การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์
การใช้เลเซอร์ในทางการแพทย์แบ่งออกเป็น ๒ ด้าน คือ
๑. การใช้เลเซอร์ในการบำบัดรักษาโรคโดยตรง
๒. การใช้เลเซอร์ในการวินิจฉัยโรค
ปัจจุบันทางการแพทย์นิยมนำเลเซอร์มาใช้ในการบำบัดรักษาโรคโดยตรง ส่วนการใช้เลเซอร์ในการวินิจฉัยโรคมีค่อนข้างน้อย
๑. การใช้เลเซอร์ทางด้านศัลยกรรม
โดยทั่วไปการศัลยกรรมต้องใช้มีดผ่าตัดซึ่งทำให้เกิดการเสียเลือดมาก จึงได้มีการนำเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นเลเซอร์ ที่ให้แสงเลเซอร์ความยาวคลื่น ๑๐,๖๐๐ นาโนเมตร กำลัง ๑๐-๑๐๐ วัตต์ มาใช้แทนมีดผ่าตัด เพราะที่ความยาวคลื่นนี้ อยู่ในช่วงอินฟราเรด ซึ่งเป็นความร้อน และถูกดูดซึมได้ดีในน้ำที่มีอยู่ในเซลล์ของร่างกายทุกส่วน ดังนั้น รอยผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๐.๑-๐.๔ มิลลิเมตร ทำให้เนื้อเยื่อไม่ช้ำเหมือนใช้ใบมีดจริง การผ่าตัดด้วยเลเซอร์จึงช่วยลดการเจ็บปวด และอาการบวมอักเสบหลังผ่าตัด นอกจากนี้ ในขณะที่ผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ความร้อนจากลำแสงเลเซอร์จะช่วยห้ามเลือดไปด้วย ทำให้เลือดออกน้อย และความร้อนจากลำแสงยังช่วยฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ในบริเวณที่ผ่าตัดได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ให้แสงเลเซอร์ที่เป็นความร้อน ดังนั้น ก่อนผ่าตัดต้องฉีดยาชา แต่การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด มีข้อควรระวัง เพราะแสงเลเซอร์มีความเข้มสูง และหลายชนิดที่ตามองไม่เห็น เช่น แสงจากเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ เลเซอร์นีโอดีเมียมแย็ก จึงต้องระวังการสะท้อนเข้าตาเพราะทำให้ตาบอดได้ แพทย์และพยาบาลทุกคนต้องสวมแว่นตา ป้องกันแสงเลเซอร์สะท้อนเข้าตาทุกครั้งในขณะที่ปฏิบัติงาน ตัวอย่างการใช้เลเซอร์ทางด้านศัลยกรรม ได้แก่
๑. การผ่าตัดเนื้องอกที่เสียเลือดมาก
การผ่าตัดอวัยวะที่เสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก เช่น ก้อนเนื้องอกในเส้นเลือด ศัลยแพทย์จะใช้เลเซอร์นีโอดีเมียมแย็ก ที่ให้แสงเลเซอร์ความยาวคลื่น ๑,๐๖๔ นาโนเมตร กำลัง ๑๐-๑๒๐ วัตต์ ซึ่งสามารถทะลุผ่านเนื้อเยื่อได้สูง เพราะถูกดูดซึมได้น้อยมากในน้ำและเลือด และมีสมบัติในการห้ามเลือดได้ดีมาก โดยความร้อนของลำแสง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแตก พร้อมทั้งปล่อยเกล็ดเลือดและสารทำให้เลือดแข็งตัวออกมาปิดรอยของแผลที่ผ่าตัด ขณะเดียวกัน เส้นเลือดก็จะถูกความร้อนเชื่อมปิดสนิท ด้วยสมบัติในการห้ามเลือดดังกล่าว ทำให้ศัลยแพทย์นิยมใช้เลเซอร์ชนิดนี้ ในการห้ามเลือด เพราะเนื้อเยื่อไม่เสียหาย และไม่ต้องเสียเวลาซับเลือดขณะที่ผ่าตัด นอกจากนี้ แผลผ่าตัดก็ดูไม่น่าเกลียด
เนื้องอกเส้นเลือดก้อนใหญ่เกิดบริเวณปาก
หลังผ่าตัดด้วยเลเซอร์
๒. การสลายเนื้อเยื่อด้วยเลเซอร์
แสงเลเซอร์นอกจากใช้ในการผ่าตัดและห้ามเลือดแล้ว ยังนำมาใช้ในการสลายเนื้อเยื่อ ได้แก่
- ในกรณีเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการ เช่น เซลล์มะเร็งและเนื้องอกต่างๆ สามารถใช้ความร้อนของแสงเลเซอร์เข้าไปจี้ เพื่อสลายเนื้อเยื่อเหล่านั้น ความร้อนจะทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อแตก แล้วระเหยกลายเป็นไอ
- ในกรณีการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ซึ่งไม่ต้องการผ่าตัดใหญ่ เพราะเกรงว่าจะเสียเลือดมาก ก็สามารถทำได้ โดยการเจาะรูเล็กๆ แล้วสอดเข็มเล็กๆ เพื่อนำแสงเลเซอร์เข้าไปจี้ตรงเนื้องอกให้ฝ่อแห้งตายไปในที่สุด
๒. การใช้เลเซอร์ทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง
ในระยะเริ่มแรกที่มีการนำเลเซอร์เข้ามาใช้ในทางการแพทย์ จะเน้นเรื่องศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามทั้งสิ้น ตัวอย่างการใช้เลเซอร์ทางด้านนี้ ได้แก่
๑. การกำจัดไฝและขี้แมลงวัน
การกำจัดไฝและขี้แมลงวันบนผิวพรรณ ถ้าใช้มีดผ่าตัด ก็อาจเกิดรอยแผลเป็น ศัลยแพทย์จึงนิยมใช้ความร้อน จากเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ จี้ที่ไฝหรือขี้แมลงวัน จนหายไปอย่างรวดเร็ว
การกำจัดไฝและขี้แมลงวันด้วยเลเซอร์
๒. การลบปานดำ ปานแดง และรอยสัก
การลบปานดำบนผิวหนัง ศัลยแพทย์จะใช้เลเซอร์นีโอดีเมียมแย็ก ซึ่งถูกดูดกลืนด้วยสีดำได้ดี ปานดำจะดูดความร้อนจากแสงเลเซอร์ ความยาวคลื่น ๑,๐๖๔ นาโนเมตร จนเซลล์แห้งตายกลายเป็นสะเก็ด และหลุดออกจากผิวหนัง สำหรับปานแดง ซึ่งมีเส้นเลือดสีแดงมาหล่อเลี้ยงมาก ต้องใช้แสงเลเซอร์ที่ถูกดูดกลืนโดยเฮโมโกลบินหรือสารสีแดงได้ดี ศัลยแพทย์จึงมักใช้เลเซอร์สีย้อม (dye laser) ซึ่งให้แสงสีเขียวที่มีความยาวคลื่น ๕๘๕ นาโนเมตร หรือใช้เลเซอร์ทับทิม ซึ่งให้แสงสีแดงที่มีความยาวคลื่น ๖๙๔.๓ นาโนเมตร เนื่องจากถูกดูดกลืนด้วยสารสีแดงได้ดีเช่นกัน ส่วนการลบรอยสักบนผิวหนัง โดยปกติรอยสักมีทั้งสีแดงและสีดำ ในการลบรอยสักสีแดงก็ใช้เลเซอร์ทับทิม ส่วนรอยสักสีดำมักใช้เลเซอร์นีโอดีเมียมแย็ก หรือเลเซอร์อาร์กอน ทั้งนี้ รอยสักโดยทั่วไปค่อนข้างลึก การลบรอยสักด้วยแสงเลเซอร์จึงต้องทำหลายครั้ง อาจทำถึง ๑๐ ครั้ง และอาจต้องใช้เวลาถึง ๓ เดือน ในการยิงแสงเลเซอร์ให้รอยสักนั้นแห้งแข็งแล้วหลุดออกไป แต่มักจะมีแผลเป็นเกิดขึ้น
การลอกปานแดงด้วยเลเซอร์ดายสีเขียว ๑ ครั้ง ก่อน (บน) และหลัง (ล่าง)
๓. ศัลยกรรมตกแต่งอื่นๆ
ศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อเสริมความงามอื่นๆ ได้แก่ การใช้เลเซอร์กรีดเปลือกตาเพื่อทำตา ๒ ชั้น การเจาะหู และการผ่าตัดเสริมทรวงอก เพราะการผ่าตัดด้วยเลเซอร์มีความเจ็บน้อย เลือดออกน้อย ทำให้สะดวกต่อการผ่าตัด และหลังการผ่าตัดก็บวมน้อยกว่าวิธีผ่าตัดโดยทั่วไป สำหรับเลเซอร์ที่ใช้ทางด้านนี้ได้แก่ เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ เพราะเป็นเลเซอร์ที่ให้ความร้อน ซึ่งมีผลต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อยมากประมาณ ๓-๕๐ ไมครอนเท่านั้น ทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงไม่บอบช้ำ แต่เพื่อให้การสะสมความร้อนที่ผิวหนังจากแสงเลเซอร์มีน้อยที่สุด ดังนั้น เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้จะเป็นชนิดปล่อยแสงเลเซอร์ออกไปเป็นช่วงๆ เพื่อให้ความร้อนที่ยิงลงมาที่ผิวหนัง ระเหยออกไปก่อน จึงจะยิงใหม่ ทำให้แผลผ่าตัดไม่ไหม้
การรักษารอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าด้วยเลเซอร์ ก่อนการรักษา (ซ้าย) และหลังการรักษา (ขวา)
ปัจจุบันศัลยกรรมตกแต่งที่กำลังได้รับความนิยมมากคือ การทำผิวใหม่ ซึ่งได้แก่ การลบรอยย่นบนใบหน้าหรือลบรอยตีนกา เลเซอร์ที่ใช้คือ เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ หรือเลเซอร์เออร์เบียมแย็ก โดยการกรอผิวที่เหี่ยวย่นทิ้งไป และจะเกิดผิวใหม่ที่สดใส และเต่งตึงกว่าเดิม ซึ่งวิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัด และไม่มีการเสียเลือด แต่เลเซอร์ทั้ง ๒ ชนิดนี้ให้แสงเลเซอร์ที่เป็นความร้อน ฉะนั้น จะรู้สึกร้อนมาก จึงจำเป็นต้องทาหรือฉีดยาชาก่อนการกรอผิว
นอกจากเลเซอร์ทั้ง ๒ ชนิดข้างต้นซึ่งเป็นเลเซอร์ร้อน ยังสามารถใช้เลเซอร์เย็น คือ เลเซอร์ฮีเลียม-นีออนที่ให้แสงสีแดง และพลังงานต่ำมาช่วยกระตุ้นผิวหน้าที่เหี่ยวย่น เพื่อให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ โดยเซลล์ใหม่นี้จะหดรัดตัวกว่า จึงทำให้ใบหน้าบริเวณที่ย่น ตึงขึ้นมา แต่วิธีนี้อาจใช้เวลานานถึง ๒ เดือน และไม่ได้ผลทุกราย
๓. ศัลยกรรมภายในร่างกายด้วยเลเซอร์
การผ่าตัดหรือการบำบัดรักษาโรคที่เกิดกับอวัยวะภายในร่างกายนั้นสามารถทำได้ โดยการส่งลำแสงเลเซอร์ ไปตามเส้นใยแก้วนำแสงที่ติดกับกล้องส่องภายใน (endoscope) ไปยังจุดที่ต้องการรักษา ตัวอย่างเช่น การอุดตัน ของเส้นเลือดหัวใจ โดยการยิงแสงเลเซอร์เข้าไปทำลายบริเวณที่อุดตัน เพื่อให้เลือดไหลผ่านได้สะดวก แทนการผ่าตัดเปิดทรวงอก การผ่าตัดอวัยวะภายในบริเวณช่องท้อง เช่น ถุงน้ำดี ไส้ติ่ง ก็สามารถยิงแสงเลเซอร์ผ่านเส้นใยแก้วนำแสงเข้าไปรักษาได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดสลายก้อนนิ่วในถุงน้ำดีทางหน้าท้อง แสงเลเซอร์ที่ยิงสามารถทำลายก้อนนิ่วให้มีขนาดเล็กลง และร่างกายจะขับเศษก้อนนิ่วออกมาได้เอง การรักษาแผลในกระเพาะอาหารที่มีเลือดออกมาก สามารถรักษาได้ โดยยิงแสงเลเซอร์ เข้าไปจี้ที่แผล เพื่อห้ามเลือดได้เช่นกัน
๔. การใช้เลเซอร์รักษาดวงตา
ส่วนประกอบของตาที่เกิดปัญหาค่อนข้างมาก คือ จอตา ซึ่งเป็นส่วนที่รับแสงอยู่ด้านหลังของลูกตา หากหลุดไป จะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด และตาอาจบอดได้ เลเซอร์ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการเชื่อมจอตา ได้แก่ เลเซอร์อาร์กอน ซึ่งให้แสงสีเขียวที่มีความยาวคลื่น ๕๑๔.๕ นาโนเมตร กำลัง ๑-๕ วัตต์ ซึ่งแสงสีเขียวสามารถทะลุผ่านแก้วตา และของเหลวในลูกตาเข้าไปได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อลูกตา แล้วเชื่อมจอตาที่หลุด ซึ่งอยู่ด้านหลังของลูกตา ให้ติดกลับเข้าไปใหม่ได้ โดยไม่ต้องผ่าตัดลูกตา ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจทำให้ตาบอด
๕. การใช้เลเซอร์แก้ปัญหาสายตาด้วยวิธีเลสิก (LASIK)
ปัจจุบัน การใช้เลเซอร์ในการฝนกระจกตา เพื่อรักษาสายตาสั้น กำลังได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ในด้านเลเซอร์การแพทย์
ลูกตา (eyeball) เป็นอวัยวะที่มีลักษณะค่อนข้างกลม ทึบแสง ทางด้านหน้าใสเพื่อให้แสงผ่านเข้าไปได้ ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
- กระจกตา (cornea) เป็นส่วนที่อยู่ทางด้านหน้าสุดของลูกตา มีลักษณะโปร่งใส
- ม่านตา (iris) ทำหน้าที่หดหรือขยาย เพื่อปรับแสง ให้ผ่านเข้าไปในลูกตา ในปริมาณที่เหมาะสม
- เลนส์ตา (lens) เมื่อแสงผ่านม่านตาจะถูกหักเหโดยเลนส์ตาไปตกบนจอตา
- จอตา (retina) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับภาพ แล้วส่งข้อมูลภาพ ของวัตถุ ไปสู่สมองตามเส้นประสาท (optic nerve)
ในกรณีของสายตาปกติ แสงที่ผ่านเลนส์ตา จะตกลงบนจอตาพอดี ภาพที่เห็นจะคมชัด ส่วนคนที่มีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง แสงจะไม่ตกลงบนจอ
การใช้เลเซอร์แก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติด้วยวิธีเลสิก
การแก้ไขปัญหาสายตา
การแก้ไขปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การสวมแว่นที่มีเลนส์รวมแสงชนิดต่างๆ การใส่เลนส์สัมผัส (contect lens) การผ่าตัดโดยใช้แสงเลเซอร์ โดยทุกวิธีมีการปรับการหักเหของแสงให้ตกบนจอตาได้พอดี
ส่วนประกอบของลูกตา
การแก้ไขปัญหาสายตาโดยการสวมใส่เลนส์แว่นตา อาจทำให้ผู้สวมใส่เสียบุคลิกภาพ หรือไม่สะดวกในการทำงานบางอย่าง หรือในกรณีใส่เลนส์สัมผัส ก็จะต้องคอยดูแลรักษาตลอดเวลาและอาจติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ด้านการแพทย์ในปัจจุบัน จึงคิดค้นวิธีการรักษาแบบใหม่ โดยใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัดรักษาที่บริเวณกระจกตา
แสดงการหักเหของแสงผ่านเลนส์ตา
วิธีการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์
ปัจจุบันการผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาโดยใช้เลเซอร์ มี ๒ วิธี คือ
๑) วิธีพีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy: PRK)
๒) วิธีเลสิก (Laser in Situ Keratomileusis: LASIK)
วิธีการผ่าตัดทั้ง ๒ วิธี จะใช้เลเซอร์เอกซิเมอร์ (Excimer Laser) เช่น อาร์กอนฟลูออไรด์ (ArF) ซึ่งให้แสงอัลตราไวโอเลต ที่ความยาวคลื่น ๑๙๓ นาโนเมตร ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ได้แก่ วิธีเลสิก ดังนั้น จะขอกล่าวเฉพาะวิธีนี้เท่านั้น
การผ่าตัดแก้ปัญหาสายตาสั้น ยาว หรือเอียงด้วยวิธีเลสิก มีขั้นตอนดังนี้
๑. นำเครื่องฝานกระจกตามาครอบที่ลูกตา เครื่องฝานกระจกตานั้นมีส่วนที่สำคัญ ๒ ส่วน คือ ใบมีด และหลอดสุญญากาศ
๒. หลอดสุญญากาศจะดูดลูกตาให้อยู่นิ่งไม่กลอกกลิ้งไปมา
๓. เลื่อนใบมีดให้ฝานชั้นแก้วตาเพียงบางส่วนให้เป็นฝาเปิด-ปิด (corneal flap)
๔. ทำการฝนกระจกตาโดยการยิงเลเซอร์เพื่อให้ได้ความโค้งตามที่ต้องการ
๕. เมื่อยิงเลเซอร์เสร็จ ก็ปิดฝาเลนส์แก้วตา