ชนิดของไข้ออกผื่น
ไข้ออกผื่นที่สำคัญจะกล่าวในรายละเอียดเป็นรายโรค ดังนี้
๑. โรคอีสุกอีใส และงูสวัด (Varicella and Herpes zoster)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคอีสุกอีใสและงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา (varicella) ไวรัสชนิดนี้ก่อโรคในมนุษย์เท่านั้น การติดเชื้อครั้งแรกทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส หลังจากนั้นเชื้อนี้จะซ่อนอยู่ในร่างกาย และถูกกระตุ้นให้ออกมาก่อโรคใหม่เป็นโรคงูสวัด โรคอีสุกอีใสติดต่อโดยละอองฝอยของน้ำลาย หรือการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอีสุกอีใสหรือโรคงูสวัด ส่วนโรคงูสวัด มิได้เกิดจากการรับเชื้อภายนอก แต่เกิดจากเชื้อที่ซ่อนอยู่ภายในถูกกระตุ้นให้ออกมาก่อโรค เชื้อโรคอีสุกอีใสแพร่ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน หรืออยู่ในห้องเดียวกัน โดยผู้ป่วยโรคอีสุกอีใสจะแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้น ๑-๒ วัน จนตุ่มแห้งเป็นสะเก็ด ส่วนผู้ป่วยเป็นโรคงูสวัดสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้โดยการสัมผัสกับตุ่มหรือแผลที่ผู้ป่วยเป็น โรคอีสุกอีใสมักพบในเด็ก แต่โรคงูสวัดมักพบในผู้สูงอายุ
อาการและการดำเนินโรค
ในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันของโรคนี้ เมื่อได้รับเชื้อโรคอีสุกอีใสแล้ว ประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ก็จะเริ่มเกิดอาการ ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร จากนั้นอีก ๑-๒ วัน จึงปรากฏลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง และกลายเป็นตุ่มน้ำใสผนังบาง ต่อมา จึงกลายเป็นตุ่มหนอง แล้วแตกออกและแห้งเป็นสะเก็ดในเวลาประมาณ ๓-๔ วัน โดยจะพบผื่นได้หลายระยะในช่วงเวลาเดียวกัน ผื่นจะหนาแน่นบริเวณใบหน้าและลำตัว
ผู้ป่วยมักมีอาการคันที่ผื่นเล็กน้อย อาจพบตุ่มน้ำหรือแผลบริเวณเยื่อบุต่างๆ ได้แก่ ในปาก ตา คอหอย และช่องคลอด ตุ่มใหม่ๆ จะเกิดขึ้นประมาณ ๕-๗ วัน จากนั้นผื่นก็จะค่อยๆ หายไปโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมที่ผิวหนัง
ผื่นของโรคอีสุกอีใส เป็นตุ่มนูนแดง (บน) ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นหนอง (ล่าง)
เด็กที่เป็นโรคนี้มักมีอาการไม่มาก อาจมีตุ่มขึ้นประมาณ ๒๕๐-๕๐๐ ตุ่ม ไม่ค่อยมีไข้ ส่วนใหญ่มักวิ่งเล่นได้ รับประทานได้ แม้ว่า ตุ่มกำลังขึ้น แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำจากสาเหตุต่างๆ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งและได้รับยาเคมีบำบัด หรือในทารกแรกเกิด อาจมีอาการรุนแรงมากได้ และอาจมีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก ในผู้ใหญ่ที่เป็นอีสุกอีใสจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็ก
แม้ว่าโดยทั่วไปอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่บางครั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ทำให้เกิดอาการ ที่รุนแรงได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมบนผื่นที่ผิวหนัง ทำให้เป็นฝีหนอง ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกอักเสบ หรือปอดอักเสบได้ การติดเชื้อมักจะเกิดจากเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococus aureus) หรือเชื้อสเตร็ปโทค็อกคัส ไพโอจีเนส (Streptococcus pyogenes) นอกจากนี้ เชื้ออีสุกอีใสอาจรุกรานเข้าสู่อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ทำให้เกิดปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือสมองอักเสบ ซึ่งมักพบในกรณีของผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคต่ำมาก เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว จะเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ตลอดไป จึงไม่มีใครเป็นโรคนี้ซ้ำอีก แม้จะมีไวรัสบางส่วนหลบซ่อนตัว อยู่ในบริเวณปมประสาทของไขสันหลัง แต่ไม่มีอาการใดๆ นอกจากเมื่อร่างกายมีภาวะอ่อนแอจากเหตุต่างๆ เชื้อที่ซ่อนอยู่ ก็จะถูกกระตุ้นให้ก่อโรคงูสวัด ผื่นของโรคงูสวัดจะมีลักษณะคล้ายผื่นของโรคอีสุกอีใส แต่จะเกิดเฉพาะบริเวณที่เส้นประสาท ของปมประสาทนั้นแผ่ไป ทั้งนี้ เนื่องจากลักษณะปมประสาทที่สันหลังจะมี ๒ ข้าง และแต่ละข้างจะมีเส้นประสาทแผ่ไปถึง เพียงกึ่งกลางของร่างกาย ดังนั้น โรคงูสวัดจึงเกิดบนร่างกายเพียงข้างเดียว
คำกล่าวของคนในสมัยก่อนที่ว่า ถ้าเป็นงูสวัดรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะการเกิดงูสวัดจากปมประสาท ๒ ข้างที่ระดับเดียวกันของร่างกายในเวลาเดียวกันมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก
งูสวัดที่เกิดบริเวณต้นขา (บน) และลำตัว (ล่าง)
การรักษา
การรักษาโรคอีสุกอีใส ประกอบด้วย การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาในกลุ่มเดียวกัน ยานี้ควรให้ผู้ป่วย เพื่อให้หายเร็วขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ ทารก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรให้ยาภายใน ๒-๓ วันหลังจากที่เริ่มมีอาการป่วย มิฉะนั้นจะไม่ค่อยได้ผล ผู้ป่วยโรคนี้ควรได้รับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ โดยการให้ยาลดไข้ ซึ่งควรใช้ยาพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการผิดปกติของตับที่เรียกว่า เรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ควรได้รับยาบรรเทาอาการคัน และแนะนำให้รักษาร่างกายให้สะอาด อาบน้ำด้วยสบู่วันละ ๒ ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนัง รวมทั้งควรตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการแกะเกาบริเวณผื่น ส่วนการรักษาโรคงูสวัดจะคล้ายกัน โดยให้ยาอะไซโคลเวียร์ และทำแผลทุกวันด้วยน้ำเกลือสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อถ้าแผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม
การป้องกัน
ปัจจุบันโรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน วัคซีนอีสุกอีใสทำจากเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใสได้ร้อยละ ๘๐-๙๐ ผู้ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อเป็นโรคจะมีอาการน้อย มีจำนวนตุ่มน้อย วัคซีนนี้ใช้ได้ในเด็กอายุ ๑ ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ โดยทั่วไปแนะนำให้ฉีด ๒ ครั้ง เมื่อเด็กอายุ ๑ ปี และช่วงอายุ ๔-๖ ปี ซึ่งอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนชนิดอื่นอยู่แล้ว สำหรับในผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีน ๒ ครั้ง ห่างกัน ๑ เดือน แนะนำให้ฉีดเฉพาะในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ในผู้ใหญ่ ก่อนการฉีดวัคซีนอาจตรวจเลือด เพื่อดูว่า มีภูมิคุ้มกันโรคนี้แล้วหรือยัง โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าเคยป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ แต่ในเด็ก ไม่ต้องตรวจเลือดก่อนฉีด
ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หากสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้ที่เป็นโรคอีสุกอีใสหรืองูสวัด สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ด้วยการฉีดวัคซีน ภายใน ๓-๕ วันหลังการสัมผัสผู้เป็นโรค
๒. โรคหัด (Measles or Rubeola)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสมีเซิลส์ (measles) ซึ่งก่อโรคเฉพาะในมนุษย์ เชื้อไวรัสมีเซิลส์อยู่ในน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด สามารถแพร่ได้ง่าย ผู้ป่วยโรคหัด จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในช่วง ๑-๒ วันก่อนแสดงอาการ จนถึง ๔ วันหลังปรากฏอาการผื่นที่ผิวหนัง
ผู้ป่วยโรคหัดมักมีตาแดงช้ำ
อาการและการดำเนินโรค
ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เมื่อได้รับเชื้อไวรัสนี้ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ จะมีอาการไข้สูง ตาแดง อาจพบอาการกลัวแสงร่วมด้วย อาจมีอาการน้ำมูกไหล และไอ จากนั้น จะพบผื่นขึ้นในปาก บริเวณกระพุ้งแก้มที่เรียกว่า จุดค็อปลิก (Koplik’s spot) หลังมีไข้ประมาณ ๒-๔ วัน จะเริ่มปรากฏผื่นที่ผิวหนัง เป็นจุดสีแดง โดยเริ่มปรากฏจากบริเวณไรผม หน้าผาก และหลังหูก่อน แล้วจึงกระจายไปบริเวณคอ ลำตัว แล้วกระจายต่อไปยังแขนและขา โดยผื่นจะหนาแน่นที่บริเวณใบหน้าและคอ
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงสุดในช่วงวันที่ ๕-๖ ของการเป็นโรค ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับผื่นขึ้นมากสุดจนถึงขา หลังจากนั้นไข้จะลดลง เมื่อใกล้หาย ผื่นแดงจะเริ่มมีสีคล้ำ กลายเป็นรอยสีน้ำตาลอยู่เป็นสัปดาห์ และอาการต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น
ผื่นโรคหัดบริเวณคอ
ในระยะที่มีไข้ ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย รับประทานได้น้อย ถ้าเป็นเด็กเล็ก หรือเด็กที่ขาดสารอาหาร และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันบกพร่องจากสาเหตุต่างๆ จะมีอาการหนักมาก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสหัดแพร่กระจายไปยังปอด สมอง และอวัยวะอื่นๆ รวมทั้ง อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจเสียชีวิตได้
ผื่นโรคหัดบริเวณลำตัว
เมื่อผู้ป่วยหายจากโรคหัดจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ตลอดชีวิต แต่บางรายซึ่งมีจำนวนน้อยมาก อาจเกิดอาการสมองอักเสบแบบช้าๆ ที่เรียกว่า subacute sclerosing panencephalitis หรือ SSPE ได้ในระยะเวลา ๗-๑๐ ปีต่อมา ผู้ป่วย SSPE จะมีอาการสูญเสียการมีสติสัมปชัญญะ มีอาการชัก และสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมอง จนในที่สุด อาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเสียชีวิต
ผื่นโรคหัดที่กระพุ้งแก้ม
ที่เรียกว่า จุดค็อปลิก
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะสำหรับรักษาโรคหัด ดังนั้น การรักษาโรคหัด จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง โดยให้ยาทุเลาอาการต่างๆ การให้สารน้ำ และอาหารอย่างเหมาะสม และรักษาภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ การให้วิตามินเอ จะช่วยลดอัตราการตายในผู้ป่วยโรคหัด จึงควรใช้วิตามินเอ เพื่อรักษาโรคหัด ในผู้ป่วยทุกราย
การป้องกัน
ในปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยโรคหัดน้อยลงมาก เนื่องจากมีการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการป้องกันโรค ในประเทศไทยเริ่มมีการใช้วัคซีนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนรวม ๓ โรคในเข็มเดียวกัน คือ วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ให้แก่เด็กไทยทุกคน โดยกำหนดให้ฉีดเข็มแรกในเด็กอายุ ๙-๑๒ เดือน และเข็มที่ ๒ อายุ ๒ ๑/๒ - ๖ ปี ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า ๓๐ ปี ยังมีความเสี่ยงต่อโรคหัด สมควรได้รับการฉีดด้วย ส่วนผู้สูงอายุที่เคยเป็นหัดแล้วตั้งแต่ก่อนเริ่มมีการใช้วัคซีนมักมีภูมิต้านทานโรคแล้ว นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังสามารถป้องกันโรคในผู้ที่ได้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหัด หากมีการให้ฉีดวัคซีนภายใน ๗๒ ชั่วโมง หลังการสัมผัสโรค
๓. โรคหัดเยอรมัน (Rubella)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา (rubella) ไวรัสนี้ก่อโรคเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น โรคนี้พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกันเหมือนไข้หวัดหรือโรคหัด ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ตั้งแต่ก่อนจะมีผื่นขึ้น ๒-๓ วัน จนถึงช่วงมีผื่นแล้ว ๑ สัปดาห์ มักพบการระบาดในโรงเรียนและที่ทำงาน อาการของโรคหัดเยอรมันจะมีไข้และมีผื่นคล้ายโรคหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าโรคหัด เกออร์ค เดอ มาทุน (George de Maton) แพทย์ชาวเยอรมัน เป็นคนแรกที่ให้คำอธิบายว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ที่ต่างจากโรคหัด จึงเรียกว่า โรคหัดเยอรมัน ในประเทศไทยโรคนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เหือด
อาการและการดำเนินโรค
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เยื่อบุตาอักเสบ มีไข้ต่ำถึงปานกลาง ประมาณ ๑-๕ วัน ผู้ป่วยบางรายมีผื่นขึ้น มีลักษณะสีชมพูอ่อนๆ ไม่นูน มักแยกกันชัดเจน โดยผื่นเริ่มขึ้นที่หน้าผากแถบไรผม กระจายมายังรอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น แล้วลามลงมาที่คอ แขนและขา จนกระจายไปทั่วตัวภายใน ๒๔ ชั่วโมง บริเวณใบหน้าไม่ค่อยมีผื่น ผื่นมักขึ้นวันเดียวกับที่มีไข้ อาจมีอาการคันร่วมด้วยหรือไม่มีก็ได้ ผื่นมักหายได้เองภายใน ๓-๖ วัน โดยทั่วไปจะจางหายอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งรอยดำให้เห็น นอกจากนี้ ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ มักคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณหลังหู หลังคอ และท้ายทอย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบ โดยเฉพาะผู้ป่วยวัยรุ่นและผู้ใหญ่ บางรายอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ หรือมีไข้โดยไม่มีผื่นก็ได้ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ที่ติดเชื้อหัดเยอรมันจะไม่แสดงอาการใดๆ เลย ต้องตรวจเลือดเท่านั้น จึงจะทราบว่าติดเชื้อ
ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันมีผื่นขึ้นตามลำตัว
โรคหัดเยอรมันไม่ใช่โรคร้ายแรง ถ้าเป็นในเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เองภายใน ๓-๕ วัน โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เมื่อหายจากโรคจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต ความสำคัญของโรคนี้คือ ถ้าเกิดในหญิงที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก (๑-๓ เดือน) เชื้อไวรัสอาจแพร่กระจายเข้าสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ถ้าแม่ติดเชื้อ ในระยะ ๑๒ สัปดาห์แรก จะทำให้ทารกพิการถึงร้อยละ ๘๕ และร้อยละ ๒๕ ในไตรมาสที่ ๒ ของการตั้งครรภ์ (๓-๖ เดือน) อาการของทารกที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด ได้แก่ ตาเป็นต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับและม้ามโต ซีด มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว สมองอักเสบ และปัญญาอ่อน ความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกันหลายอย่าง หรือเกิดเพียงอย่างเดียวก็ได้
ทารกแรกเกิดที่เป็นโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด
การรักษา
โรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่หายได้เอง ไม่มียาที่จำเพาะสำหรับการรักษา วิธีการรักษาคือ การรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยาลดไข้ ถ้ามีอาการคัน ให้ทายาแก้ผื่นคัน หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกที่มีอาการไข้และมีผื่นขึ้น หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหัดเยอรมัน แม้จะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม ควรไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาตรวจเลือดว่า มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ การตรวจเลือด ๒ ครั้ง ห่างกันประมาณ ๒ สัปดาห์ จะช่วยยืนยันว่า มีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าผลการตรวจยืนยันว่า หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกติดเชื้อหัดเยอรมัน แพทย์อาจพิจารณา และแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์
การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน ให้แก่เด็กนักเรียนหญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยมุ่งลดปัญหาโรคหัดเยอรมันในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันทารกติดเชื้อและพิการ ต่อมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ นโยบายเปลี่ยนเป็นการฉีดวัคซีนรวม คือ หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ให้แก่เด็กทุกคน เพื่อกำจัดโรคให้หมดไป สำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนนี้มาก่อน ควรฉีด ๑ เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ หลังฉีดวัคซีนจะต้องคุมกำเนิดไว้อย่างน้อย ๑ เดือน เพราะวัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อไวรัสที่มีชีวิตนำมาทำให้อ่อนแรง จึงต้องมีการคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีน และไม่ควรฉีดในหญิงตั้งครรภ์
๔. ส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ (Roseola Infatum)
สาเหตุและการติดต่อ
ส่าไข้หรือที่เรียกว่า ไข้ผื่นกุหลาบ มักเกิดจากเชื้อเฮอร์พีส์ไวรัสแบบชนิด ๖ ในคน (human herpesvirus type 6) หรือเอชเอชวี ๖ (HHV6) หรืออาจเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้บ้าง ติดต่อโดยการหายใจและได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ หรือจามรด โดยสัมผัสกับน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วยในระยะติดต่อ คือ ๒ วันก่อนมีไข้ และระยะมีไข้ถึง ๒ วันหลังจากไข้ลด เนื่องจากโรคนี้ มักเกิดในเด็กเล็กและทารก ดังนั้น การติดต่ออาจผ่านทางของเล่นที่ผู้ป่วยนำใส่ปาก หรือสัมผัสกับมือของผู้ดูแลเด็กที่ป่วย โรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อย มักติดต่อระหว่างเด็กที่อยู่บ้านเดียวกัน หรือเด็กที่เลี้ยงร่วมกัน
ผื่นส่าไข้บริเวณหลังหู
อาการและการดำเนินโรค
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ ๙-๑๐ วัน เด็กจะมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน ตัวร้อนตลอดเวลา ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่นๆ ร่วม บางรายอาจจะมีอาการหงุดหงิด งอแง เบื่ออาหาร หรือเจ็บคอ มีน้ำมูกใส ไอ หรือท้องเดินเล็กน้อย บางรายต่อมน้ำเหลืองบริเวณคออาจโต มีกระหม่อมหน้าโป่งตึง บางรายขณะไข้ขึ้นสูงอาจมีอาการชักโดยเฉพาะในเด็กอายุ ๖-๑๒ เดือน อาการไข้จะเป็นประมาณ ๓-๗ วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วงที่ไข้ลด จะมีผื่นเล็กๆ นูนเล็กน้อย สีแดงขึ้นที่หน้าอก หลัง ท้อง กระจายไปที่ใบหน้า คอและแขน ผื่นจะไม่คันและเป็นอยู่ไม่นานก็จะจางหายไป ขณะที่ผื่นขึ้นจะเป็นช่วงที่หายจากอาการป่วย เด็กจะดูเป็นปกติและร่าเริงดี โรคนี้หลังจากหายแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก
การรักษา
โรคนี้เป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายได้เอง วิธีการรักษาในระยะที่มีไข้สูงคือ ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวและรับประทานยาลดไข้ ส่วนในระยะผื่นขึ้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาใดๆ เพราะเป็นระยะที่กำลังจะหายป่วยแล้ว
ผื่นส่าไข้บริเวณลำตัว
การป้องกัน
วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ แยกผู้ป่วยและของเล่นจนพ้นระยะที่โรคติดต่อ ผู้ดูแลเด็กและผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน
๕. โรคอีดำอีแดง (Scarlet fever)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคอีดำอีแดง หรือโรคไข้สการ์เลต เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโทค็อกคัส ไพโอจีเนส ซึ่งก่อให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น ทอนซิลอักเสบ โรคติดเชื้อทางผิวหนังเป็นฝีหนอง ปอดอักเสบ ภายหลังการติดเชื้อยังทำให้เกิดโรคหัวใจรูมาติกเฉียบพลัน (acute rheumatic fever) หรือไตอักเสบเฉียบพลัน (acute glomerulonephritis) การติดเชื้อนี้พบบ่อยในเด็กอายุ ๕-๑๕ ปี หากเชื้อก่อโรคเป็นสายพันธุ์ที่สร้างสารพิษชนิดอีริโทรเจนิกทอกซิน (erythrogenic toxin) ซึ่งสารพิษนี้ จะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดโรคอีดำอีแดง เชื้อก่อโรคจะอาศัยอยู่ในลำคอของผู้ป่วย แต่อาจพบในลำคอของผู้ที่แข็งแรงดี โดยไม่มีอาการป่วยใดๆ ก็ได้ เชื้อนี้ติดต่อโดยการหายใจและได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วย หรือผู้ที่มีเชื้อนี้ในลำคอไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสน้ำลายหรือเสมหะ
อาการและการดำเนินโรค
หลังจากได้รับเชื้อประมาณ ๑-๗ วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก และปวดศีรษะ รวมทั้งอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาเจียนและปวดท้องร่วมด้วย ในลำคอผู้ป่วยจะแดงช้ำ ต่อมทอนซิลบวมและอาจมีหนองบนต่อมทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโตและเจ็บ หลังจากนั้น ๑๒-๔๘ ชั่วโมง จะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นบริเวณคอ หน้าอก และรักแร้ โดยจะกระจายไปตามลำตัวและแขนขา ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กๆ เมื่อคลำจะสากคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคัน ผื่นจะเด่นชัดและเห็นเป็นเส้นชัดตามร่องของผิวหนังตามบริเวณข้อพับ เรียกว่า เส้นพาสเทีย (Pastia’s lines) ผู้ป่วยจะมีใบหน้าแดงแต่รอบปากซีด ส่วนลิ้นเป็นฝ้าขาวและมีตุ่มแดงยื่นขึ้น เป็นตุ่มๆ กระจาย คล้ายผลสตรอว์เบอร์รี เรียกว่า ลิ้นสตรอว์เบอร์รีขาว (white strawberry tongue) อีก ๔-๕ วันต่อมา ฝ้าขาวที่ลิ้นจะลอกเป็นสีแดง ทำให้ลิ้นเป็นเหมือนผิวสตรอว์เบอร์รีแดง (red strawberry tongue)
ผื่นเริ่มจางหายหลังไข้ขึ้นประมาณ ๓-๔ วัน อาการไข้และเจ็บคอมักคงอยู่ประมาณ ๕-๖ วัน แต่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หลังจากผื่นจางได้ประมาณ ๑ สัปดาห์ ผิวหนังจะลอกหลุดเป็นขุย โดยเริ่มจากใบหน้ามาที่ลำตัว บริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้าตามลำดับ
ลักษณะลิ้นเหมือนผิวสตรอว์เบอร์รี่ในผู้ป่วยโรคอีดำอีแดง
อาการแทรกซ้อนของโรคอีดำอีแดงหากไม่ได้รับการรักษา คือ การติดเชื้ออาจลุกลามเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ หรืออาจรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่กระดูกและข้อ หรือในสมอง ซึ่งอาจรุนแรงมากได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับยาปฏิชีวนะไม่ครบ อาจเกิดโรคไตอักเสบหรือโรคไข้รูมาติกภายหลังจากหายป่วย จากโรคอีดำอีแดงแล้ว ประมาณ ๑-๒ เดือน
ภายหลังหายป่วยแล้ว ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มักจะไม่เป็นโรคซ้ำอีก แม้ว่าอาจจะยังมีการติดเชื้อสเตร็ปโทค็อกคัส ไพโอจีเนส ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคทอนซิลอักเสบ หรือแผลฝีหนองซ้ำได้อีก
การรักษา
โรคอีดำอีแดงควรรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ โรคนี้มีการตอบสนองดีต่อยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (penicillin) กลุ่มเซฟาโลสปอริน (cephalosporin) หรือกลุ่มอีริโทรไมซิน (erythromycin) และควรให้ยานาน ๑๐ วัน แม้ว่าอาการจะหายแล้ว ก็ยังต้องใช้ยาต่อ จนครบ ๑๐ วัน เพราะหากให้ไม่ครบ ๑๐ วัน จะไม่ป้องกันการเกิดโรคไตอักเสบหรือหัวใจรูมาติกที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง ผู้ป่วยที่มีอาการมากควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และอาจต้องใช้ยาฉีด
การป้องกัน
วิธีป้องกันโรคที่สำคัญคือ การแยกผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะแล้วอย่างน้อย ๒๔ ชั่วโมง จึงไม่สามารถจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ วิธีป้องกันโดยทั่วไปคือ รักษาร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนเต็มที่ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่ให้เป็นหวัด ไม่อยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด รักษาสุขอนามัยซึ่งจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน
๖. โรคมือ เท้า ปาก (Hand-foot-and-mouth disease)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคมือ เท้า ปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) หลายตัว เชื้อไวรัสตัวที่พบว่าเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดคือ เชื้อไวรัสคอกซ์แซกกีเอ ๑๖ (coxsackie virus A16) และเอนเทอโรไวรัส ๗๑ (EV 71) เป็นคนละชนิดกับโรคเท้าและปาก (Foot-and-mouth disease) ซึ่งเกิดกับโค กระบือ โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก มักระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล ติดต่อค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วย มักมีการแพร่เชื้อผ่านของเล่น ที่เด็กวัยนี้ชอบนำเข้าปาก เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในอุจจาระเป็นเวลานานหลายสัปดาห์แม้จะหายจากโรคแล้ว ดังนั้น ผู้ดูแลเด็กที่ป่วยอาจสัมผัสเชื้อไวรัสขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม และนำไปติดเด็กคนอื่น การระบาดมักพบในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีอากาศชื้น
อาการและการดำเนินโรค
หลังจากได้รับเชื้อไวรัสประมาณ ๓-๗ วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยไม่สบายตัว และเจ็บคอ โดยจะมีอาการ ประมาณ ๑-๒ วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีแผลร้อนในเกิดขึ้นในปาก ลักษณะเป็นจุดแดงๆ มีเม็ดพองใส ต่อมาจะแตก และกลายเป็นแผล พบที่เพดานปากและเยื่อบุกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ข้าง ที่ผิวหนังของผู้ป่วยจะมีผื่นเป็นจุดแดงเล็กๆ อาจนูนเล็กน้อย และมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขอบแดง ไม่มีอาการคัน พบมากที่ฝ่ามือฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบตามแขนขา บางรายมีผื่นที่ผิวหนัง และแผลในปาก น้อยมาก และอาจมีไข้น้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ปรากฏ ในขณะที่บางรายอาจมีไข้สูง รับประทานได้น้อย น้ำลายยืด เจ็บปากมาก หรือมีผื่นจำนวนมาก
โรคมือ เท้า ปาก มีผื่นเป็นเม็ดตุ่มใสบริเวณฝ่ามือ (บน) และ ฝ่าเท้า (ล่าง)
โดยปกติแล้ว เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปาก อาการนี้จะเป็นอยู่ประมาณ ๒-๓ วัน จากนั้นจะหายเองโดยที่ผื่นค่อยๆ เริ่มตกสะเก็ด และหายไปภายใน ๗-๑๐ วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นให้เห็น และไม่ค่อยมีโรคแทรกซ้อน แต่บางรายที่เป็นมาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ เพราะไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือด บางรายมีอาการอุจจาระร่วงด้วย ทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่รุนแรงมาก ซึ่งพบน้อยมาก และมักเกิดจากการติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส ๗๑ ได้แก่ ภาวะก้านสมองอักเสบ (brainstem encephalitis) น้ำท่วมปอด (acute pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเหล่านี้ มักมีอาการไข้สูง ชักกระตุก ซึม และอาจหอบจนตัวเขียว มักเกิดรวดเร็วในเวลา ๑-๓ วัน ซึ่งอันตรายอย่างมาก และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง หรือเสี่ยงต่อการเกิดความพิการหลังจากหายจากอาการป่วยได้มาก ผู้ป่วยที่หายจากโรคมือ เท้า ปากอาจเป็นโรคนี้ซ้ำได้ แต่ไม่บ่อย
การรักษา
โรคมือ เท้า ปากเป็นโรคที่หายได้เอง และไม่มียาที่จำเพาะสำหรับการรักษา วิธีการรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และบรรเทาอาการ ได้แก่ การลดไข้ และลดอาการเจ็บปวดจากแผลในปาก รวมทั้งผู้ปกครองสังเกตอาการ ที่บ่งถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไข้สูง ซึมลง อาเจียนบ่อยๆ ไม่ยอมรับประทานอาหารและนํ้า ซึ่งจะต้องรีบนำผู้ป่วยเข้ารักษา ในโรงพยาบาล
การป้องกัน
การป้องกันและควบคุมไม่ให้โรคนี้ระบาด คือ การแยกเด็กที่ป่วยไม่ให้ไปโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเล่นกับเด็กคนอื่น ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ (ใช้แอลกอฮอล์ถูมือจะฆ่าเชื้อไม่ได้) โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาหาร และสัมผัสกับน้ำมูกหรือนํ้าลายของเด็ก เนื่องจากเชื้อจะขับออกได้ทางอุจจาระของผู้ป่วยเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ผู้ดูแลจึงต้องเน้นเรื่องการล้างมือหลังจากช่วยดูแลเด็กที่ขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ซึ่งเด็กที่ป่วยอาจปล่อยเชื้อทางอุจจาระได้นาน แม้เด็กจะหายป่วยแล้ว รวมทั้งต้องเน้นเรื่องการทําความสะอาดพื้นที่เปื้อน ตลอดจนเครื่องใช้ ของเล่น และเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้ การทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมให้ใช้น้ำยาฟอกขาวโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ๐.๕-๑ เปอร์เซ็นต์ น้ำยาล้างพื้น หรือผงซักฟอกก็ได้ หากมีการระบาดมากในโรงเรียนอนุบาลหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก อาจต้องปิดชั่วคราว และทำความสะอาดของเล่น และสิ่งแวดล้อม จะช่วยทุเลาการระบาดได้
๗. โรคฟิฟท์ (Fifth Disease) หรืออีริทีมา อินเฟกทิโอซัม (Erythema infectiosum)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคฟิฟท์เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัสบี ๑๙ ในคน (human parvovirus B19) พบได้ไม่บ่อย ติดต่อโดยการหายใจ และได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจามรด มักพบในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่น
อาการและการดำเนินโรค
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส ส่วนหนึ่งจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการใดๆ แต่ส่วนใหญ่เมื่อได้รับเชื้อแล้ว จะมีอาการไข้ ไม่สบายเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อาจพบการปวดข้อ หรือมีข้ออักเสบ จากนั้นจะมีผื่นเกิดขึ้น ผื่นมีลักษณะเฉพาะ มี ๓ ระยะ คือ ระยะแรกมีผื่นแดงจัดที่แก้ม ลักษณะเหมือนถูกตบหน้า (slapped-cheek) รอบปากขาวซีด ระยะที่ ๒ ผื่นจะกระจายอย่างรวดเร็ว ไปยังลำตัว และแขนส่วนบน เป็นผื่นแดงนูนเล็กน้อย ระยะที่ ๓ ผื่นจะเริ่มจางตรงกลางก่อน จึงมีลักษณะคล้ายผ้าลูกไม้ เห็นเป็นร่างแห มักจะคันบริเวณผื่นขึ้นขณะที่มีผื่นขึ้น ไข้มักลดลงและอาการทั่วไปดีขึ้น หลังจากนั้นผื่นก็จะหายได้เองภายใน ๓ สัปดาห์ ผื่นอาจถูกกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น เมื่อถูกแสงแดด ความร้อน การออกกำลังกาย และความเครียด
ผู้ป่วยโรคฟิฟท์มีผื่นแดงจัดที่แก้ม ลักษณะเหมือนถูกตบหน้า
โรคนี้มีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่อาจพบภาวะแทรกซ้อน คือ ซีด หรือไขกระดูกทำงานผิดปกติในการผลิตเม็ดเลือด มักพบเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เมื่อหายจากโรคนี้แล้วมักไม่เป็นซ้ำ
การรักษา
โรคนี้หายได้เองโดยไม่ต้องให้การรักษาที่จำเพาะ การรักษาเป็นเพียงเพื่อบรรเทาอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการซีดมาก ต้องได้รับการให้เลือด
การป้องกัน
โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น และควรแยกผู้ป่วยโดยเฉพาะในช่วงที่ผู้ป่วยมีไข้
๘. โรคคาวาซากิ (Kawasaki)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคคาวาซากิมีความสำคัญเนื่องจากเป็นสาเหตุของโรคหัวใจชนิดที่ไม่ได้เป็นแต่กำเนิดในเด็ก โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุช่วง ๑-๕ ปี แต่พบได้น้อยในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า ๖ เดือน และเด็กโตที่มีอายุมากกว่า ๑๒ ปี สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อจุลชีพบางชนิด ยังไม่ทราบว่า มีสาเหตุจากเชื้อชนิดใด และวิธีการติดต่อ โดยทั่วไป ไม่พบว่า ผู้ที่เป็นโรคนี้ติดต่อไปยังผู้อื่นได้ โรคนี้มีรายงานครั้งแรกโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า โทมิซากุ คาวาซากิ (Tomisaku Kawasaki) จึงมีชื่อโรคเป็นภาษาญี่ปุ่นตามชื่อของแพทย์ผู้ค้นพบ
อาการและการดำเนินโรค
ผู้ป่วยมีอาการไข้นานหลายวัน และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองโต ตาแดง ปากแดง ผื่นขึ้นตามตัว และมือเท้าบวม ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียมาก หลังจากเป็นไข้ ประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ ผิวหนังที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าจะลอก หากไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และโป่งพอง ซึ่งเกิดประมาณ ๑ ใน ๔ ของผู้ป่วย ผลจากเส้นเลือดอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิต ในเวลาต่อมาได้ อาจเกิดอาการทางหัวใจตั้งแต่วัยเด็ก หรือในผู้ใหญ่วัยตอนต้นๆ เนื่องจากโรคนี้ มีการดำเนินโรคที่เฉพาะ ในช่วงต้นของโรค จึงอาจมีอาการเหมือนโรคไข้ออกผื่น จากเชื้ออื่นๆ ดังนั้น ได้มีการตั้งเกณฑ์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ในช่วงต้น โดยจะต้องตรวจให้แน่ใจก่อนว่า ไม่ใช่โรคอื่น การวินิจฉัยเพื่อรักษาโรคนี้ จะต้องมีอาการอยู่ในเกณฑ์ดังนี้
ผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ตาจะแดงช้ำ
๑. ผู้ป่วยจะต้องมีไข้สูงนานอย่างน้อย ๕ วัน โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา มักมีไข้นานเฉลี่ย ๑๑ วัน แต่บางรายอาจนานถึง ๓-๔ สัปดาห์
๒. ผู้ป่วยจะต้องมีอาการ ๔ ใน ๕ ข้อ ดังต่อไปนี้ โดยอาการอาจไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่อาจเกิดขึ้นทีละอาการต่อเนื่องกัน
๑) เยื่อบุตาขาวอักเสบทั้ง ๒ ข้าง
๒) ผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย พบผื่นได้หลายแบบที่พบบ่อยคือ ผื่นแดงนูน กระจายทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณลำตัวและรอบก้น ซึ่งต่อมาผิวหนังบริเวณรอบก้นจะหลุดลอก แต่จะไม่เป็นผื่นชนิดตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง
๓) ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปากมีการเปลี่ยนแปลง คือ ริมฝีปากแดงจัดและแห้งแตก เยื่อบุช่องปากและลิ้นบวมแดง ผิวมีตุ่มขรุขระคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี
๔) มือและเท้าบวมแดง ในสัปดาห์ที่ ๒ หลังจากมีไข้ จะพบว่าผิวหนังบริเวณรอบๆ เล็บเกิดการหลุดลอก รวมทั้งปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า
๕) ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมจากเกณฑ์การวินิจฉัยข้างต้น หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ท้องเสีย ถุงน้ำดีอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ เมื่อตรวจเลือด จะพบความผิดปกติ ที่บ่งบอกถึงการอักเสบของร่างกาย มีปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มสูงขึ้น และอาจพบผลเลือดอื่นๆ ที่บ่งบอกถึงการทำงานที่ผิดปกติ ของอวัยวะหลายอย่างได้ แต่บางรายอาจมีอาการไม่ครบเกณฑ์การวินิจฉัย ต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม
โรคคาวาซากิเป็นโรคที่หายได้เอง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจใช้เวลานาน ๒-๔ สัปดาห์กว่าไข้จะลดลง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ แต่พบได้ไม่มาก ซึ่งมักเกิดประมาณ ๖-๘ สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นช่วงที่อาการและอาการแสดงอื่นๆ เริ่มดีขึ้นแล้ว หรืออาจเกิดหลังจากนั้นอีกหลายเดือน หรือเป็นปี เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงสูงจากการอักเสบของเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายที่สงสัยว่า จะเป็นโรคนี้ จะต้องได้รับการตรวจเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจหรือหลอดเลือดแดงอื่นๆ อย่างละเอียด ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม มักไม่มีปัญหาในระยะยาว
ผู้ป่วยโรคคาวาซากิ ปากมีลักษณะบวมแดง
การรักษา
วิธีการรักษาพบว่า เมื่อให้อิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) ขนาดสูง ก่อนวันที่ ๑๐ ของอาการไข้ ร่วมกับการให้รับประทานยาแอสไพริน สามารถลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติของเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลงได้มาก และลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่หัวใจลงได้ แต่ในรายที่พบว่า ยังมีความผิดปกติของเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจ จะต้องมีการติดตามการรักษาเป็นเวลานาน ตามความรุนแรงของความผิดปกติ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติภายหลังได้รับการรักษาที่เหมาะสม สามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่จะมีโอกาสเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในภายหลัง
ช่วงหายของโรคคาวาซากิ ผิวหนังที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าจะลอก
การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน และยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน เพราะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร
๙. โรคไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
สาเหตุและการติดต่อ
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ (dengue) ไวรัสชนิดนี้มี ๔ สายพันธุ์ สามารถก่อโรคได้เท่ากัน ในประเทศไทย พบการติดเชื้อไวรัสทั้ง ๔ สายพันธุ์ตลอดมา เชื้อไวรัสชนิดนี้มียุงลายเป็นพาหะ ทั้งยุงลายบ้านและยุงลายสวน เมื่อยุงกัดผู้ป่วย ในช่วงที่มีไข้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าไปแบ่งตัวในยุง เมื่อยุงลายกัดคน ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสออกมากับน้ำลาย ทำให้คนที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อไวรัส ไวรัสชนิดนี้ไม่ติดต่อโดยตรงจากผู้ป่วยไปสู่คนอื่น แต่จะต้องมียุงเป็นพาหะ ซึ่งยุงลายชอบกัดในเวลากลางวัน โรคนี้มักพบในเด็กวัยเรียน จึงมักมีการระบาดในโรงเรียน หากในบริเวณโรงเรียนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
โรคไข้เลือดออกระยะไข้
จะมีหน้าแดง ปากแดง
อาการและการดำเนินโรค
หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสเด็งกี่กัด ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ อาการมีตั้งแต่น้อยมาก จนไม่มีอาการใดๆ หรือมีไข้เล็กน้อยประมาณ ๒-๓ วัน และหายไปเอง จนถึงมีอาการ ของไข้เด็งกี่และไข้เลือดออก ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นไข้เด็งกี่จะมีอาการไข้สูง หน้าแดง ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดในกระบอกตา มีอาการประมาณ ๓-๕ วัน และหายไปเอง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกจะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้เด็งกี่เรียกว่า ระยะไข้ หากทำการทดสอบทูนิเกต์ (tourniquet test) โดยการรัดที่ต้นแขน มักเห็นจุดเลือดออก เกิดขึ้นบริเวณข้อพับแขน ต่อมาในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง คือ ประมาณหลังวันที่ ๓-๕ ของอาการไข้ จะมีการรั่วของพลาสมาออกมาจากเส้นเลือด ซึ่งอาจมีการรั่วมาก จนทำให้เลือดข้น ปริมาตรเลือดในร่างกายลดลง จนเกิดอาการช็อกได้ และอาจมีเลือดออก ที่อวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดาออก อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ระยะนี้เรียกว่า ระยะวิกฤต ซึ่งจะเป็นอยู่นานประมาณ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง จากนั้นจึงจะเข้าสู่ระยะหาย ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายตัวขึ้น และเริ่มรับประทานอาหารได้ ในช่วงหายป่วยนี้ มักมีผื่นขึ้น มีลักษณะเป็นผื่นแดง ไม่นูน คล้ายจุดเลือดออก กระจายหนาแน่น โดยจะปรากฏดวงขาวๆ แทรกบนผื่นสีแดง กระจายอยู่ทั่วไป บางคนอาจมีอาการคัน โดยทั่วไปเมื่อเห็นผื่นขึ้น แสดงว่า กำลังจะหายป่วยแล้ว ผื่นมักเป็นอยู่ประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็จะหายไป
อาการของโรคไข้เลือดออกและไข้เด็งกี่ในระยะไข้มักแยกไม่ได้จากโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่มีอาการมากกว่า มีไข้สูงลอย แม้รับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ก็ไม่ลด นอกจากนี้มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผู้ป่วยหลายรายรับประทานไม่ได้เลย โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีอาการหนักกว่าไข้เด็งกี่ หรือไข้จากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ และในระยะต้นไม่สามารถบอกได้ว่า ผู้ป่วยรายใดติดเชื้อไข้เด็งกี่ แล้วจะมีอาการรุนแรงจนเป็นโรคไข้เลือดออก หรือจะมีอาการไม่มาก เป็นแค่ไข้เด็งกี่หรือไข้เล็กน้อย หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ จะต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบไข้เลือดออกไว้ก่อน
ผื่นระยะหายของไข้เลือดออก มีลักษณะเป็นผื่นแดงไม่นูน และมีดวงสีขาวๆ แทรกบนผื่นแดง ทั้งลำตัวและขา
โรคไข้เลือดออกหายได้เอง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยมักจะหายเป็นปกติภายใน ๕-๗ วัน แต่หากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อก เลือดออกมาก ตับวาย หรือมีอาการทางสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่อ้วนหรือมีโรคประจำตัว เช่น ธาลัสซีเมีย มักเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก
ยุงลาย พาหะของโรคไข้เลือดออก
การรักษา
การรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นวิธีการรักษาแบบประคับประคอง คือ ให้ยาลดไข้อย่างเหมาะสม โดยไม่ให้ใช้ยากลุ่มแอสไพริน เพราะอาจเกิดปัญหาเลือดออกในทางเดินอาหารได้ แพทย์มักนัดให้ทำการตรวจเลือดเป็นระยะๆ ในช่วงระยะไข้ มักไม่ใช่ช่วงที่อันตราย แพทย์อาจให้สังเกตอาการที่บ้าน แต่เมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤตผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาโดยการให้สารน้ำทดแทนทางหลอดเลือดดำ ตามชนิดและขนาดที่เหมาะสม เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะช็อก และรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ให้เลือดเมื่อมีการเสียเลือด โดยประคับประคองไม่ให้เกิดปัญหาขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รักษาภาวะตับวายและไตวาย โรคนี้ยังไม่มียาจำเพาะในการรักษา
กองควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวงจรชีวิตยุงลาย
และรณรงค์วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก
ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และในช่วงที่จะเข้าระยะวิกฤต ควรรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยทันที หากพบว่า มีอาการกระสับกระส่าย ซึม หอบ เลือดออก อาเจียนมาก หรือรับประทานได้น้อยหรือไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันกาล อาจเสียชีวิตได้ การรักษาอย่างเหมาะสมและติดตามผลอย่างใกล้ชิด จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดความรุนแรงของโรคได้
การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยวิธีต่างๆ เป็นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
การป้องกัน
โรคไข้เลือดออกยังไม่มีวัคซีน สำหรับป้องกัน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่าให้อ้วน เพราะภาวะอ้วน มักทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง และการรักษาด้วยสารน้ำ ทางหลอดเลือดดำ ทำได้ยาก
การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยวิธีต่างๆ เป็นการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
การควบคุมโรคที่สำคัญคือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยุงลายชอบอยู่ในชุมชนเมืองที่มีแหล่งน้ำขัง และชอบวางไข่ ในน้ำขังนิ่ง ในภาชนะหรือสิ่งที่สามารถกักเก็บน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว กระถางต้นไม้ เศษกระถางแตก แจกัน แม้กระทั่งกาบใบไม้ ซึ่งกักน้ำได้แม้จะไม่มาก แต่หากมีน้ำขังนิ่งอยู่นาน ยุงลายก็สามารถวางไข่ได้ จึงควรจะคว่ำกระถาง และภาชนะต่างๆ ที่อาจจะกักน้ำฝนได้ เปลี่ยนน้ำในแจกันบ่อยๆ ใส่เกลือ ผงซักฟอก หรือทรายอะเบตในภาชนะที่ใช้เก็บน้ำ โดยเลือกตามความเหมาะสม ชุมชนที่มียุงมากควรมีการฉีดสารเคมีฆ่ายุงเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ซึ่งอาจเป็นไข้เลือดออก ควรระวังไม่ให้ยุงกัด เพราะยุงอาจได้รับเชื้อซึ่งอาจนำเชื้อไวรัสไปแพร่ให้ผู้อื่นได้