เล่มที่ 3
ข้าวโพด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติและถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพด
  
            พันธุ์ข้าวโพดที่ใช้ปลูกในปัจจุบันนี้ เป็นพืชที่ไม่สามารถขึ้นเองได้ถ้ามนุษย์ไม่ให้การปฏิบัติรักษาเท่าที่ควร ไม่มีใครทราบเกี่ยวกับรากฐานดั้งเดิมว่า พืชนี้เปลี่ยนจากพืชป่ามาเป็นพืชเลี้ยงเมื่อใด แต่คงเป็นเวลานับพันๆ ปีมาแล้ว นักภูมิศาสตร์ และนักโบราณคดีหลายท่านสันนิษฐานว่า มนุษย์รู้จักปลูกข้าวโพดกันมากกว่า ๔,๕๐๐ และในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและถิ่นฐานดั้งเดิมของข้าวโพดนั้น ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด ถึงแม้ว่าได้มีนักค้นคว้าหลายท่านได้ทำการศึกษา และให้ข้อสันนิษฐานต่างๆ มานาน แต่ก็ยังมีเหตุผลหลายประการที่ขัดแย้งกันอยู่บางท่านสันนิษฐานว่า ข้าวโพดอาจมีถิ่นฐานในแถวที่ราบสูงซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศเปรู โบลิเวีย และเอกวาตอร์ ในทวีปอเมริกาใต้ เนื่องจากมีผู้พบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์มีความปรวนแปรในด้านกรรมพันธุ์และมีลักษณะต่างๆ ผิดแผกกันมาก นอกจากนี้ข้าวโพดบางชนิดที่มีลักษณะคล้ายข้าวโพดป่ายังพบขึ้นในแถบนั้นอีกด้วย แต่บางท่านก็ให้ข้อคิดว่า ในแถบอเมริกากลาง และตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดข้าวโพดมากกว่า เพราะมีหญ้าพื้นเมืองของบริเวณนี้ ๒ ชนิด คือ หญ้าทริพซาคัม (Trip saxum) และหญ้าทิโอซินเท (Teosinte) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษาศาสตร์หลายประการคล้ายคลึงกับข้าวโพดมาก นอกจากนี้ ยังมีนักโบราณคดี ได้ขุดพบซากซังของข้าวโพดปนกันอยู่กับซากของโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินลึกถึง ๒๘ เมตร บริเวณเมืองหลวงของประเทศเม็กซิโกในบริเวณถ้ำและสุสานหลายแห่ง จากการพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ทำให้ทราบว่าซากสิ่งของเหล่านี้มีอายุนานกว่า ๔,๐๐๐ ปี ซึ่งแสดงว่า มีข้าวโพดปลูกอยู่ในแถบนี้เป็นเวลานานนับพันปีมาแล้ว นอกจากนี้บางท่านได้ให้ความเห็นอีกว่า ข้าวโพดบางชนิดอาจมีรากฐานอยู่ในเอเซียก็ได้ เพราะพืชพื้นเมืองหลายอย่างในแถบนี้จะมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์คล้ายข้าวโพดมาก เช่น ลูกเดือย และอ้อน้ำ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานและเหตุผลของแต่ละท่าน ยังไม่มีประจักษ์พยานยืนยันแน่ชัดคงจะต้องถกเถียงและค้นคว้าหาความจริงกันต่อไปอีก

ข้าวโพดพันธุ์เตี้ยนานา (ขวามือ) กับพันธุ์ธรรมดา

            สำหรับพืชดั้งเดิมของข้าวโพดนั้น ได้มีนักพฤกษศาสตร์ และนักพันธุศาสตร์ ตั้งสมมุติฐานขึ้นต่างๆ กัน เนื่องจากข้าวโพดมีส่วนใกล้เคียงกับหญ้าทริพซาคัม และทิโอซินเทมาก บางท่านจึงเชื่อว่า หญ้าพวกนี้เป็นบรรพบุรุษของข้าวโพด อย่างไรก็ตาม จากการทดลองผสมพันธุ์ระหว่างข้าวโพดกับหญ้าทริพซาคัม ปรากฏว่า ได้ลูกผสมออกมาเป็นหญ้าทิโอซินเท นอกจากนั้น ความแตกต่างทางพันธุกรรมของข้าวโพดกับหญ้าทั้งสองชนิดนี้ทำให้หลายท่านสรุปได้ว่าหญ้าทั้ง ๒ ชนิด นั้นไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมของข้าวโพด ข้าวโพดที่ปลูกอยู่ทุกวันนี้ คงจะวิวัฒนาการมาจากข้าวโพดพันธุ์ป่า (pod maize) อย่างแน่นอน ดังนั้น หญ้าทริพซาคัม และทิโอซินเท ก็ควรเป็นพืชดั้งเดิมเดียวกับข้าวโพด หากแต่ได้วิวัฒนาการมาคนละสาย จึงมีลักษณะแตกต่างกันในปัจจุบัน

            การแพร่หลายของข้าวโพดจากถิ่นเดิมไปยังส่วนต่างๆ ของโลกนั้น เข้าใจว่า เกิดจากชาวอินเดียนแดง เจ้าถิ่นเดิมของทวีปอเมริกา เป็นผู้นำจากอเมริกากลางไปปลูกในส่วนต่างๆ ของทวีปอเมริกาและหมู่เกาะคาริบเบียน ชาวอินเดียนแดงเป็นชนชาติที่มีส่วนสำคัญ ในด้านวิวัฒนาการเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพด ทั้งในด้าน การปลูก การคัดเลือกพันธุ์ เช่น รู้จักการคัดเลือกพันธุ์ โดยอาศัยลักษณะ และสีสันของเมล็ด รู้จักเลือกฤดูปลูก ที่เหมาะ คือ รอจนกว่าใบต้นโอ๊กจะผลิออกมามีขนาดเท่าหูกระรอกเสียก่อน จึงจะปลูก และรู้จักการจับปลาในลำธารมาใส่ที่โคนต้นข้าวโพด เพื่อให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ย เมื่อโคลัมบัสเดินทางมาพบทวีปอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๓๕ นั้น ได้พบว่า ข้าวโพดมีปลูกอยู่ทั่วไปในดินแดนแห่งนั้น จึงได้ลองนำเมล็ดกลับไปปลูกในยุโรป ซึ่งต่อมา ก็ได้แพร่หลายต่อไปยังทวีปแอฟริกา เอเชีย และออสเตรเลีย

แผนที่แสดงการกระจายแหล่งผลิตข้าวโพดในประเทศไทย

            ในโลกเก่าซึ่งได้แก่ ทวีปยุโรปและเอเชียนั้น มีการเรียกชื่อข้าวโพดต่างๆ กัน เช่น สแปนิชคอร์น (spanish corn) โรมันคอร์น (roman corn) กินีคอร์น (guinea corn) เทอร์กิชคอร์น (turkish corn) อินเดียนคอร์น (indian corn) การที่เรียกชื่อไปต่างๆ กันเช่นนี้ เข้าใจว่าเรียกตามท้องถิ่นที่ปลูกนั่นเอง และการกล่าว ถึงคอร์น (corn) เฉยๆ อาจไม่ได้หมายถึงข้าวโพด แต่หมายถึง ข้าวสาลีหรือธัญพืชชนิดอื่น ฉะนั้น บรรดาประเทศในภาคพื้นเหล่านี้ เมื่อจะกล่าวถึงข้าวโพดมักจะใช้คำว่า เมซ (maize) หรืออินเดียนคอร์น มากกว่าคำว่า คอร์นเฉยๆ คำว่า เมซ สันนิษฐานว่า มาจากภาษาอินเดียนแดง คือ มาฮิซ (mahiz) หรือ มาริซิ (marisi)