เล่มที่ 24
เมืองหลวงเก่าของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ในอดีตอันยาวนาน ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคน ที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ตั้งแต่เป็นกลุ่มครอบครัวเล็กๆ จำนวนไม่เกิน ๑๐ คน ที่เร่ร่อนหาอาหาร และมีที่พักพิง อยู่ตามถ้ำเพิงผาตามธรรมชาติ เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้ว ต่อมา เมื่อมีการรวมตัวกันเป็นเผ่าพันธุ์จำนวนมากขึ้น จึงตั้งหลักแหล่งตามที่ราบ ที่มีผืนดินอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ไม่เคลื่อนย้ายเร่ร่อนกันอีกต่อไป ที่อยู่อาศัยของเผ่าพันธุ์เหล่านี้ มีลักษณะเป็นหมู่บ้าน ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดี เป็นเศษเครื่องมือเครื่องใช้ของคนยุคนี้ เมื่อ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วอยู่ทั่วไป หมู่บ้านเหล่านี้บางแห่งตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ทำกินกว้างขวาง จำนวนประชากรในหมู่บ้านมีมากขึ้น มีคติความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ และผีอันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางธรรมชาติ มีการจัดการทรัพยากร ควบคุมบริหารกำลังคน ร่วมมือกันขุดคูน้ำคันดินล้อมรอบหมู่บ้าน เพื่อป้องกันภยันตราย และเพื่อการชลประทาน กลายเป็นเมืองที่ปรากฏร่องรอยเป็นหลักฐานให้เห็นได้ในปัจจุบัน

เครื่องมือเครื่องใช้ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์

            เมื่อ ๑,๕๐๐ - ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวอินเดียได้เข้ามาติดต่อค้าขาย และได้นำอารยธรรมทางศาสนา อันเป็นคติความเชื่อแบบใหม่ เข้ามาผสมผสานกับคติความเชื่อพื้นเมือง ศาสนาสำคัญที่เข้ามาคือ พระพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ที่มีส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจักรวาล พระจักรพรรดิ หรือพระราชามหากษัตริย์ เป็นแนวคิดของการรวมตัวกันของเมืองหลายๆ เมืองเข้าเป็นแว่นแคว้นเดียวกัน โดยมีเมืองของพระ-มหากษัตริย์ที่เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งหลายเป็นเมืองราชธานีหรือเมืองหลวง

            เมืองที่รวมตัวกันเป็นแว่นแคว้นเดียวกันได้นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน และมีช่วงเวลามากน้อยไม่เท่ากัน ในระยะแรกๆ คงจะเกิดขึ้นบริเวณที่ใกล้อ่าวไทย ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกราก แล้วจึงค่อยๆเข้าสู่แผ่นดินภายในทวีปมากขึ้น ลักษณะการรวมตัวจะมีความเหนียวแน่น หรือผูกพันกันหลวมๆ แตกต่างกันไป แล้วแต่องค์ประกอบของปัจจัยและสภาพแวดล้อมในการรวมตัวกันเป็นสำคัญ โดยมีศาสนาเป็นตัวสร้างเสริมอำนาจศูนย์กลางในการรวมตัวกันนั้น ดังนั้น เมืองที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง หรือเมืองหลวงอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆภายในแว่นแคว้น จึงมีการสร้างสัญลักษณ์แห่งอำนาจเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ซึ่งปรากฏร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน

            เมืองที่มีศาสนสถานขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงความเป็นเมืองราชธานี หรือเมืองหลวง ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ได้แก่ เมืองนครปฐม หรือนครชัยศรี ซึ่งมีร่องรอยคูกำแพงเมืองกว้างใหญ่ โดยมีเจดีย์จุลประโทนเป็นศูนย์กลาง เมืองอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัว ที่ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นเมืองที่มีศาสนสถานทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่นเก่า ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ส่วนทางฝั่งตะวันออกคือ เมืองลพบุรี ซึ่งมีชื่อเดิมว่า กรุงละโว้ เป็นเมืองเก่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่มีศาสนสถานที่โอ่อ่าแสดงความยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา

            เมืองใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำภาคกลาง จะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเมืองศูนย์กลางของอำนาจการปกครองไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่ในที่สุด ศูนย์กลางอำนาจการปกครองนั้น ก็ตกอยู่กับเมืองสุพรรณภูมิ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีเมืองในเครือข่ายที่อพยพโยกย้ายมาที่ราชบุรี เพชรบุรี สรรคบุรี ฯลฯ ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ส่วนเมืองลพบุรี หรือละโว้ บนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางฝั่งตะวันออกนั้น เมื่อเริ่มแรกในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ก็มีคติความเชื่อเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทเหมือนกับบ้านเมืองทางฝั่งตะวันตก และได้ขยายอาณาเขตขึ้นไปตามลำน้ำปิง โดยจัดตั้งเมืองหริภุญไชยหรือที่ภายหลังคือ เมืองลำพูน ขึ้นบนที่ราบหว่างหุบเขาอันกว้างใหญ่ที่ต้นแม่น้ำปิงเป็นเมืองสืบต่อมา และถ่ายทอดอารยธรรมทางพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทให้แก่ราชวงศ์พระเจ้ามังราย ที่เข้ามาครอบครองในภายหลัง

            เมืองละโว้ได้รับคติทางศาสนาพราหมณ์จากราชอาณาจักรขอมกัมพูชา และพุทธศาสนาแบบมหายาน ที่ขึ้นมาจากทางทิศใต้ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ คติความเชื่อทั้งสองนั้นเข้ากันได้ และส่งเสริมการปกครองบ้านเมืองที่รวมกันเป็นราชอาณาจักรใหญ่ ดังนั้น เมืองละโว้ จึงเป็นเมืองที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ไปถึงบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งลุ่มแม่น้ำมูล คือ เมืองพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา เมืองพนมรุ้ง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจนถึงเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา ซึ่งทั้งเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้งต่างก็มีศิลาจารึกที่แสดงอำนาจความเป็นอิสระของการเป็นเมืองหลวงปกครองดินแดนในละแวกใกล้เคียงในระดับหนึ่งด้วย ส่วนเมืองละโว้นั้น ในช่วงเวลานี้มีเอกสารประเภทตำนานที่แสดงถึงการแตกแยก ที่ทำให้เมืองหริภุญไชยซึ่งมีเมืองในอาณัติ คือ นครเขลางค์ แยกออกไปปกครองตนเองโดยอิสระ เป็นอีกแว่นแคว้นหนึ่งที่ต้นแม่น้ำปิง

            ในระยะเวลาต่อมา เมืองละโว้มีบทบาทก่อให้เกิดเมืองหลวงขึ้น ในประวัติศาสตร์ไทยอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองสุโขทัย ที่ขึ้นไปจัดตั้งไว้ ที่ตอนบนของที่ราบฝั่งแม่น้ำยม เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่หลังจากนั้นไม่นาน สุโขทัยก็แยกตัวออกเป็นอิสระอีกแว่นแคว้นหนึ่ง เช่นเดียวกับเมืองหริภุญไชย เรื่องราวในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๒ วัดศรีชุม เรื่อง พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว รบกับขอมสบาดโขลญลำพง อาจเป็นเรื่องราวตอนที่สุโขทัยแยกตัวออกจากเมืองละโว้ก็ได้ ส่วนเมืองละโว้นั้น ก็ได้มีการขยับขยายราชธานีลงทางใต้ ตั้งบ้านเมืองในบริเวณที่แม่น้ำ ๓ สาย คือ ป่าสัก ลพบุรี และเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกัน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเมืองสุพรรณภูมิ ต่อมาก็ได้จัดตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงในที่สุด

            เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งที่อาจกล่าวว่าอยู่ในขอบเขตใกล้ทะเลอ่าวไทย คือ เมืองศรีมโหสถแห่งลุ่มน้ำบางปะกง หรือแม่น้ำปราจีนบุรี ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในเขตอำเภอศรีมโหสถ (โคกปีบ) จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเมืองที่มีศาสนสถานเป็นจำนวนมาก โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองนี้ อาจสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ แต่โบราณสถานที่เป็นของเมืองนี้อย่างแน่นอน และเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น คือ รอยพระพุทธบาทคู่ที่วัดสระมรกต ซึ่งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองศูนย์กลางปกครองดินแดนใกล้เคียงสืบต่อกันมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ จึงได้กลายเป็นเมืองในราชอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวง และมีหลักฐานแสดงการนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

            ส่วนทางภาคใต้นั้น ได้พบชุมชนของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาพราหมณ์ตั้งหลักแหล่งทำการค้าอยู่ทั่วไป เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น แต่เมืองที่พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางของคติความเชื่อ และการปกครองจะอยู่ทางชายทะเลฝั่งตะวันออก ซึ่งมีที่ราบทำกินกว้างกว่า เช่น ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เมืองยะรัง จังหวัดปัตตานี เป็นต้น ซึ่งเป็นเมืองที่นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔ เมืองต่างๆ ในภาคใต้เหมือนกับจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ประมาณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ดังปรากฏหลักฐานเป็นศิลาจารึกหลักที่ ๓๕ พบที่ดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า เมืองนครศรีธรรมราชได้เข้ารวมกับกรุงศรีอยุธยา หรืออโยธยา ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓

            ชื่อเมืองต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คือ เมืองละโว้ เมืองพิมาย เมืองพนมรุ้ง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองหริภุญไชย เมืองสุพรรณภูมิ และเมืองอื่นๆ ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นโบราณสถานที่เคยเป็นศาสนาสถานภายในเมืองขนาดใหญ่ แต่ไม่ทราบชื่อเดิมที่แท้จริงนั้น อาจกล่าวได้ว่า เคยเป็นศูนย์กลางทางคติความเชื่อทางศาสนา ซึ่งในสมัยโบราณมักจะเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองด้วย เมืองเหล่านี้จะมีอำนาจปกครองเมืองเล็กๆ อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง หรือมีสภาพภูมิศาสตร์เหมือนกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะมีขอบเขต ไม่มากน้อยเพียงใด เพราะบางครั้งขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ที่อำนาจตามเมืองเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายไปตามเมืองอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เมื่อพระมหากษัตริย์ของเมืองนั้นๆ มีอำนาจขึ้นมาแทนที่ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงเป็นภาพของบ้านเมือง ที่บางเมืองได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางที่อยู่ ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งจะเริ่มขึ้น ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา

ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนานิกายมหายาน

ปราสาทหินพนมรุ้ง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นเทวสถานของพราหมณ์ไศวนิกาย

            เมืองหลวงเก่าของไทยที่จะกล่าวถึงต่อไป จะกล่าวถึงเฉพาะเมือง ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ได้เปลี่ยนจากการใช้ภาษาศักดิ์สิทธิ์คือ ภาษา มอญ ขอม บาลี และสันสกฤต มาใช้ภาษาไทย เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง ที่เรียกว่า เมืองหลวง และยังคงมีประวัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน ซึ่งได้แก่ เมืองเชียงใหม่ แห่งแคว้นล้านนา เมืองสุโขทัย แห่งแคว้นสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา แห่งราชอาณาจักรสยาม และ กรุงธนบุรี ศูนย์กลางของราชอาณาจักรสยาม ที่ฟื้นขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเห็นต่อไปว่า แต่ละเมือง ต่างก็มีพื้นฐานขององค์ประกอบแห่งอำนาจ และขั้นตอนของพัฒนาการ ในการเป็นเมืองหลวง ศูนย์กลางการปกครองบ้านเมือง ที่แตกต่างกันออกไป