แม่ไม้มวยไทย
หมายถึง ท่าของการใช้ศิลปะมวยไทยที่สำคัญที่สุด อันเป็นพื้นฐานของการใช้ไม้มวยไทย ซึ่งผู้ฝึกมวยไทยต้องเรียนรู้ และปฏิบัติให้ได้ก่อนที่จะฝึกลูกไม้ถือว่าเป็นการใช้ไม้มวยไทยที่ละเอียดขึ้น บูรพาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิได้จัดแบ่งแม่ไม้มวยไทยออกเป็น ๑๕ ไม้ ได้แก่
- สลับฟันปลา
- ปักษาแหวกรัง
- ชวาซัดหอก
- อิเหนาแทงกริช
- ยอเขาพระสุเมรุ
- ตาเถรค้ำฝัก
- มอญยันหลัก
- ปักลูกทอย
- จระเข้ฟาดหาง
- หักงวงไอยรา
- นาคาบิดหาง
- วิรุฬหกกลับ
- ดับชวาลา
- ขุนยักษ์จับลิง
- หักคอเอราวัณ
ท่าสลับฟันปลา
ท่าสลับฟันปลา (รับด้านนอก)
ฝ่ายรุก
เดินเข้ามาชกด้วยหมัดซ้าย ตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ
ใช้มือซ้ายปัดหมัดฝ่ายรุกที่ข้อมือ ส่วนมือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านนอก ของฝ่ายรุก
ท่าปักษาแหวกรัง
ท่าปักษาแหวกรัง (รับด้านใน)
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า มือซ้ายตั้งมั่นพร้อมที่จะชกหมัด
ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าขวา ทแยงเฉียงด้านขวาสืบเท้าเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา ใช้แขนซ้ายปัดหมัดให้พ้นใบหน้า มือขวากระแทกไปที่หัวไหล่ด้านในของฝ่ายรุกทันที
ท่าชวาซัดหอก
ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือขวาตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าซ้ายเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าซ้าย โดยพุ่งตัวเข้าหาคู่ต่อสู้ แขนขวายกขึ้นปัดหมัดฝ่ายรุกให้เบนออกพ้นตัว แขนซ้ายยกศอกกระแทกเข้าชายโครงของฝ่ายรุก
ท่าอิเหนาแทงกริช
ท่าอิเหนาแทงกริช
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่บริเวณหน้า ของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าขวาทแยงเข้าวงใน ทิ้งน้ำหนักลงบนเท้าขวา ยกแขนซ้ายขึ้นปัดหมัดให้พ้นตัว แขนขวางอศอก เพื่อส่งศอกกระแทกที่ชายโครงของฝ่ายรุก
ท่ายอเขาพระสุเมรุ
ท่ายอเขาพระสุเมรุ
ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวา ตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบก้มศีรษะให้หมัดผ่านศีรษะไป พร้อมกับสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเล็กน้อย ให้ได้จังหวะหมัด แล้วชกหมัดขวา เข้าสู่ปลายคาง ของฝ่ายรุกทันที
ท่าตาเถรค้ำฝัก
ท่าตาเถรค้ำฝัก
ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดขวาตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ มือซ้ายตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบสืบเท้าขวาไปข้างหน้าเข้าวงในของฝ่ายรุก ทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าขวา พร้อมกับงอแขนซ้ายยกขึ้นตรงหน้า ปัดกระแทกขึ้น ให้หมัดฝ่ายรุกพ้นศีรษะไป มือขวาชกเข้าสู่ปลายคางของฝ่ายรุกทันที
ท่ามอญยันหลัก
ท่ามอญยันหลัก
ฝ่ายรุก
เดินมวยชกด้วยหมัดซ้ายตรงเข้าบริเวณหน้าของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ
รีบยกแขนทั้งสองขึ้นป้องกันหน้า พร้อมกับยกเท้าขวาถีบเข้าที่ยอดอกหรือท้องของฝ่ายรุก ให้กระเด็นไป
ท่าปัดลูกทอย
ท่าปักลูกทอย
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าเตะเหวี่ยงด้วยเท้าซ้ายเป้าหมายคือ ศีรษะฝ่ายรับ มือทั้งสองตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบสืบเท้าเข้าหาครึ่งก้าว พร้อมกับหมุนตัว เอาเท้าขวาเป็นแกน หันหน้าเข้าหาทิศทางที่เท้าเตะมา ยกศอกขวาตั้งขึ้นระดับหน้าแข้ง มือซ้ายตั้งการ์ดปิดระดับต้นคอให้มั่น เพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า
ท่าจระเข้ฟาดหาง
ท่าจระเข้ฟาดหาง
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกด้วยหมัดขวาตรงสุดแรง จนตัวเสียหลักถลันเข้าไปข้างหน้า
ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายทแยงออกวงนอก เอี้ยวตัวให้หมัดผ่านทางไหล่ขวา ในระยะ ๑ คืบ แล้วใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก หมุนให้ส้นเท้ากระแทกที่ศีรษะ ของฝ่ายรุก
ท่านาคาบิดหาง
ท่านาคาบิดหาง
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหา พร้อมเตะเหวี่ยงด้วยเท้าขวา มือทั้งสองตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
รีบพลิกตัวหันหน้าไปทางเท้าที่กำลังเตะมา น้ำหนักตัวทิ้งบนเท้าซ้าย เท้าขวาอยู่ในหลักยืนมวย แบบสิงหยาตร มือขวาตั้งฝ่ามือปะทะปลายเท้า มือซ้ายแบหงาย ตะปบส้นเท้า แล้วใช้มือที่จับปลายเท้า พลิกบิดออกด้านนอก มือซ้ายจับส้นเท้าฝ่ายรุก ดึงเข้าหาตัว พร้อมกับใช้เข่ากระแทกไปที่น่อง
ท่าหักงวงไอยรา
ท่าหักงวงไอยรา
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหาพร้อมยกเท้าเข้าเตะกราดบริเวณชายโครง มือทั้งสองตั้งมั่น
ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายเข้าหาฝ่ายรุกในระยะเกือบชิดตัวอย่างรวดเร็ว หันหน้าเข้าหาทิศทาง ที่ฝ่ายรุกเตะมา กระแทกศอกขวาสู่บริเวณโคนขาฝ่ายรุก พร้อมแขนซ้ายโอบจับตรงบริเวณน่อง ยกขาให้สูง เพื่อให้เสียหลัก ป้องกันฝ่ายรุกใช้ศอกถองที่ศีรษะ
ท่าวิรุฬหกกลับ
ท่าวิรุฬหกกลับ
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหา พร้อมทั้งยกเท้าเตะกราดตรงบริเวณชายโครง
ฝ่ายรับ
รีบพลิกตัวทแยงหันหน้าสู่ทิศทางที่เท้าเตะมา ใช้เท้าซ้ายเป็นหลักยืนให้มั่น ยกเท้าขวากระแทกด้วยส้นเท้าที่ต้นขาให้สะท้อนกลับไป มือทั้งสองตั้งให้มั่น เพื่อป้องกันพลาดถูกชายโครง
ท่าหักคอเอราวัณ
ท่าหักคอเอราวัณ
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าหา ชกด้วยหมัดขวาตรงบริเวณหน้าของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ใช้หมัดทั้งสองจับที่ต้นคอฝ่ายรุก จากนั้นก็กระแทกเข่าขวาไปที่หน้า ของฝ่ายรุก
ท่าดับชวาลา
ท่าดับชวาลา
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้าของฝ่ายรับ
ฝ่ายรับ
ก้าวเท้าซ้ายทแยงเฉียงออกวงนอก ทิ้งน้ำหนักตัวบนเท้าซ้าย ใช้มือซ้ายกดแขนขวา ของฝ่ายรุกให้เบนและลงต่ำ รีบชกด้วยหมัดขวาตรงไปที่ใบหน้า ให้เป็นจังหวะเดียวกับมือซ้ายที่กดลงนั้นอย่างรวดเร็ว
ท่าขุนยักษ์จับลิง
ท่าขุนยักษ์จับลิง
ฝ่ายรุก
เดินมวยเข้าชกหมัดซ้ายตรงเข้าที่บริเวณหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับเตะเท้าขวา ตรงบริเวณชายโครง ตามด้วยศอกขวาอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายรับ
รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเข้าหาตัว ก้าวเท้าขวา ยกแขนทั้งสองข้างปัดการเตะที่แข้งขวาของฝ่ายรุก พร้อมยกแขนซ้ายป้องกันศอกขวาของฝ่ายรุก แม่ไม้นี้เป็นการหลบหมัด หลบเตะ หลบศอก ในเวลาเดียวกัน