เล่มที่ 37
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การประมาณค่าเชิงพื้นที่

            การจัดเก็บข้อมูลในภาคสนาม ผู้ปฏิบัติงานไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ทุกบริเวณ และเกือบทั้งหมดเป็นการสุ่มเก็บ ตามหลักการที่กำหนดไว้ เมื่อได้ข้อมูลมาใส่ลงในแผนที่ อาจพบช่องโหว่ของข้อมูล จึงจำเป็นต้องประมาณค่าข้อมูล ของส่วนที่ขาดไป โดยใช้หลักการประมาณค่าเชิงพื้นที่ เช่น การทำแผนที่ภูมิประเทศ การวัดข้อมูลความสูงและความลึก การวัดเป็นจุดตำแหน่ง การหาความหนาแน่นของประชากร แนวโน้มการกระจายตัวของโรคพืช สภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องสร้างข้อมูล เป็นพื้นที่ที่ต้องนำผลประมาณการนี้ไปสร้างข้อมูลอื่นต่อไป ซึ่งหลักการสร้างข้อมูล สามารถนำข้อมูลข้างเคียงมาหาค่าเฉลี่ย ของระยะทางจากจุดหลายๆ จุดที่อยู่รอบและสัมพันธ์กัน  

            ข้อมูลที่ได้จากชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ และข้อมูลเชิงลักษณะ สามารถนำไปวิเคราะห์ และสร้างข้อมูลใหม่ได้อย่างหลากหลาย ตามความชำนาญของแต่ละสาขาวิชา ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะนักภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงนักวิชาการด้านการเกษตร นักวิชาการด้านป่าไม้ นักธรณีวิทยา นักออกแบบและวางแผนชุมชนเมือง นักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งแพทย์ที่กำกับ และควบคุมโรคระบาด แม้กระทั่งตำรวจที่ศึกษาในด้านอาชญวิทยาก็นำข้อมูลไปใช้ และประสบผลสำเร็จ ทำให้ประหยัดเวลา ในการสืบค้น และสามารถติดตามวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นับวันยิ่งมีการพัฒนา และนำมาประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่างๆ ได้หลากหลายเพิ่มขึ้น