การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทย
การประกวดและแข่งขันหุ่นยนต์ สพฐ. ชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การแข่งขันแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ การประกวดหุ่นยนต์ (หุ่นยนต์ความคิดสร้างสรรค์) และการแข่งขันหุ่นยนต์ (การแข่งขันทำภารกิจบนสนามไม้) กติกาการแข่งขันจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อให้การแข่งขันเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมในการแข่งขัน โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก (World Robot Olympiad: WRO)
การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ การแข่งขันนี้จัดขึ้น เพื่อคัดเลือกทีมที่ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ เอบียู เอเชีย-แปซิฟิก โรบอต คอนเทสต์ (ABU Asia-Pacific Robot Contest) ซึ่งจัดขึ้น โดยสหภาพวิทยุและโทรทัศน์ แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (The Asia-Pacific Broadcasting Union: ABU) โดยสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสมาชิกของเอบียู จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันขึ้นเป็นประจำทุกปี กติกาการแข่งขันจะกำหนดขึ้นโดยเจ้าภาพที่จัดการแข่งขัน ซึ่งส่วนมากจะดัดแปลงจากขนบธรรมเนียมประเพณี หรือสัญลักษณ์ที่สำคัญของแต่ละประเทศ ทำให้การแข่งขันเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจากประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ยังจัดการแข่งขันอื่นๆ อีก ได้แก่ การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ด้วยพีแอลซี และการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ยุวชนกรังด์ปรีซ์
การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันนี้ จะพัฒนาทีมหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบใช้ล้อ ทีมละไม่เกิน ๖ ตัว เพื่อเลี้ยงลูกฟุตบอลและยิงประตูฝ่ายตรงข้าม โดยการแข่งขัน จะต้องอาศัยความรู้เรื่องระบบภาพ การประมวลผลภาพในคอมพิวเตอร์ และใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวางแผนการรุกและรับ โดยผู้ชนะเลิศ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก (World RoboCup)
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา จัดขึ้นโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยคน หรือหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในการกู้ภัย โดยมีการจำลองสนาม จากซากปรักหักพัง และมีหุ่นเหยื่อวางอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ หุ่นยนต์ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจรู้ในการสำรวจตำแหน่ง อุณหภูมิ เสียง และการเคลื่อนไหวของหุ่นเหยื่อ เพื่อสร้างแผนที่ และระบุตำแหน่ง รวมทั้งสภาวะของหุ่นเหยื่อได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันสร้างรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์รถระบบอัตโนมัติในระดับอุดมศึกษา จัดโดย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนารถระบบอัตโนมัติ ที่สามารถเคลื่อนที่ จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดหมายปลายทางได้ โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม หรือเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรถอัจฉริยะต้องมีความสามารถ ในการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และปฏิบัติตามสัญญาณจราจรได้อย่างถูกต้อง การแข่งขันต้องอาศัยความรู้ในเรื่องระบบภาพ การประมวลผลภาพ และการประมวลผลสัญญาณบอกตำแหน่งจากดาวเทียม
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษา จัดขึ้นโดย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์เดิน ๒ ขาขนาดเล็ก โดยในสนามแต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์ผู้เล่นทีมละ ๓ ตัว หุ่นยนต์ต้องมีความเป็นอัตโนมัติ การประมวลผลจากภาพ การตัดสินใจ และการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ต้องทำภายในตัวของหุ่นยนต์ ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของขนาด และการทรงตัว ไม่มีการใช้หน่วยประมวลผลกลาง นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานแบบกระจาย ซึ่งหมายความว่า หุ่นยนต์แต่ละตัว ต้องทำงานได้อย่างเป็นอิสระต่อกัน โดยใช้หน่วยประมวลผลที่ตัวหุ่นยนต์เท่านั้น ส่วนการติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์สามารถทำได้ โดยการใช้ระบบเครือข่ายแบบไร้สาย (wireless networks) โดยผู้ชนะเลิศ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก
หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์แข่งขันฟุตบอล
การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขัน ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในการรับคำสั่งต่างๆ จากมนุษย์ ดังนั้น ตัวหุ่นยนต์จึงต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ตรวจรู้ต่างๆ มากมาย เช่น กล้องที่ใช้ในการรับภาพ ไมโครโฟน ที่ใช้ในการรับฟังเสียง อุปกรณ์ตรวจรู้ที่ใช้ในการนำทางเคลื่อนที่และตรวจสิ่งกีดขวาง อุปกรณ์และกลไกในการหยิบจับสิ่งต่างๆ รวมทั้งกลไกการเคลื่อนที่ นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังต้องมีการประมวลผลที่ชาญฉลาด เพราะต้องแยกแยะแต่ละคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์ สามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในคำสั่ง แยกแยะสิ่งต่างๆ และทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จลุล่วง โดยผู้ชนะเลิศ จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ คือ การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขัน ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องออกแบบและพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบ ๒ ล้อหน้า-หลังได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ล้มไปด้านข้าง โดยนำความรู้ด้านพลศาสตร์มาใช้ในการควบคุม จึงสามารถวิ่งได้เอง จากจุดเริ่มต้นไปถึงเส้นชัย โดยไร้คนบังคับ การแข่งขันจะต้องอาศัยทักษะความรู้ในเรื่องอุปกรณ์ตรวจรู้ต่างๆ การรักษาสมดุลทรงตัว การประมวลผลภาพ และการประมวลสัญญาณบอกตำแหน่งจากดาวเทียม
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันหุ่นยนต์ไอเน็กซัสชิงแชมป์ประเทศไทย
เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ในการแข่งขัน ผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะพัฒนาหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ (๑ ตัว) และหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (ไม่เกิน ๒ ตัว) ที่สามารถทำงานร่วมกันในการนำวัตถุที่วางสุ่มอยู่ในสนาม กลับมายังตำแหน่งเริ่มต้นได้ โดยหุ่นยนต์บังคับด้วยมือและหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติต้องเดินทางกลับมายังตำแหน่งเริ่มต้น และระหว่างการเดินทางกลับนี้ หุ่นยนต์บังคับด้วยมือสามารถให้ความช่วยเหลือหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้
การแข่งขันออกแบบสร้างหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย
การแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เพื่อสร้างการเรียนรู้ พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติการออกแบบ และสร้างหุ่นยนต์ตามโจทย์ จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ การแข่งขันจัดขึ้น เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ไอดีซี โรโบคอน (the Internation Design Contest: IDC RoBoCon) รูปแบบของการแข่งขันคือ ทีมแข่งขันที่ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบัน จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี เพื่อให้ความรู้ทางด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ พร้อมทั้งลงมือสร้างหุ่นยนต์จริงจำนวน ๒ ตัว สำหรับใช้ในการแข่งขัน การแข่งขันนี้นอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้ว ยังได้มิตรภาพ และได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รวมทั้งได้ประสบการณ์ต่างๆ มากมาย นอกเหนือจากในชั้นเรียนอีกด้วย