เล่มที่ 3
ข้าวโพด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา

            ฝักข้าวโพดจะแก่จัดและเก็บเกี่ยวได้ เมื่อเปลือกหุ้มฝักเริ่มมีสีฟางทางที่ดีควรปล่อยข้าวโพดทิ้งไว้ในแปลงให้แห้งดีเสียก่อน เพื่อทุ่นเวลาในการตากและสะดวกในการเก็บรักษา โดยเฉลี่ยแล้วข้าวโพดไร่พันธุ์ที่ใช้ปลูกอยู่ในประเทศไทย มีอายุตั้งแต่ปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาร ๙๐-๑๒๐ วัน

การเก็บข้าวโพด

            ในการเก็บเกี่ยวข้าวโพด ชาวไร่ทั่วๆ ไปยังใช้แรงคนเก็บ โดยหักฝักที่แห้งแล้วออกจากต้น แกะเปลือกหุ้มฝักออกหรือจะเอาไว้แกะเปลือกที่หลังก็ได้ การใช้เครื่องทุ่นแรงเก็บเกี่ยวข้าวโพดยังมีน้อยมากในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากเครื่องมือมีราคาแพง และมีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ เพราะพันธุ์ที่ชาวไร่ปลูกมีความสูงของลำต้น และฝักไม่เท่ากัน นอกจากนั้นต้นยังหักล้มมากอีกด้วย

            หลังจากเก็บฝักข้าวโพด และปอกเปลือกออกแล้วควรตากพักไว้ภายในโรงเรือน หรือทำแคร่เตี้ยๆ กลางแจ้ง มีโครงไม้สำหรับใช้แฝก หรือผ้าพลาสติกคลุมเวลา ฝนตกได้ ถ้ามีข้าวโพดเป็นจำนวนมากควรสร้างฉางขนาดกว้างพอสมควร ยกพื้นสูงไม่ต่ำว่า ๕๐ เซนติเมตร พื้นเป็นไม้ระแนงด้านข้างกรุด้วยลวดตาข่าย หรือไม้ระแนงเช่นเดียวกับพื้น ทั้งนี้เพื่อให้ลมโกรกผ่านเข้าออกได้ ด้านบนเป็นหลังคากันฝน

กองข้าวโพด

            เมื่อฝักข้าวโพดแห้งดีแล้ว จึงทำการกะเทาะเมล็ดไม่ควรกะเทาะเมล็ดเมื่อความชื้นยังสูงอยู่ จะทำให้เมล็ดแตกมาก เครื่องกะเทาะเมล็ดข้าวโพดในปัจจุบัน มีทั้งแบบมือหมุน และแบบที่หมุนด้วยเครื่องยนต์ เครื่องกะเทาะเมล็ดเหล่านี้สร้างในประเทศ ราคาจึงไม่แพงนัก เครื่องกะเทาะใหญ่ๆ อาจกะเทาะได้ถึง ๑,๐๐๐ ตัน/ชั่วโมง

            เมล็ดที่กะเทาะออกจากฝักแล้ว ถ้ายังแห้งไม่สนิทควรตากต่อให้แห้งก่อนเก็บเข้ากระสอบควรมีความชื้นในเมล็ดไม่เกิน ๑๕% จากนั้นอาจนำไปจำหน่ายหรือเก็บในยุ้งฉางต่อไป ถ้าจะเก็บไว้นานโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนของเมล็ดที่เอาไว้พันธุ์ ควรคลุกยากันเชื้อราออโทโซด์ ๗๕ หรือ ซีเรแซนเอ็ม ในอัตราประมาณ ๑ กรัม/เมล็ดข้าวโพด ๑ กิโลกรัม และใช้ยาป้องกันและกำจัดแมลงดีดีทีผงชนิด ๗๕% ในอัตรา ๑ กรัม/เมล็ดข้าวโพด ๑๐ กิโลกรัม คลุกไปด้วย สำหรับข้าวโพดเมล็ดที่เก็บไว้เลี้ยงสัตว์หรือเก็บไว้จำหน่ายนานๆ ควรรมยาพวกเมทิลโบรไมด์เดือนละครั้ง