ความหมายของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นระบบที่ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial data) ซึ่งกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกที่แน่นอน ของพื้นที่ที่ทำการศึกษา และข้อมูลเชิงลักษณะ (attribute data) ซึ่งอธิบายลักษณะต่างๆ ของพื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นระบบที่ทำงานโดยอาศัยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ โดยมีขั้นตอนการทำงาน คือ การเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดหมวดหมู่และรูปแบบ การปรับปรุงแก้ไขหรือดัดแปลงข้อมูลเพื่อการใช้งาน ขั้นตอนทั้งหมดเรียกว่า การสร้างฐานข้อมูล โดยมีการบำรุงรักษาฐานข้อมูลและการทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันเพื่อการค้นคืน (retrieval) ซึ่งก็คือ การเรียกใช้ข้อมูลชนิดใดชนิดหนึ่งที่ต้องการ และได้จัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลแล้ว นำมาทำการวิเคราะห์ และแสดงผลลัพธ์ ในรูปแบบกราฟิก แผนที่ หรือตารางตัวเลข สามารถทำได้รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมาก ดังที่มีผู้ให้คำนิยาม และคำอธิบาย เกี่ยวกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ไว้ ดังนี้
๑. พ.ศ. ๒๕๒๙ เจ.เค. เบอร์รี (J.K. Berry) กล่าวว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นระบบสารสนเทศเชิงพื้นที่ ที่มีการอ้างอิงถึงกันภายใน ในลักษณะอัตโนมัติ"
๒. พ.ศ. ๒๕๓๐ เบอร์โรห์ (Burrough) ให้คำนิยามว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คือ ชุดเครื่องมือซึ่งทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ ค้นคืน และวิเคราะห์ เปลี่ยนแปลงแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่บนพื้นโลกเพื่อวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้"
๓. พ.ศ. ๒๕๓๐ สมิท และคณะ (Smith and others) กล่าวว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ประกอบด้วยฐานข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ถูกจัดเก็บมีการจัดดัชนีเชิงพื้นที่ของข้อมูลไว้ พร้อมด้วยชุดกลุ่มคำสั่ง เพื่อใช้ในการตอบคำถามเกี่ยวกับส่วนต่างๆ เชิงพื้นที่ในฐานข้อมูลนั้น"
๔. พ.ศ. ๒๕๓๒ เอส. อาโรนอฟฟ์ (S. Aronoff) ให้คำนิยามว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คือ ระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐาน เพื่อการปฏิบัติการบนข้อมูลเชิงพื้นที่ให้เกิดกรรมวิธี ๔ ประการ คือ
(๑) การนำเข้าข้อมูล
(๒) การจัดการข้อมูลประกอบด้วยการจัดเก็บและการค้นคืน
(๓) การดัดแปลงแก้ไขและการวิเคราะห์ข้อมูล
(๔) การแสดงผลลัพธ์ขั้นสุดท้าย"
๕. พ.ศ. ๒๕๓๓ สถาบันอีเอสอาร์ไอ (ESRI: Environmental Systems Research Institute) กล่าวว่า "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบโปรแกรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และบุคลากร ซึ่งมีหน้าที่จัดการ ในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมสารสนเทศที่ต้องการ เพื่อทำการดัดแปลงเข้าจัดเก็บในระบบ ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การปรับปรุง การจัดการ การวิเคราะห์ และการแสดงผลในรูปแบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่สามารถอ้างอิงพิกัดทางภูมิศาสตร์ได้ ตามต้องการ พร้อมทั้งเวลาที่เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น"