อุบัติการณ์
ไข้ออกผื่นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ คือ
ผื่นของโรคไข้ทรพิษหรือฝีดาษ
ซึ่งกระจายทั่วทั้งตัว
๑. ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ
โรคนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จนกระทั่งนายแพทย์เอดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) ชาวอังกฤษ ได้ค้นพบวัคซีนปลูกฝี เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ การปลูกฝีในประเทศไทย เริ่มในรัชกาลที่ ๓ ทำให้สามารถป้องกันไข้ทรพิษได้ และมีการกวาดล้างไข้ทรพิษ จนหมดไปจากโลก องค์การอนามัยโลกได้ประกาศการกวาดล้างไข้ทรพิษสำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๒๒
๒. โรคหัด
โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นที่เป็นกันมากรองลงมาจากไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ในสมัยที่ยังไม่มีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย เด็กเกือบทุกคน จะเป็นโรคหัด เนื่องจากเชื้อไวรัสโรคหัดติดต่อง่าย และแพร่กระจายได้เร็ว ต่อมาได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคหัด ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและได้ผลมากกว่าร้อยละ ๙๕ กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนชนิดนี้ฉีดให้เด็กไทยทั่วประเทศ ทำให้อุบัติการณ์ของโรคหัดลดลงใน พ.ศ. ๒๕๕๒ เหลือเพียงประมาณ ๑๐ คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ผู้ป่วยทั้งประเทศ จึงเหลือประมาณ ๗,๐๐๐ ราย แต่ยังพบการระบาดเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่บ้าง
๓. โรคหัดเยอรมัน
โรคนี้ทำให้เกิดไข้ออกผื่นที่พบได้บ่อยเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ ๙๕ ใน พ.ศ. ๒๕๕๒ มีอุบัติการณ์ของโรคหัดเยอรมันเพียง ๑ คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรให้ฉีดวัคซีนรวม ๓ โรคบรรจุในเข็มเดียวกัน คือ หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ในเด็กไทยทุกคน จึงพบโรคนี้น้อยมากในปัจจุบัน
๔. โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายเช่นกัน เด็กไทยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นก่อนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาจำหน่าย แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้จัดสรรวัคซีนนี้ให้แก่เด็กทุกคน ทำให้อุบัติการณ์ของโรค ลดลงไม่มาก เด็กไทยส่วนใหญ่จึงยังคงเป็นโรคอีสุกอีใส
การใช้วัคซีนป้องกันโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดไข้ออกผื่นดังกล่าวข้างต้น ทำให้อุบัติการณ์ของโรคที่จะเกิดไข้ออกผื่นในปัจจุบันลดลงอย่างมาก มีอยู่เพียงไข้ออกผื่นจากโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งมักเป็นผื่นชนิดที่ไม่จำเพาะ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่มีหลายชนิด เช่น ไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) อะดีโนไวรัส (adenovirus) ไข้หวัดใหญ่ (influenza) เอ็ปสไตน์-บารร์ไวรัส (Epstein-Barr virus) ส่าไข้ ตลอดจนไวรัสชนิดอื่นๆ มากกว่า ๑๐๐ ชนิดที่สามารถทำให้เกิดไข้ออกผื่นได้ โดยอุบัติการณ์ของไข้ออกผื่นชนิดที่ไม่จำเพาะนี้ จะพบในเด็กเล็ก มากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่