เล่มที่ 39
เพลงกล่อมเด็ก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเภทของเพลงกล่อมเด็ก

เพลงกล่อมเด็กของไทยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ

            ๑) เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน
            ๒) เพลงกล่อมเด็กของหลวง หรือเพลงกล่อมเด็กราชสำนัก  

            การแบ่งเพลงกล่อมเด็กดังกล่าวนี้  ถือเป็นการแบ่งโดยอาศัยพื้นที่ สถานที่ และกลุ่มคนซึ่งร้องเพลงกล่อมเด็ก คือ เพลงกล่อมเด็กของชาวบ้าน แต่งขึ้นร้องกันอยู่ในบ้านเรือนของตน เพื่อให้เด็กที่เป็นลูกหลานฟัง เป็นเพลงที่แพร่หลาย ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่วนเพลงกล่อมเด็กของหลวง แต่งขึ้น เพื่อให้พระพี่เลี้ยงนางนมหรือข้าหลวงใช้ขับกล่อมถวาย พระราชโอรส พระราชธิดา เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น และจากหลักฐานที่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรสันนิษฐานได้ว่า เพลงกล่อมเด็กของหลวงน่าจะเกิดขึ้นภายหลังเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

๑. เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน

            เพลงกล่อมเด็กของราษฎร์ หรือเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหา ทำนอง และคำร้อง จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น คือ สภาพแวดล้อม สังคม ความเชื่อ ประเพณี รวมทั้งภาษาถิ่น ดังนั้น การเรียกชื่อเพลงกล่อมเด็กจึงแตกต่างกัน ดังนี้

ภาคกลาง เรียกว่า เพลงกล่อมเด็ก หรือ เพลงกล่อมลูก
ภาคเหนือ เรียกว่า เพลงอื่อ เพลงอื่อลูก เพลงอื่อ จา จา เพลงสิกก้องก๋อ เพลงสิกจุ่งจา
ภาคอีสาน เรียกว่า เพลงก่อมลูก เพลงนอนสาหล่า เพลงนอนสาเยอ เพลงนอนสาเด้อ
ภาคใต้ เรียกว่า เพลงร้องเรือ เพลงช้าเรือ เพลงชาเรือ เพลงชาน้อง เพลงช้าน้อง หรือเพลงน้องนอน

๑) ลักษณะและเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กชาวบ้าน  

            เพลงกล่อมเด็กเกิดขึ้นจากชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เริ่มต้นขึ้นในครอบครัว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง ที่เลี้ยงดูเด็กเป็นผู้คิดคำร้องใช้เห่กล่อมลูกหลานของตนภายในบ้านก่อน ต่อมาเมื่อบทเพลงใดมีความไพเราะติดหูผู้ได้ยินได้ฟัง ก็จดจำและนำไปร้องต่อในชุมชนจนแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น และใช้ร้องกล่อมเด็กสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ทั้งนี้ แม้ว่าเนื้อเพลงกล่อมเด็กของแต่ละท้องถิ่นอาจใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษา และเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันไป ตามสำเนียงภาษาถิ่น สภาพสังคม และค่านิยมความเชื่อ หากแต่เพลงกล่อมเด็กก็มีลักษณะและเนื้อหาทั่วไปที่คล้ายคลึงกัน สรุปได้ดังนี้

            ก. ฉันทลักษณ์ไม่ตายตัว เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านของไทยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นบทเพลงสั้นๆ ที่มีสัมผัสคล้องจองกัน ความยาวของบทเพลงไม่แน่นอน มีเพลงสั้นๆ ที่คำร้องเริ่มตั้งแต่  ๔-๕ วรรค จนถึงเพลงที่ยาวเกิน ๑๐ วรรค ขึ้นไป จำนวนคำในแต่ละวรรคก็ไม่ได้กำหนดตายตัวเช่นกัน คือเริ่มตั้งแต่วรรคละ ๔-๖ คำ อาจมีบางวรรคที่ยาวกว่า ๖ คำ ตัวอย่างเช่น

            ข. ใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา เนื่องจากเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบทกล่อมเด็ก บทปลอบเด็ก และบทเด็กเล่น เด็กที่ฟังก็มีตั้งแต่เด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้จนถึงเด็กที่หัดพูด บทร้องที่ผู้ใหญ่แต่งขึ้นจึงพยายามใช้คำง่ายๆ ที่เกี่ยวกับกิริยาอาการในชีวิตประจำวัน ชื่อต้นไม้ ชื่อสัตว์ ผูกเป็นประโยคสั้นๆ เมื่อเด็กได้ฟังบ่อยๆ ก็จดจำได้ง่าย และหัดพูดหรือร้องตามได้ เช่น "ถ้าตั้งไข่ล้ม จะต้มไข่กิน ไข่พลัดตกดิน ใครอย่ากินไข่เน้อ" "โยกเยกเอย น้ำท่วมถึงเมฆ กระต่ายลอยคอ อ้ายหมาหางงอ กอดคอโยกเยก" "หมาหางกิด ไต่คันนาด้อมด้อม หมาหางก้อม ไต่คันนาดิดดิด" "...กล้วยเครือใด ดีดีหวานหวาน พ่อแม่เจ้าแอ่วซื้อ หื้อเจ้าลูกหลาน..." "อื่อ จา จา หลับสองตาอย่าไห้..." "...หลับเหียเทอะนา ไก่น้อยจักมาสับตา..." "...แม่ไปไฮ่สิปิ้งไก่มาหา แม่ไปนาสิปิ้งปามาป้อน..."

            ค. ท่วงทำนองที่จดจำได้ง่าย และผสมกับการร้องเอื้อนเสียงยาว วัตถุประสงค์หลักของเพลงกล่อมเด็ก คือ ต้องการให้เด็กนอนหลับ และใช้ร้องกันทั่วไปทุกบ้านทุกครอบครัว ดังนั้น ทำนองของเพลงจึงไม่ซับซ้อน จำได้ง่ายๆ ร้องได้ทุกคน โดยผู้ร้องจะใช้น้ำเสียงที่นุ่มเย็น มักเริ่มต้นเพลงหรือลงท้ายวรรคด้วยการเอื้อนเสียงยาว และจบเพลงด้วยเสียงฮึมยาวๆ ในคอ แผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนจบ เพื่อให้เด็กเกิดความเคลิบเคลิ้มผล็อยหลับไปในที่สุด

            ง. เนื้อหาแสดงออกถึงความรักที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่มีต่อลูกหลาน ถ่ายทอดความห่วงใย บอกกล่าวถึงสิ่งดีๆ ที่ตั้งใจทำให้เด็ก ใช้ถ้อยคำปลอบประโลมชักชวนให้เด็กนอนหลับ ตักเตือนไม่ให้ร้องไห้โยเยรบกวนผู้ใหญ่ คำที่ใช้เรียกขานเด็ก ก็เป็นคำที่แสดงถึงความรัก ความเอ็นดู ความน่าทะนุถนอม อ่อนโยน และน่าฟัง หรือเป็นคำที่มีความหมายถึงสิ่งดีงาม มีคุณค่า เช่น ขวัญข้าว ขวัญอ่อน เจ้าเนื้อละมุน เจ้าเนื้ออุ่น เจ้าเนื้อเย็น เจ้าทองดี เจ้าบุญประเสริฐ แก้วแก่นไท้ ทองคำลูกแม่ เจ้าดวงอุทัยของแม่ ดังตัวอย่างบทเพลงกล่อมเด็กภาคต่างๆ



            ในบางครั้งเมื่อไกวเปลเห่กล่อมด้วยเพลงที่อ่อนโยนปลอบประโลมชักชวนให้นอนหลับ แต่เด็กไม่ยอมหลับ ทั้งยังร้องไห้โยเย เป็นเวลานาน ผู้ใหญ่ก็อาจร้องเพลงที่ขู่ให้เด็กกลัว ดังตัวอย่างบทเพลง


            จ. เนื้อหากล่าวถึงธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม เนื้อร้องในเพลงกล่อมเด็กของไทยนอกจากมุ่งเน้น ปลอบให้เด็กหลับ และถ่ายทอดความรักความผูกพันที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก ยังได้นำเรื่องราวจากธรรมชาติ เช่น สัตว์ พืช ฝนตก ฟ้าร้อง แดดออก และสิ่งแวดล้อมที่มีในท้องถิ่นมาแต่งขึ้นเพื่อร้องกล่อมเด็กด้วย ดังตัวอย่าง


            ฉ. เนื้อหาเล่าเรื่องราวจากนิทาน ตำนาน และวรรณคดี เพลงกล่อมเด็กได้พัฒนามาจากบทเพลงสั้นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กโดยตรง หรือเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นบทเพลงที่ยาวขึ้น ซึ่งน่าจะเกิดจาก ผู้ร้องมีประสบการณ์ในการร้องเพลงพื้นบ้านประเภทอื่น และมีความรู้จากการอ่านหนังสือหรือการฟัง จึงนำเนื้อเรื่องจากนิทาน ตำนาน หรือวรรณคดีมาใช้แต่งเพลงร้องกล่อมเด็ก พร้อมกับร้องเพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้ตนเองและผู้ฟังคนอื่นๆ ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้