เพลงกล่อมเด็กกับสังคมไทย
เพลงกล่อมเด็กเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนาน เริ่มต้นอย่างเป็นธรรมชาติในวิถีชีวิตของชาวบ้าน ทุกครัวเรือน บนพื้นฐานความรักและสายใยความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวที่มีต่อเด็ก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อแม่กับลูก ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอากับหลาน หรือพี่กับน้อง เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้าน ทุกคนก็จะช่วยกันเลี้ยงดูอุ้มชู คอยเล่นด้วย ป้อนข้าวป้อนนมให้กินอิ่ม และเห่กล่อมให้นอน ด้วยบทเพลงที่ใช้คำง่ายๆ แสดงความรักความอ่อนโยน พร้อมเสียงเอื้อนยาว ที่เปล่งออกมาอย่างนุ่มนวลสม่ำเสมอจนเด็กหลับสนิทไป
ชาวบ้านขุดหาหน่อไม้มาเป็นอาหาร
ในอดีต สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวไทยทำไร่ ทำสวน ปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ทำนาปลูกข้าว หาอาหารจากธรรมชาติ เช่น จับปลา จับกบ ยิงนก ขุดหน่อไม้ เก็บเห็ด ตามวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านทั่วไป เมื่อพ่อไปทำไร่ทำนา แม่อยู่บ้านทำงานบ้าน หรืองานอื่นๆ เช่น ปั่นฝ้าย สาวไหม ทอผ้า สานกระด้ง กระบุง ตะกร้า ถักแห และจะเลี้ยงลูกไปด้วย โดยมักไกวเปลให้ลูกนอนและร้องเพลงกล่อมให้หลับ บางบ้าน พ่อแม่เป็นคนหนุ่มสาวก็ออกไปทำไร่ทำนาด้วยกันทั้งคู่ ก็จะมีญาติผู้ใหญ่อย่างปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา หรืออาจเป็นพี่ของเด็ก ช่วยเลี้ยงลูกแทน เพลงกล่อมเด็กหลายบทแต่งขึ้น ด้วยอุปนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย จึงมีคำคล้องจอง ทำให้ร้องง่าย ฟังแล้วเพลิดเพลิน ทั้งยังสร้างความบันเทิงใจให้ผู้ร้องเองด้วย ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็จดจำ และนำไปร้องปากต่อปาก บางเพลงก็แต่งเติม หรือตัดให้สั้นลง แล้วแต่ความพอใจ และความนิยมของผู้นำไปร้อง ไม่ว่าเป็นเพลงบทใด สั้นยาวเพียงใด ผู้ร้องต่างหวังให้เด็กหลับได้รวดเร็ว และหลับสนิทนานๆ เพื่อที่จะได้มีเวลาทำงานอื่นๆ ได้สะดวก หรือจะได้พักผ่อนบ้าง ดังนั้น เพลงกล่อมเด็กจึงถือว่า เป็นเพลงพื้นบ้าน ของไทย ที่มีผู้ร้องได้มากที่สุด เพราะไม่จำเป็นต้องฝึกหัดร้อง เพื่อเป็น "พ่อเพลงแม่เพลง" เหมือนการร้องเพลงพื้นบ้านประเภทอื่นๆ
หากย้อนเวลากลับไป ในยุคที่สังคมไทยยังไม่มีเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์เพื่อความบันเทิง เพลงกล่อมเด็กน่าจะเป็นสิ่งบันเทิง ที่ใกล้ตัวและอยู่ในวิถีชีวิตของทุกครัวเรือน และในขณะเดียวกัน ยังเป็นเครื่องมือที่มีทั้งประโยชน์และมีคุณค่าทางจิตใจ หลายประการ ดังนี้