ศาสตราจารย์โฮลท์ทัม (R.E. Holttum)
ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ที่รู้จักเฟิร์นมากที่สุดในโลก
การสำรวจเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงในประเทศไทย
การสำรวจเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงมักจะทำควบคู่ไปกับการสำรวจพืชในกลุ่มไม้ดอก เริ่มมีการเก็บรวบรวมตัวอย่างพืชกลุ่มนี้ โดยนักอนุกรมวิธานพืชที่เป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งจะนำตัวอย่างส่วนใหญ่กลับไปศึกษาในประเทศของตน ตัวอย่างบางส่วนที่ซ้ำ ก็จะเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมป่าไม้และที่พิพิธภัณฑ์พืช กรมวิชาการเกษตร บุคคลที่มีความสำคัญต่อการศึกษาเฟิร์นของโลกคือ ศาสตราจารย์โฮลท์ทัม (R.E. Holttum) (พ.ศ. ๒๔๓๘-๒๕๓๓) ชาวอังกฤษ เป็นผู้ศึกษาเฟิร์นของประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้เผยแพร่ผลงานในหนังสือ "พรรณพฤกษชาติของมลายู" ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ และต่อมาได้เผยแพร่ผลงานใน "พรรณพฤกษชาติของคาบสมุทรมลายู" ซึ่งเป็นตำราที่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเฟิร์นในประเทศไทย เนื่องจากมีหลายชนิดที่ซ้ำกันกับเฟิร์นของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟิร์นที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย ท่านผู้นี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่รู้จักเฟิร์นมากที่สุดในโลก
บุคคลที่มีความสำคัญต่อการศึกษาเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงของไทยและได้เผยแพร่ผลงานในหนังสือพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยคือ ศาสตราจารย์ตากาวา (M. Tagawa) และศาสตราจารย์ อิวัทซูกิ (K. Iwatsuki) ซึ่งได้เข้ามาศึกษาตัวอย่างเดิมที่เก็บรักษาไว้ที่ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ และพิพิธภัณฑ์พืช กรมวิชาการเกษตร และได้ออกเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๐๙ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับความหลากหลายของเฟิร์นในประเทศไทย ปัจจุบัน เราจึงได้รู้จักเฟิร์นและพืชกลุ่มใกล้เคียงกว่า ๖๒๐ ชนิด