เล่มที่ 40
รางวัลซีไรต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บทบาทต่อวงวรรณกรรมอาเซียน

            สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสเสด็จฯ พระราชทานรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ตอนหนึ่งว่า



การอภิปรายเชิงแนะนำนักเขียนซีไรต์
และผลงานที่ได้รับรางวัล

            "ข้าพเจ้าคิดว่า นักเขียนมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ในการเป็นผู้ส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาติ"

            นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ ๔ ข้อ ของการให้รางวัลซีไรต์ก็ระบุไว้เด่นชัดว่า ให้นักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน รับรู้ความสามารถ ทางวรรณศิลป์ และคุณค่าของผลงานสร้างสรรค์ของกันและกัน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและสัมพันธภาพในหมู่นักเขียน และประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน รางวัลซีไรต์มีกำเนิดมาก่อนการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งจะก่อตั้งอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๕๘ แต่เจตนารมณ์ของรางวัลซีไรต์ก็คล้ายคลึงกับประชาคมอาเซียนในเสาหลักที่ว่าด้วย สังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community -ASCC) นั่นคือ มุ่งเปิดสัมพันธภาพทางวัฒนธรรม ในกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านนักเขียน และงานวรรณกรรม แต่น่าเสียดายที่ตลอด ๓๖ ปีที่ผ่านมา รางวัลซีไรต์บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ไม่มากนัก เพราะกิจกรรมที่กำหนดไว้นั้น เป็นกิจกรรมในระยะสั้น ได้แก่ การทัศนาจร การอภิปรายเชิงแนะนำนักเขียนซีไรต์ และผลงานที่ได้รับรางวัล การอ่านบทกวี และการจัดประชุมนานาชาติ ซึ่งจัดเพียงครั้งเดียวในงาน Bangkok International Book Fair 2003 (งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ ๑ และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๓๑ พ.ศ. ๒๕๔๖) ซึ่งแบ่งการประชุมเป็น ๒ หัวข้อ คือ S.E.A. Award as a Road to Reginal Understanding และ S.E.A. Playwrights & Drama: Cultural Heritage in a Globalized Age โดยเชิญนักเขียนซีไรต์จากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย เป็นวิทยากร ส่วนกิจกรรมที่น่าจะเกิดประโยชน์ในระยะยาวยังทำได้ไม่มาก คือ การแปลวรรณกรรมซีไรต์เป็นภาษาต่างๆ เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญา ทางวรรณกรรมระหว่างสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งมีวัฒนธรรม ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงและเกี่ยวข้องกัน ที่ทำมาแล้วคือ การแปลเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ของนักเขียนซีไรต์เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่อย่างเป็นสากล โดยสมาคมภาษา และหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินการแปลและจัดพิมพ์แล้ว ๒ เล่ม คือ The S.E.A. Write Anthology of Thai Short Stories & Poems โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นิตยา  มาศะวิสุทธิ์ เป็นบรรณาธิการ และ The S.E.A. WRITE ANTHOLOGY of ASEAN Short Stories & Poems โดยศาสตราจารย์ ศรีสุรางค์  พูลทรัพย์ เป็นบรรณาธิการ



หนังสือรวมผลงานที่คัดสรรจากวรรณกรรมซีไรต์ของไทย และของประเทศอาเซียน
ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ๒ เล่ม

            หากต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะให้รางวัลซีไรต์เป็นสะพานเชื่อมทางวัฒนธรรม ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน คงจะต้องมีความร่วมมือในระดับกว้าง ระดับลึก และจริงจังกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อองค์กรเอกชนได้เริ่มต้นไว้ดีแล้ว องค์กร และหน่วยงานรัฐของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สมาคมนักเขียน และองค์กรวรรณกรรม ควรจะร่วมมือกันสานต่อ โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของกันและกันให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และสันติสุขในภูมิภาคอาเซียน