เล่มที่ 40
รางวัลซีไรต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
คณะกรรมการพิจารณาตัดสินวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์

            สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยร่วมกันแต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาตัดสินวรรณกรรม เพื่อรับรางวัลซีไรต์และดำเนินการตัดสินวรรณกรรมในแต่ละปี ระยะแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๗ ซึ่งเป็นช่วง ๖ ปีแรก มีคณะกรรมการเพียงชุดเดียว โดยมีนายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ และนายกสมาคมนักเขียนฯ เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์ร่วมกัน และได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม ประกอบด้วย อาจารย์ นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ มาเป็นคณะกรรมการ

            ในปีแรกคณะกรรมการตกลงร่วมกันว่าจะพิจารณางานเขียนประเภทนวนิยาย และยึดหลักว่า ต้องเป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์มาแล้ว ไม่เกิน ๕ ปี นายกสมาคมภาษาและหนังสือฯ ในขณะนั้นได้สรรหานวนิยายที่ตีพิมพ์ พร้อมกับติดต่อสำนักพิมพ์ และบรรณาธิการนิตยสารต่างๆ ให้นำเสนอรายชื่อนวนิยายให้พิจารณา ในที่สุดได้ตัดสินให้นวนิยายเรื่อง ลูกอีสาน ของคำพูน  บุญทวี เป็นวรรณกรรมซีไรต์เรื่องแรกของไทย

            ปีต่อมา คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกให้งานเขียนประเภทกวีนิพนธ์ เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ เพียงความเคลื่อนไหว ของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ได้รับรางวัลซีไรต์



ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ได้รับรางวัลซีไรต์ประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรก
และ ลูกอีสาน เป็นนวนิยายซีไรต์เล่มแรก

            ในปีที่ ๓ คณะกรรมการตกลงพิจารณาให้วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของ อัศศิริ  ธรรมโชติ ได้รับรางวัล

            ใน ๓ ปีต่อมา คณะกรรมการได้ยึดหลักในการพิจารณาประเภทของวรรณกรรมตามลำดับ เช่นเดียวกับ ๓ ปีแรก คือ นวนิยาย กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น แม้จะมีผู้เสนอให้พิจารณาบทละครบ้าง แต่เนื่องจากบทละครที่เป็นงานสร้างสรรค์ของไทยยังมีจำนวนน้อยเกินไป ส่วนระยะเวลาในการตีพิมพ์กำหนดไว้ไม่เกิน ๕ ปีย้อนหลัง

            คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินยังเป็นคณะกรรมการชุดเดียว จำนวนไม่แน่นอน สูงสุดคือในปีที่ ๔ มีถึง ๙ คน องค์ประกอบของคณะกรรมการ คือ นักเขียนอาวุโส อาจารย์/นักวิชาการวรรณกรรม รวมทั้ง ผู้บริหารของสมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทยฯ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรรมการในแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คณะกรรมการที่ทำงานในช่วง ๖ ปีแรกค่อนข้างทำงานหนัก เพราะต้องเสาะหาหนังสือเอง และต้องสรรหาวรรณกรรมที่ดีเด่น มาเสนอชื่อให้ร่วมกันพิจารณา รวมทั้งร่วมกันตัดสินชี้ขาดว่า หนังสือเล่มใดควรได้รับรางวัล

            ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๕ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ๒ คณะ โดยใน พ.ศ. ๒๕๒๘ คุณนิลวรรณ  ปิ่นทอง นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ในขณะนั้น ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อยกร่างระเบียบการพิจารณาวรรณกรรมไทย เพื่อรับรางวัลซีไรต์ มีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานรางวัลซีไรต์รอบคอบ รัดกุม และชัดแจ้ง แล้วเสนอให้สมาคมนักเขียนฯ ซึ่งมีนายทองใบ ทองเปาด์ เป็นนายกสมาคมในขณะนั้น ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ และลงนามร่วมกัน ในที่สุดทั้ง ๒ สมาคมได้ประกาศใช้ระเบียบการพิจารณาวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ในระเบียบดังกล่าวได้มีการกำหนดประเภทของวรรณกรรม คุณสมบัติของงานวรรณกรรม องค์ประกอบคณะกรรมการ กำหนดเวลาการส่งผลงานให้พิจารณา และกำหนดเวลาการประกาศผล ผู้ที่มีสิทธิ์ส่งงานวรรณกรรมเข้ารับการพิจารณา หลังจากประกาศใช้ระเบียบดังกล่าว ทำให้การคัดเลือกและตัดสินวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

            คณะกรรมการพิจารณาตัดสินวรรณกรรมเพื่อรับรางวัลซีไรต์ ได้กำหนดไว้เป็น ๒ คณะ โดยแยกบทบาทหน้าที่ในการทำงานชัดเจน ดังนี้

๑. คณะกรรมการคัดเลือก (Selection Committee) มีจำนวน ๗ คน
๒. คณะกรรมการตัดสิน (Board of Juries) มีจำนวน ๗ คน

            คณะกรรมการตัดสินมีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอและตัดสิน ๑ เรื่อง ให้ได้รับรางวัลซีไรต์