การปล่อยแสงแบบเร้า (Stimulated Emission)
ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ แอลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) พบว่า การปล่อยโฟตอนมี ๒ แบบ คือ การปล่อยแสงแบบเกิดเอง และการปล่อยแสงแบบเร้า ซึ่งเป็นกลไกหลักของเลเซอร์ ดังในแผนภาพ เมื่อมีแสงจากภายนอกเข้าสู่อะตอม อะตอมจะดูดกลืนแสง เพื่อให้อะตอมถูกกระตุ้นจากชั้นพลังงาน E1 ขึ้นไปอยู่ที่ชั้นพลังงาน E2 แต่ก่อนที่อะตอมจะเปลี่ยนสถานะลงสู่ชั้นพลังงาน E1 โดยการปล่อยแสงแบบเกิดเอง ถ้ามีแสงจากภายนอกที่มีพลังงาน E2-E1 เข้ามาชนอะตอมที่ยังอยู่ที่ชั้นพลังงาน E2 จะทำให้อะตอมที่อยู่ชั้นนั้นถูกเร้าให้กลับมายังชั้นพลังงาน E1 ตามเดิม โดยคายพลังงานที่ได้รับในรูปของแสงออกมาจากอะตอมพร้อมกับแสงจากภายนอกที่เข้ามาเร้า โดยที่แสงหรือโฟตอนทั้ง ๒ นี้ นอกจากจะมีพลังงานที่เท่ากันแล้ว ยังมีความถี่เดียวกัน มีเฟสเดียวกัน มีการเกิดขั้ว (polarisation) เหมือนกัน และเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ มีความพร้อมเพรียงกันทั้งทิศทางการเคลื่อนที่และเฟสของคลื่น การปล่อยแสงแบบนี้ เรียกว่า การปล่อยแสงแบบเร้า