เล่มที่ 39
เพลงกล่อมเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมา

            เพลงกล่อมเด็ก หรือบทเห่กล่อมเด็ก เริ่มต้นขึ้นในหน่วยเล็กที่สุดของสังคม คือ ครอบครัว เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายาย และญาติๆ ก็จะช่วยกันเลี้ยงดู และเห่กล่อมให้เด็กนอนหลับพักผ่อน บางครั้งก็อาจเป็นการปลอบ ให้เด็กหยุดร้องไห้ เนื่องจากเพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นมาจากความรักความผูกพัน และการเลี้ยงดูเด็ก ที่ดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับวิถีชีวิตในทุกครอบครัว บทเพลงกล่อมเด็กจึงมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษาทั่วโลก สังคมไทยเรา ก็มีเพลงกล่อมเด็กที่ใช้เห่กล่อมจดจำสืบต่อกันมาจากรุ่นพ่อแม่ จนถึงรุ่นลูกหลาน ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีการรวบรวมจดบันทึก เป็นหนังสือหรือตำรา จึงไม่ปรากฏหลักฐานที่บ่งบอกว่า เพลงกล่อมเด็กเพลงแรกเกิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้แต่งเพลงกล่อมเด็กบทใด


การสาธิตการร้องเพลงกล่อมลูกของทุกชาติทุกภาษา ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี
ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

            การเห่กล่อมและปลอบเด็กน่าจะเริ่มต้นจากการเปล่งเสียงเอื้อนยาวซ้ำๆ เช่น เอ่...เอ๊... อื่อ...อื๊อ หรือ ฮา...เอ้อ... หรือ ฮึม... ฯลฯ ในขณะที่ผู้ใหญ่ไกวเปลให้เด็กนอน หรือเมื่ออุ้มเด็กแนบไว้กับอกและโยกตัวเบาๆ โดยออกเสียงเอื้อนกล่อมไปพร้อมๆ กับลูบหลัง หรือตบก้นเด็กเบาๆ ไปด้วย เพื่อให้เด็กฟังเพลินจนหลับไป หรือหยุดร้องไห้ จากการเปล่งเสียงเอื้อนดังกล่าวนี้ ต่อมา จึงได้มีการแต่งถ้อยคำบทสั้นๆ เพิ่มเป็นหลายบท จนในที่สุดก็มีเพลงกล่อมเด็กที่ร้อยกรองเป็นบทเห่กล่อมที่ยาวขึ้นอีกหลายเพลง เนื้อเพลงที่คิดแต่งขึ้นนั้นเกิดจากประสบการณ์ของผู้ร้อง โดยเริ่มจากถ้อยคำที่ถ่ายทอดความรัก ความห่วงใย ความเอ็นดู บางบทเป็นการหยอกล้อ ปลอบ หรือขู่ เพลงกล่อมเด็กในบางท้องถิ่นมีเนื้อหาเชิงสั่งสอนอบรมเด็กให้มีความประพฤติดี บางเพลงใช้สำนวนเสียดสีประชดประชันเพื่อตักเตือนไม่ให้ทำความชั่ว บทเห่กล่อมเด็กหลายเพลงหยิบยกธรรมชาติและชีวิตสัตว์ มาผูกเรื่องเล่าเป็นนิทาน บางเพลงได้นำเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้าน หรือตำนานของท้องถิ่นมาแต่งเป็นบทกลอนกล่อมเด็กด้วย จึงทำให้มีผู้สันนิษฐานไว้อีกทางหนึ่งว่า เพลงกล่อมเด็ก น่าจะมีวิวัฒนาการมาจากการเล่านิทานหรือนิยายให้เด็กฟัง ในเวลาก่อนนอน เพื่อให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน และรู้สึกอุ่นใจว่า ขณะที่นอนหลับไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย

            เพลงกล่อมเด็กของไทยเป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นทั่วทุกภาคร้องสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน โดยอาศัยการฟังและจดจำ ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นตัวหนังสือ จึงอาจมีบางเพลงที่เนื้อร้องผิดเพี้ยนแตกต่างไปบ้างแม้จะเป็นเพลงชื่อเดียวกัน จนมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีผู้รวบรวมเพลงกล่อมเด็กของไทยไว้เป็นหลักฐานครั้งแรก ชื่อว่า นายโมรา หรือ เปโมรา* แต่งหนังสือชื่อ ฉันท์เยาวพจน์ พิมพ์ออกเผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยได้นำบทร้องกล่อมเด็ก คำร้องเล่นของเด็ก และคำร้องเบ็ดเตล็ดต่างๆ มาตั้งเป็นบทกระทู้ แล้วแต่งบทร้อยกรองเป็นบทขยาย เช่น



บทกล่อมเด็ก

     แม่ศรีเอย    แม่ศรีสาหงส์    เชิญเจ้ามาลง  
เอาแม่สร้อยทอง
     เชิญปี่เชิญกลอง    เชิญแม่ทองศรีเอย

บทขยายของเปโมราแต่งเป็นกลอนสุภาพ

     แม่ศรีสาหงส์มาลงร้อง    
ทรงนางสร้อยทองอย่าเชือนเฉย
เชิญทั้งปี่กลองของเคย        
เชิญแม่ทองศรีเอยมาไวไว

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ทรงปรารภว่า ได้รับการสอบถามอยู่เสมอๆ ว่า เมื่อใด จะมีการรวบรวมเพลงสำหรับเด็กนำมาตีพิมพ์เหมือนอย่างประเทศอื่นบ้าง จึงได้ทรงมอบหมายให้หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก  จิตรกถึก) รวบรวมบทกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่นของมณฑลกรุงเทพฯ โดยนำมาจากผลงานของเปโมรา ที่จัดพิมพ์ไว้ และค้นคว้ารวบรวมจากที่อื่นๆ จนได้บทร้องจำนวน ๑๖๘ บท สำหรับการจัดพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓  ซึ่งในการพิมพ์ครั้งนั้นได้จัดแบ่งบทร้อง หรือเพลงสำหรับเด็กเป็น ๓ หมวดใหญ่ คือ
  • พวกคำเห่ให้เด็กนอน (บทกล่อมเด็ก)
  • พวกคำปลอบให้เด็กชอบ (บทปลอบเด็ก)
  • พวกคำเด็กร้องเล่น (บทเด็กเล่น)
            ดังนั้น แม้หนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ใช้ชื่อว่า บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับสอบ แต่หมายรวมถึง บทร้องหรือเพลงสำหรับเด็กทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเพลงกล่อมให้เด็กนอนเท่านั้น

หนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น เป็นหนังสือบทเพลงสำหรับเด็ก
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้รวบรวมและจัดพิมพ์

            เนื่องจากบทกล่อมเด็ก ๑๖๘ บท เป็นเพียงบทกลอนที่รวบรวมได้จากเขตมณฑลกรุงเทพฯ เท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถือว่าเป็นฉบับสอบ ซึ่งหมายถึง ฉบับที่ใช้สำหรับการตรวจสอบ จึงโปรดให้นายแห เจ้าของโรงพิมพ์ไท ให้ความอนุเคราะห์จัดพิมพ์ขึ้น ๑๕๐ ฉบับ แจกจ่ายไปตามโรงเรียนในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ "เจ้าพนักงานอำนวยการโรงเรียน" เสาะหาเพลงที่ใช้ร้องกันในจังหวัดของตน คัดลอกส่งมา ทำให้ทรงสามารถรวบรวมเพลงสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นบทเพลงพื้นบ้านสั้นๆ ได้ทุกมณฑล รวมแล้วกว่า ๑,๐๐๐ บท นำมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ ๒ (ครั้งที่ ๑ คือ ฉบับสอบ) เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิง (โต) และ หม่อมเจ้าชาย (พอ) ในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕

ตัวอย่างจาก บทกลอนกล่อมเด็ก ฉบับพิมพ์ ครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๖๕)

บทเห่เด็ก

เจ้าเนื้อละมุน
     
     เจ้าเนื้อละมุนเอย            
เก็บดอกพิกุลยามเย็น
เก็บมาร้อยกรอง ให้แม่ทองข้าเล่น        
เนื้อเย็นแม่คนเดียวเอย

เจ้าทองดี

     เจ้าทองดีเอย                 
ถือพัชนีโบยโบก
ขวัญข้าวเจ้าอย่ามีโรค                 
จะโบกลมให้เจ้านอน
ขวัญอ่อนแม่คนเดียวเอย

บทปลอบเด็ก

โงกเงก*

     โงกเงกเอย     น้ำท่วมถึงเมฆ     กระต่ายลอยคอ    
อ้ายหมาหางงอ       กอดคอโงกเงก

บทเด็กเล่น

ใครอิ่มก่อน

     ใครอิ่มก่อน    ดูโขนดูหนัง    ใครอิ่มทีหลัง    
ล้างถ้วยล้างชาม

            สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้รวบรวมและจัดพิมพ์เพลงสำหรับเด็ก เป็นบทกลอนสั้นๆ ใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ แต่ไพเราะกินใจ ที่สำคัญคือ เป็นหลักฐานที่ดีเยี่ยมและสมบูรณ์แบบเล่มหนึ่ง ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเพลงเด็กสามารถใช้เป็นหนังสืออ้างอิงทางวิชาการ ทั้งยังมีการตีพิมพ์เผยแพร่ซ้ำต่อมาอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน

*บทปลอบเด็กนี้ ต่อมาคำร้องได้เปลี่ยนไป คำว่า "โงกเงก" เพี้ยนเสียงเป็น "โยกเยก" ซึ่งเป็นบทร้องที่คุ้นหูมาจนปัจจุบัน