔๐ กก./ชม./คน การทำความสะอาดส่วนมากใช้แบบการโรย ซึ่งใช้ในกรณีที่มีลมแรง โดยใช้ภาชนะตักข้าวเปลือกโรยลงมาจากที่สูง และมีภาชนะรองรับข้าวเปลือก กระแสลมจะพัดเอาสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดข้าวเปลือก
การนวดข้าวโดยวิธีใช้เท้าย่ำในภาคใต้
๓. วิธีนวดข้าวแบบใช้สัตว์
ใช้ควายหรือวัวนวดในลานนวดที่เตรียมไว้ ซึ่งใช้ทั่วๆ ไป ในพื้นที่ที่ทำนามาก เช่น ภาคกลาง โดยการนำฟ่อนข้าวมาวางในลานนวด เรียงฟ่อนข้าวให้เป็นวงกลม หรือรูปรี ตามขนาดของลาน (ลานนวด หมายถึง บริเวณพื้นที่ซึ่งเตรียมไว้สำหรับนวดข้าว โดยมีการปรับพื้นที่ให้เรียบ ด้วยการยาด้วยมูลควายผสมน้ำ) การเรียงฟ่อนใช้วิธีตั้งกำข้าว เอาซังลงดิน ใช้เคียวตัดกำข้าว ซึ่งเรียกว่า ตัด "คะเน็ด" (ฟางหรือซังที่มัด) เพื่อให้รวงข้าวหลุด คนหนึ่งเรียง อีกคนหนึ่งตัด จนกระทั่งกองข้าวโตได้ขนาด ก็ใช้ควายย่ำ จำนวนควายอาจจะใช้ตัวเดียว หรือหลายตัวก็ได้ ถ้าใช้หลายตัวก็นำมาผูกกับเรียง "พวง" โดยผูกที่คอเป็นพวงๆ ละประมาณ ๓-๔ ตัว แต่จะมีควายที่ชาวนาฝึกหัดไว้จนชำนาญอยู่ด้านใน เวลานวด ให้ควายย่ำซ้ำอยู่พักหนึ่ง ก็หยุดพักควาย ระหว่างหยุดพัก ชาวนาจะใช้ "ขอฉาย" ซึ่งเป็นด้ามไม้ไผ่ยาว ที่ปลายมีเหล็กปลายงอติดอยู่ ทำการสงฟางที่ถูกนวดสะอาดแล้วออกไป ถ้ายังมีเมล็ดข้าวติดอยู่ ก็ใช้ขอฉายสงขึ้นมาไว้ข้างใน ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ ๓ ครั้ง ในข้าว ๑ กอง หรือ ๑ ตก ในการตรวจดูฟางว่าสะอาดดีหรือไม่ ก็ดูด้วยสายตา หรือถ้าเป็นตอนกลางคืน ก็ใช้ฟางเผาไฟดู ถ้ายังมีเมล็ดข้าวติดอยู่มาก ก็จะมีเสียงดังเกิดขึ้น เมื่อนวดเสร็จแล้ว ก็สงฟางออกให้มากที่สุด คงเหลือแต่เศษฟาง และให้ข้าวปะปนอยู่ในกองข้าว อัตราการนวดประมาณ ๑๗๐ กก./ชม./ควาย ๒ ตัว
วิธีการนวดข้าวแบบใช้สัตว์ในภาคกลาง
วิธีที่พัฒนาขึ้น
เป็นการนำเอาเครื่องจักรมาใช้ในการนวด แบ่งเป็น
๑. ใช้รถไถเล็ก
รถไถขนาดเล็กที่ใช้ย่ำนวด มีทั้งชนิด ๒ ล้อและ ๔ ล้อ การจัดฟ่อนข้าวเรียงบนลานนวดทำเช่นเดียวกับนวดโดยใช้สัตว์ย่ำ การนวดทำโดยการขับรถไถวิ่งบนฟ่อนข้าว วิธีการปฏิบัติต่างๆ ในการนวด เหมือนกับวิธีการนวดด้วยสัตว์ เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้รถไถนาแทน การใช้สัตว์เท่านั้น อัตราการนวดข้าวด้วยรถไถ ๒ ล้อและรถ ๔ ล้อ ประมาณ ๒,๐๐๐ กก./ชม./เครื่อง และ ๓,๐๐๐ กก./ชม./เครื่อง ตามลำดับ ซึ่งยังไม่ รวมถึงกรรมวิธีการทำความสะอาดฟางข้าวและ การฝัดข้าวที่ต้องใช้เวลามาก
๒. ใช้รถแทรกเตอร์
การนวดข้าวโดยใช้รถแทรกเตอร์
วิธีนี้เป็นวิธีการนวดข้าวที่ให้ผลิตผลสูงอีกวิธีหนึ่ง ใช้ลานนวดหลายลาน คือ รถจะวิ่งจากลานหนึ่งประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้น ให้คนรุฟาง โดยการไม่ให้เสียเวลา รถแทรกเตอร์จะวิ่งไปลานต่อไป หลังจากเมื่อนวดลานที่สองเสร็จแล้ว และคนรุฟางข้าวจากลานแรกเสร็จแล้ว รถแทรกเตอร์จะรับจ้างนวดให้กับชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียง หรือบางครั้งก็มีการรับจ้างข้ามจังหวัด การจัดวางฟ่อนข้าวรองรับน้ำหนักของรถ ทำให้เมล็ดแตกหักลดลง การเรียงฟ่อนข้าวจะเรียงได้หนากว่าวิธีอื่นๆ รถที่ใช้ย่ำบนฟ่อนข้าว ต้องสูบลมยางให้ต่ำกว่าอัตราใช้งานปกติ เพื่อลดจำนวนเมล็ดข้าวแตก จากการกดทับ และการเสียดสีของยางรถกับพื้นลาน อัตราการนวดข้าวด้วยวิธีนี้ ประมาณ ๔,๗๐๐ กก./ชม./เครื่อง ซึ่งยังไม่รวมถึงกรรมวิธีการทำความสะอาดฟางข้าว และการฝัดข้าว ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกมาก
เมล็ดที่ทำการนวดเรียบร้อยแล้ว ยังมีเศษฟาง ใบข้าว เศษวัชพืช และอื่นๆ ปะปนอยู่ โดยเฉพาะในที่ที่ใช้ลานดินนวด จะมีเศษดินปะปนมา จำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวนาจะต้องทำความสะอาดเสียก่อน จึงจะนำเข้าเก็บในยุ้งฉางต่อไป การทำความสะอาดเมล็ดนั้น วิธีที่ชาวนาใช้กันมีอยู่หลายวิธี คือ
๑. โดยการสาดข้าว ชาวนาจะใช้พลั่วไม้สาดข้าวในกองขึ้นไป ให้ลมพัดเอาเศษฟาง ข้าวลีบ และใบข้าว ปลิวออกไปจากกองข้าว วิธีการนี้จะต้องอาศัยลมช่วย แต่วัตถุที่มีน้ำหนัก เช่น ก้อนดิน จะไม่ปลิวออกไปแต่จะตกลงมารวมกับ กองข้าวอีก ในกรณีไม่มีลมช่วยอาจจะใช้พัด ขนาดใหญ่โบกไปมา เพื่อให้พวกข้าวลีบหรือ เศษฟาง ฯลฯ ปลิวออกไป
๒. ถ้าข้าวมีจำนวนน้อยๆ ชาวนาจะใช้กระด้งฝัดข้าว
๓. โดยใช้เครื่องสีฝัด ซึ่งเป็นเครื่องมือทุ่นแรง เหมาะสำหรับเวลาไม่มีลมพัด โดยอาจจะใช้แรงคน หรือแรงเครื่องยนต์หมุนก็ได้ เครื่องสีฝัดนี้ จะมีประสิทธิภาพสูง
๔. ใช้เครื่องฝัดขนาดใหญ่ นอกจากฝัดทำความสะอาดเมล็ดแล้ว ยังสามารถคัดขนาดของเมล็ดข้าวได้อีกด้วย เหมาะในการใช้คัดขนาดเมล็ดข้าว เพื่อใช้ทำพันธุ์ เครื่องจักรชนิดนี้ ส่วนมากใช้ในสถานีทดลองข้าวของกรมวิชาการเกษตร
๕. วิธีการพัฒนาอีกแบบหนึ่งคือ การนวดข้าว โดยใช้เครื่องนวดข้าว ตามแกนลูกนวด เครื่องนวดข้าวนี้ กองเกษตรวิศวกรรม ได้รับต้นแบบมาจากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute : IRRI) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยความร่วมมือ กับนักวิชาการของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ และโรงงานผลิตเครื่องนวดข้าวในชนบท ได้ปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ปัจจุบันนี้ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องนวดแบบดังกล่าว จนสามารถนวดได้สะอาด และเมล็ดไม่แตกหัก และกองเกษตรวิศวกรรมได้ส่งเสริมให้โรงงานเอกชน ผลิตเครื่องนวดข้าวแบบนี้ จำหน่ายให้เกษตรกรต่อไป ปัจจุบันเกษตรกรมีเครื่องนวดข้าวแบบนี้อยู่ประมาณ ๘๐,๐๐๐ กว่าเครื่อง สาเหตุที่การใช้เครื่องนวดข้าวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการนวดข้าวแบบดั้งเดิมของเกษตรกรไทยเรานั้น เป็นวิธีการที่สิ้นเปลืองแรงงาน และเวลามาก ในท้องที่ที่มีการทำนามากกว่า ๑ ครั้ง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนวดให้ทันเวลาต่อการเตรียมดิน ที่จะปลูกข้าวในครั้งต่อไป เครื่องนวดข้าวจึงเข้ามามีบทบาทต่อเกษตรกรไทยมากขึ้นตามลำดับ
อัตราการนวดข้าวด้วยวิธีต่างๆ
ใช้คนตี ๐.๐๖ ตัน/ชม./คน
ใช้สัตว์ย่ำ ๐.๑๗ ตัน/ชม./ควาย ๒ ตัว
รถไถ ๒ ล้อ ๒ ตัน/ชม./เครื่อง
รถไถ ๔ ล้อ ๓ ตัน/ชม./เครื่อง
รถแทรกเตอร์ใหญ่ ๕ ตัน/ชม./เครื่อง
เครื่องนวดข้าว ๑-๓ ตัน/ชม./เครื่อง
เครื่องนวดข้าวตามแกนลูกนวด ประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
ชุดนวด ประกอบด้วย ลูกนวด ตะแกรง-นวด ครีบวงเดือน ฝาครอบลูกนวด กระบะวาง ฟ่อนข้าว ปล่องฟางออก ฯลฯ
ชุดทำความสะอาด ประกอบด้วย ตะแกรงโยก และพัดลม ฯลฯ
ชุดถ่ายกำลัง ประกอบด้วย มู่เล่ และสายพาน
อุปกรณ์ส่งข้าว แบบกะพ้อกลม กะพ้อตัก และสายพาน
หลักการทำงานของเครื่องนวดข้าว
หลักการทำงานของเครื่องนวดข้าว
ในขณะทำงาน ฟ่อนข้าวจะถูกป้อนเข้าทางช่องป้อน ลูกนวดที่หมุนอยู่ จะดึงฟ่อนข้าวเข้าไปฟาด เหวี่ยงกับตะแกรงนวด ทำให้เมล็ดร่วงลงสู่ตะแกรงโยกด้านล่าง ครีบวงเดือนจะบังคับให้ฟ่อนข้าว ไหลไปตามแนวแกนของลูกนวด เมื่อถึงปลายสุดใบพัดสงฟาง ก็จะกวาดเหวี่ยงฟางข้าว ที่เหลือออกไปด้านนอก
ตะแกรงโยก และพัดลม จะทำความสะอาด คัดแยกเศษพืช และฝุ่นละอองออกจากเมล็ด
อุปกรณ์ส่งข้าว จะทำหน้าที่ส่งข้าวไปนวดใหม่ รวบรวมสู่กระสอบ หรือรถบรรทุกที่เตรียมไว้ เครื่องมือชนิดอื่นๆ ที่ได้รับการพัฒนาในประเทศไทย นอกจากใช้กับผลิตผลข้าวแล้ว ยังมีเครื่องนวดถั่วเหลือง เครื่องกะเทาะถั่วเขียวผิวมัน เครื่องกะเทาะถั่วลิสง เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องอบข้าวโพด และเครื่องอบเมล็ดพืช ฯลฯ
เครื่องเกี่ยวนวดข้าว
ในระยะ ๗-๘ ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการใช้แรงงานเป็นอย่างมาก เกษตรกรในวัยหนุ่มสาวอันเป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลิตผลการเกษตร จึงได้โยกย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ในภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างมากตามไปด้วย โดยเฉพาะในการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งต้องการแรงงานสูง เมื่อเกิดการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น เช่น เก็บเกี่ยวไม่ทันเวลา ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ดังนั้นจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องนำเครื่องมือเก็บเกี่ยว เข้ามาช่วยทดแทนแรงงานในส่วนนี้
เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เป็นเครื่องมือที่นำระบบเกี่ยวและนวด มารวมไว้ในเครื่องเดียวกัน ประกอบด้วย ระบบตัด ระบบนวด ระบบทำความสะอาด ซึ่งจะทำงานต่อเนื่องกันคือ เครื่องตัดต้นข้าว และส่งต้นข้าวเข้าเครื่องนวด เพื่อแยกเมล็ดข้าว แล้วทำความสะอาด และแยกฟางข้าวจากเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวจะถูกส่งเข้าบรรจุในกระสอบ อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำงาน ซึ่งทำงานได้รวดเร็ว และประหยัดแรงงานมาก
เครื่องเกี่ยวนวดได้มีการพัฒนาสร้าง โดยกองเกษตรวิศวกรรม กรมการข้าว ในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๖ จากนั้นราวปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้มีการนำเข้าเครื่องเกี่ยวนวดจากประเทศญี่ปุ่นมาทดสอบ และเผยแพร่ โดยหน่วยงานของรัฐและบริษัทเอกชน เครื่องเกี่ยวนวดข้าวแบบญี่ปุ่น เป็นแบบเกี่ยวนวดเฉพาะรวงข้าว ทั้งประเภทนั่งขับ และประเภทเดินตาม มีหน้ากว้างของการตัดตั้งแต่ ๐.๖๕-๑.๕๐ เมตร มีความสามารถในการทำงาน เฉพาะข้าวต้นตั้งได้ถึง ๑๐-๑๕ ไร่ต่อวัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ บริษัทเอกชนได้นำเครื่องเกี่ยวนวดของประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาทดลองใช้เป็นแบบเกี่ยวนวดทั้งต้น มีหน้ากว้างของการตัดตั้งแต่ ๓-๕ เมตร ความสามารถในการทำงาน ๒๐-๔๐ ไร่ต่อวัน
เครื่องเกี่ยวนวดข้าวจากประเทศตะวันตก
เครื่องเกี่ยวนวดทั้งแบบญี่ปุ่น และของประเทศตะวันตก ไม่สามารถใช้งานได้ดีกับพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
๑. สภาพพื้นที่ โดยปกติในขณะเกี่ยวข้าว หากสภาพพื้นที่ยังมีน้ำขังอยู่ ดินก็จะอยู่ในสภาพอ่อนตัว เครื่องทั้งสองชนิดจะไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะเครื่องจากประเทศตะวันตก จะจมลึกมาก เนื่องจากน้ำหนักมากเกินไป (น้ำหนักเครื่องเปล่า ๘-๑๐ ตัน) ในกรณีสภาพของพื้นดินแห้งและแข็ง เครื่องแบบตะวันตกสามารถทำงานได้ดี แต่เครื่องแบบญี่ปุ่นจะเกิดปัญหา เนื่องจากอายุของสายพานตีนตะขาบแบบยางจะสึกหรอ หรือเสื่อมคุณภาพเร็ว
๒. สภาพของต้นข้าว เครื่องเกี่ยวนวดจะสามารถเกี่ยวข้าวต้นตั้งได้ดี กรณีที่ต้นข้าวล้ม เครื่องเกี่ยวนวดทั้งสองชนิดจะทำงานได้ช้ามาก
๓. ขนาดของแปลงนา จะต้องมีขนาดใหญ่ ไม่ควรน้อยกว่า ๓-๔ ไร่ เครื่องจึงจะทำงาน โดยให้ประสิทธิภาพสูง
๔. ราคาของเครื่องสูง จนเกษตรกรไม่สามารถซื้อไปใช้ได้ ถึงแม้ว่าจะนำไปรับจ้างก็ตาม เนื่องจากระยะคืนทุนยาวเกินไป
๕. อะไหล่และอุปกรณ์ที่สึกหรอเร็วจะหาได้ยาก ทั้งยังมีราคาแพงอีกด้วย
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โรงงานผลิตเครื่องจักรกลเกษตร ได้ทำการลอกเลียนแบบเครื่องเกี่ยวนวดจากประเทศตะวันตก โดยเฉพาะหัวเกี่ยว และระบบลำเลียง เข้ามาผสมผสานกับระบบเครื่องนวดข้าว ที่มีใช้กันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นเครื่องเกี่ยวนวดแบบไทยขึ้น ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีทั้งโรงงานขนาดเล็ก ผลิตปีละ ๔-๕ เครื่อง จนถึงโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีสายการผลิต โดยมีกำลังผลิต ๒-๓ วันต่อเครื่อง และเกษตรกรได้เริ่มซื้อไปใช้กันอย่างแพร่หลาย
เครื่องเกี่ยวนวดที่พัฒนาในประเทศไทย
เครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่พัฒนาในประเทศไทย เป็นแบบเกี่ยวนวดข้าวทั้งต้น มีส่วนประกอบ ที่สำคัญดังนี้
๑. ต้นกำลัง ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นต้นกำลัง เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นเครื่องยนต์ใช้แล้ว หรือเครื่องยนต์มือสองจากต่างประเทศ ขนาดประมาณ ๗๕-๑๑๐ แรงม้า โดยมีการเพิ่มอุปกรณ์ปรับความเร็ว เพื่อควบคุมอัตราการเร่งของเครื่องยนต์ และปัจจุบันนี้มีโรงงานได้สั่งเครื่องใหม่มาจากต่างประเทศ
๒. ระบบเกี่ยว ซึ่งประกอบด้วยใบมีดตัด ล้อโน้มข้าว และเกลียวลำเลียง ล้อโน้มข้าวมีลักษณะเป็นโครงรูปหกเหลี่ยม และมีซี่เหล็กติดอยู่ ทำหน้าที่โน้มต้นข้าวเข้าหาหัวเกี่ยว
๓. ระบบนวดและทำความสะอาด มีลักษณะเดียวกับเครื่องนวดข้าว ตามแนวแกน ที่มีใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในประเทศไทย