เล่มที่ 40
รางวัลซีไรต์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
บทบาทต่อการศึกษา

            วงการศึกษาให้ความสนใจวรรณกรรมซีไรต์เป็นพิเศษ เสมือนเป็นตัวแทนของวรรณกรรมร่วมสมัย กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกวรรณกรรมซีไรต์หลายเล่ม เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือหนังสือเสริมประสบการณ์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เช่น ลูกอีสาน ของคำพูน  บุญทวี คำพิพากษา ของชาติ  กอบจิตติ ปูนปิดทอง ของกฤษณา  อโศกสิน ใบไม้ที่หายไป ของจิระนันท์  พิตรปรีชา ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ของวินทร์  เลียววาริณ ความสุขของกะทิ ของงามพรรณ  เวชชาชีวะ โรงเรียนบางแห่งกำหนดวิชาวรรณกรรมซีไรต์ไว้ในหลักสูตร



วรรณกรรมซีไรต์บางเล่มใช้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือหนังสือเสริมประสบการณ์ของนักเรียน

            ในระดับอุดมศึกษา วรรณกรรมซีไรต์ใช้ศึกษาในวิชาวรรณกรรมปัจจุบัน วิชาวรรณกรรมวิจารณ์ หรือวิชานวนิยายและเรื่องสั้น ในระดับปริญญาตรี และยังใช้ศึกษาในวิชาวรรณกรรมในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีนิสิตนักศึกษาจำนวนมาก จากหลายสถาบัน ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเกี่ยวกับวรรณกรรมซีไรต์ หรือวรรณกรรมที่เข้ารอบสุดท้าย ของการประกวดรางวัลซีไรต์ สถาบันการศึกษาหลายแห่งบรรจุวิชาวรรณกรรมซีไรต์ไว้ในหลักสูตรด้วย