เล่มที่ 23
เฟิร์นไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เฟิร์นที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่คนไทยหรือประเทศไทย

            จากการสำรวจเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงกับเฟิร์นในประเทศไทยที่ผ่านมา โดยนักพฤกษอนุกรมวิธานต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นพบว่า เฟิร์นหลายชนิดเป็นชนิดใหม่ของโลก จึงได้มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แต่ละชนิดเพื่อให้เป็นเกียรติแก่ประเทศไทย เช่น เฟิร์นก้านดำทุ่งสง (Adiantum siamense) เป็นเฟิร์นก้านดำชนิดใหม่ในสกุล Adiantum ซึ่งศาสตราจารย์ตากาวา และศาสตราจารย์อิวัทซูกิ ตั้งชื่อระบุชนิด "siamense" ให้เป็นเกียรติแก่ประเทศไทย ซึ่งเป็นสถานที่เก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ต้นแบบ นอกจากนี้ เฟิร์นก้านดำชนิดนี้ ยังเป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย ศาสตราจารย์ตากาวา และศาสตราจารย์อิวัทซูกิ ยังได้ตั้งชื่อเฟิร์น ให้เป็นเกียรติแก่สถานที่เก็บตัวอย่างในประเทศไทย เช่น กูดข้อต่อภูหลวง (Arthromeris phuluangensis) เป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย ซึ่งพบเฉพาะที่ภูหลวง จังหวัดเลย และ กูดก้างปลาเขาหลวง (Xiphopteris khaoluangensis) เป็นพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย ซึ่งพบเฉพะที่เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช คนไทยที่เก็บตัวอย่าง หรือมีส่วนร่วมในการเก็บตัวอย่างเฟิร์น และได้รับเกียรติให้มีชื่ออยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์ เช่น ว่านหางนกยูงแคระ (Antrophyum winitii) เป็นเฟิร์นชนิดใหม่ ในสกุล Antrophyum ซึ่งศาสตราจารย์ตากาวา และศาสตราจารย์อิวัทซูกิ ตั้งชื่อระบุชนิด "winitti" ให้เป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร ซึ่งเป็นผู้เก็บตัวอย่าง เฟิร์นอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อของคนไทย อยู่ในชื่อวิทยาศาสตร์ของเฟิร์นคือ กูดท้องใบดำ (Elaphoglossum dumrongii) คำระบุชนิด "dumrongii" มาจากชื่อของ นายดำรง ใจกลม อดีตข้าราชการกรมป่าไม้ ที่ร่วมในการเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก กับคณะของศาสตราจารย์ตากาวา และศาสตราจารย์อิวัทซูกิ

คณะสำรวจเฟิร์นกำลังร่วมกันเก็บตัวอย่างเฟิร์นในป่าธรรมชาติ