เล่มที่ 23
เฟิร์นไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โครงสร้างของเฟิร์น

            นอกจากเฟิร์นจะมีลักษณะเฉพาะของใบอ่อน ที่ไม่เหมือนพืชกลุ่มใดๆ แล้ว โครงสร้างส่วนอื่นๆ ก็ยังมีลักษณะที่แตกต่างจากพืชกลุ่มอื่น ดังนี้

ลำต้น

            เฟิร์นบางชนิดมีลำต้นสั้นๆ ตั้งตรง เช่น เฟิร์นใบมะขาม กลุ่มของใบอยู่ทางด้านบน และกลุ่มของรากอยู่ด้านล่าง เฟิร์นบางชนิดมีลำต้นทอดขนานสั้นๆ เช่น ย่านลิเภา และบางชนิดมีลำต้นทอดขนานยาวไม่จำกัด เช่น นาคราช ลำต้นลักษณะดังกล่าวมักจะเรียกว่า "เหง้า" (rhizome) ซึ่งจะแตกต่างจากเหง้า ที่หมายถึง ลำต้นใต้ดินที่ทำหน้าที่สะสมอาหาร เช่น เหง้าขิง หรือข่า แต่เหง้าหรือลำต้นของเฟิร์นนั้น มักจะเป็นลำต้นที่ไม่สะสมอาหารและอาจจะเกิดใต้ดิน บนหิน หรือเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ หรือลำต้นของไม้ยืนต้น เฟิร์นบางชนิด เช่น "มหาสดำ" มีลำต้นตั้งตรง และมีขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายต้นหมาก หรือต้นมะพร้าว คือ มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เกิดรวมเป็นกระจุกอยู่ที่ยอด

ลักษณะลำต้นของเฟิร์น :ลำต้นทอดขนานยาว

ลำต้นตั้งตรง มีทั้งส่วนที่อยู่เหนือดินและใต้ดิน 

ใบ

            ใบของเฟิร์นมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนพืชชนิดอื่น คือ ใบอ่อนที่ม้วนขดจากปลายใบ เข้าหาโคนใบ คล้ายลานนาฬิกา ใบอาจจะเป็นใบเดี่ยว หรือใบประกอบ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เหมือนกับใบไม้ของพืชทั่วๆ ไป คือ ทำหน้าที่สร้างอาหาร โดยการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้ว บางใบยังทำหน้าที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการสร้างอับสปอร์ทางด้านล่างของแผ่นใบ อับสปอร์ ของเฟิร์นมักจะเกิดรวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่า "กลุ่มอับสปอร์" (sorus)

กลุ่มอับสปอร์

            กลุ่มอับสปอร์มีจำนวนอับสปอร์ต่างๆ กัน แล้วแต่ชนิดของเฟิร์น โดยทั่วไป อับสปอร์มีรูปคล้ายกำปั้นของคนคือ มีส่วนที่เป็นก้านติดอยู่บนฐานรองอับสปอร์ (receptacle) และส่วนปลายที่มีลักษณะพองออกเป็นกระเปาะ ภายในเป็นที่เกิดของสปอร์ กลุ่มอับสปอร์มีขนาด รูปร่าง และตำแหน่งที่เกิดทางด้านล่างของแผ่นใบต่างๆ กันตามชนิดของเฟิร์น เช่น มีรูปกลม พบใบเฟิร์นหลายชนิด เช่น กระแตไต่ไม้ หรือมีลักษณะเป็นขีดขนานกับเส้นใบ เช่น ข้าหลวงหลังลาย หรือมีรูปคล้ายไต เช่น เฟิร์นใบมะขาม กลุ่มอับสปอร์ของเฟิร์นบางชนิดมีจำนวนมาก และเกิดชิดกันเป็นกลุ่มใหญ่ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของแผ่นใบ เช่น ชายผ้าสีดา หรือครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งแผ่นใบ เช่น ปรงทอง หรือปรงไข่

            กลุ่มอับสปอร์ของเฟิร์นบางชนิดอาจมีเยื่อบางๆ ที่เกิดจากฐานรองอับสปอร์ เจริญออกมาคลุมกลุ่มอับสปอร์เอาไว้ เพื่อป้องกันอันตรายให้แก่ อับสปอร์ เช่น กูดกิน เฟิร์นบางชนิดมีกลุ่มอับสปอร์เกิดใกล้ขอบใบ และมีขอบใบพับงอลงมาปกคลุมกลุ่มอับสปอร์ไว้ เช่น เฟิร์นก้านดำ

สปอร์

            สปอร์ของเฟิร์นอยู่ภายในอับสปอร์เกิดจากการแบ่งเซลล์ ผลจากการแบ่ง จะได้สปอร์ ๔ สปอร์ ติดอยู่เป็นกลุ่ม และต่อมาจะแยกออกจากกัน เมื่อแยกออกจากกัน จะเห็นตำแหน่งของรอยที่ติดกันอยู่ ซึ่งอาจจะเห็นรอยเดียว หรือ ๓ รอย