เมือง สุโขทัย
ตัวเมืองเก่าสุโขทัยตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งตัวจังหวัดสุโขทัย และห่างจากแม่น้ำยมไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๑๐ กิโลเมตรร่องรอยของโบราณสถานที่เป็นซากกำแพงเมือง และวัดวาอาราม ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐาน ซึ่งแสดงถึงการเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ก่อน
ลักษณะของเมืองตามที่เหลือร่องรอยเป็นโบราณสถานชี้ให้เห็นว่า เมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่มีการก่อสร้างซ้อนกันอยู่ ๒ ครั้ง กล่าวคือครั้งแรกเป็นบริเวณที่มีคูน้ำล้อมรอบสามชั้น มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยตรงกลางมีพระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงสามองค์อยู่บนฐานเดียวกันเป็นศูนย์ กลางของเมือง พระปรางค์ทั้งสามองค์ตั้งเรียงติดกันจากทิศเหนือไปทิศใต้หันหน้าไปทาง ทิศตะวันออกปัจจุบันคงเหลือพระปรางค์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือองค์เดียวที่มีสภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมากพระปรางค์ องค์กลางกับองค์ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้พังทลายหมด เหลือเพียงฐานกับผนังของเรือนธาตุบางตอนสูงพ้นฐานขึ้นมาเล็กน้อยหลักฐาน ของพระปรางค์ที่เป็นศูนย์กลางของเมือง และโบราณวัตถุที่พบในที่นี้แสดงว่า เมืองสุโขทัยเมื่อแรกเริ่มตั้งขึ้น ณที่นั้น มีการนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเป็นศาสนาประจำเมือง จากรูปแบบทางศิลปะของพระปรางค์อาจกำหนดอายุเวลาได้ว่าเมืองสุโขทัยแห่ง นี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือประมาณ พ.ศ. ๑๗๕๐ ปัจจุบัน บริเวณเมืองสุโขทัยรุ่นแรกนี้เรียกกันว่า วัด พระพายหลวง
เมืองโบราณสุโขทัยที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้น เป็นเมืองรุ่นที่ ๒อยู่ติดกับเมืองสุโขทัยรุ่นแรกที่บริเวณวัดพระพายหลวงไปทางทิศใต้ โดยมีกำแพงเมืองด้านทิศเหนือติดกับคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย เดิมที่วัดพระพายหลวง มีกำแพง และคูเมืองสามชั้น ล้อมรอบเป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส คือมีความกว้าง ๑,๔๐๐ เมตรยาว ๑,๘๐๐ เมตร โดยมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมือง มีพระสถูปทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นประธานของวัด เชื่อกันว่าเป็นสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นเมืองในพระพุทธศาสนาตามคตินิยมของนิกาย เถรวาทหรือหินยาน
วัดพระพายหลวง ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย ศูนย์กลางเมืองสุโขทัยรุ่นแรก
จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า กำแพงเมืองที่มีสามชั้นนั้น มิได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกันทั้งสามชั้น เดิมมีชั้นเดียว และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกสองชั้นในภายหลัง มีป้อมปืนก่อด้วยอิฐอยู่ตรงช่องประตูเมือง ๓ ช่องประตูคือ ประตูด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ ส่วนประตูด้านทิศตะวันออกนั้น ในสมัยปัจจุบันไม่เห็นป้อมประตูเมืองแล้ว เนื่องจากมีการตัดทางหลวงคือถนนจรดวิถีถ่อง ผ่านเข้าช่องประตูด้านนี้ จึงทำลายหลักฐานทางโบราณคดีบางส่วนไป กำแพงเมืองที่มีการสร้างเพิ่มเติมขึ้นด้วยอิฐนี้คงจะสร้างขึ้นในสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อรับศึกกับล้านนา ในสมัยที่เมืองสุโขทัย ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาแล้ว
คูเมืองสุโขทัยรับน้ำจากที่สูงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาหลวงเป็นน้ำตกมาจากหุบเขาเรียกว่า โชกพระร่วงลับพระขรรค์ มีทำนบเป็นคันดินเบนน้ำให้ไหลเข้ามุมเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นส่วนที่มีระดับสูงที่สุดของเมือง แล้วกระจายออกไปสองทางคือ ลงตามคูเมืองด้านทิศใต้กับคูเมืองด้านทิศตะวันตก และไหลตามคูเมืองที่มีระดับต่ำลงด้านทิศตะวันออกและด้านทิศเหนือ มาพบกันที่จุดต่ำสุดที่มุมเมืองทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะไหลลงน้ำแม่ลำพันที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตท้องที่อำเภอ ทุ่งเสลี่ยม เมื่อไหลผ่านเมืองสุโขทัยแล้ว น้ำแม่ลำพันจะไหลไปทางทิศตะวันออก ลงสู่แม่น้ำยมบนฝั่งตรงกันข้ามกับจังหวัดสุโขทัยปัจจุบัน
ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่นอนว่า มีการย้ายเมืองจากที่เก่าที่มีศูนย์กลางเป็นวัดพระพายหลวงลงมาทางใต้ โดยมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางเมืองตั้งแต่เมื่อใด อาจจะเป็นตอนที่เปลี่ยนราชวงศ์ที่ครองเมืองสุโขทัยในสมัยตอนต้นนั้นก็ ได้ ดังที่มีหลักฐานเป็น ศิลาจารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวว่า ปฐมกษัตริย์ของเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีนาวนำถม พระองค์มีโอรสคือ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอำนาจดั้งเดิมคือ ขอมเมืองนครธม หรือเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา โดยเจ้าเมืองนครธมได้พระราชทานธิดาชื่อนางสุขรเทวี ให้เป็นพระชายาของพ่อขุนผาเมือง และพระราชทานนามเกียรติยศให้แก่พ่อขุนผาเมืองเป็น กมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์ พร้อมทั้งพระราชทานพระขรรค์ชัยศรี เครื่องหมายแห่งอำนาจอิสระในการปกครองดินแดน ความเกี่ยวข้องกับขอมเมืองนครธมมีความสอดคล้องกับรูปแบบพระปรางค์วัดพระ พายหลวง ซึ่งสร้างขึ้นตามศิลปะขอมแบบบายน มีอายุประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังนั้น เมืองสุโขทัยเมื่อแรกเริ่มจึงน่าจะอยู่บริเวณที่มีวัดพระพายหลวงเป็น ศูนย์กลาง
ศิลาจารึกหลักที่๑ ซึ่งสลักข้อความเล่าเรื่องเมืองสุโขทัย
และพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ศิลาจารึกวัดศรีชุมเล่าต่อไปว่า ครั้งหนึ่งต้องเสียเมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัยให้แก่ ขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งเป็นเวลาที่พ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนผาเมืองซึ่งเป็นโอรสจึงชักชวนสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว มาตีเมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัยกลับคืนมาได้ แต่พ่อขุนผาเมืองไม่ทรงครองเมืองสุโขทัย พระองค์ทรงมอบเมืองสุโขทัยพร้อมทั้งพระนามเกียรติยศที่ได้รับจาก กษัตริย์ขอมเมืองนครธมให้แก่สหาย และเสด็จกลับไปครองเมืองราดอย่างเดิม พ่อขุนบางกลางหาวจึงได้ครองเมืองสุโขทัย โดยมีพระนามเป็นที่รู้จักและเรียกกันในสมัยหลังว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และทรงมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การเปลี่ยนราชวงศ์ครองเมืองสุโขทัยครั้งนี้ จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการย้ายเมืองใหม่ เพราะราชวงศ์ใหม่นี้ ควรจะนับถือพระพุทธศาสนานิกายใหม่ด้วยคือ นิกายเถรวาท หรือหินยาน มีหลักฐานว่า อย่างน้อย เมื่อพ่อขุนรามคำแหง โอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ครองเมืองสุโขทัยต่อจากพ่อขุนบาลเมืองผู้เป็นพระเชษฐานั้น เมืองสุโขทัยได้ย้ายมาตั้งอยู่บริเวณที่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็น ศูนย์กลางของเมืองแล้ว ทั้งนี้ ทราบได้จากหลักฐาน ที่เป็นศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ที่ได้บรรยายภูมิสถานต่างๆ ของเมืองสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า มีสภาพตรงกันกับภูมิประเทศจริงของตัวเมืองรุ่นต่อมานี้
กษัตริย์องค์สำคัญของสุโขทัยองค์หนึ่งคือ พ่อขุนรามคำแหง ทรงรวบรวมบ้านพี่เมืองน้องที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันเข้าด้วยกัน เป็นกลุ่มเมือง โดยพระองค์ประทับที่เมืองสุโขทัยเป็นอำนาจศูนย์กลาง แต่ก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มเมืองที่เป็นดินแดนแคว้นสุโขทัยนี้มีความ ยั่งยืน เพราะหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลง บ้านเมืองต่างๆ ที่ปกครองด้วยราชวงศ์พี่น้องเครือญาติกันเหล่านี้ก็แตกแยกเป็นอิสระไม่ ขึ้นต่อกัน จนถึงสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งเป็นรุ่นหลานของพ่อขุนรามคำแหง ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติที่เมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ ต้องทรงปราบปรามบ้านพี่เมืองน้องต่างๆ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ดินแดนของแคว้นสุโขทัยในสมัยนั้นมีขอบเขตที่ชัดเจนพอที่จะเปรียบเทียบ กับพื้นที่การปกครองในปัจจุบันได้ว่า มีอาณาเขตตั้งแต่ท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป ทิศเหนืออยู่ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกครอบคลุมท้องที่บางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ และทิศตะวันตกเป็นท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร และบางส่วนของจังหวัดตาก
เจดีย์ ๕ ยอด ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิพระมหาธรรมราชาลิไท
(เจดีย์องค์ที่เห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ยอดทั้ง ๕ ขององค์เจดีย์ได้ชำรุดพังทลายหมดแล้ว)
พระนอน ในบริเวณเมืองเก่ากำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
จากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของดินแดน แคว้นสุโขทัยนี้ จะเห็นว่า ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเหนือสุดติดต่อกับเขตพื้นที่ภูเขาของแคว้นล้านนา ส่วนทางทิศใต้เป็นที่ราบติดต่อกับที่ราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลาง การที่มีที่ตั้งภูมิประเทศเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่า บ้านเมืองต่างๆ ในดินแดนสุโขทัยนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเมืองของคนกลางในการติดต่อค้าขาย ระหว่างบ้านเมืองที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางกับบ้านเมืองที่เป็น พื้นที่ภูเขา เพราะการเดินทางในที่ราบลุ่มแม่น้ำจะเป็นทางคมนาคมขนส่งที่สะดวกที่สุด เมื่อขึ้นเหนือทวนลำน้ำก็จะไปถึงเมืองต่างๆในแคว้นสุโขทัย คือไปตามลำแม่น้ำน่านถึงเมืองฝางในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ไปตามลำน้ำป่าสักถึงเมืองเพชรบูรณ์ ไปตามลำน้ำปิงถึงกำแพงเพชรและตาก และไปตามลำน้ำยมถึงสุโขทัยศรีสัชนาลัย เหนือขึ้นไปจากนี้ แม่น้ำจะเต็มไปด้วยแก่งหิน เนื่องจากไหลผ่านพื้นที่ภูเขา ทำให้ไม่สะดวกที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง จึงต้องเปลี่ยนเป็นเส้นทางบก
ในขณะเดียวกัน สินค้าจากภายในทวีปที่มีการขนส่งโดยทางบก ใช้ม้าต่างฬ่อ ต่างขนสัมภาระข้ามภูเขามายังบ้านเมือง ที่อยู่บนที่ราบ เมื่อลงจากพื้นที่ภูเขามา ก็จะถึงบ้านเมืองบนที่ราบอันเป็นเมืองของแคว้นสุโขทัย ที่มีพ่อค้าเดินทางมาจากบ้านเมืองขนาดใหญ่บนที่ราบภาคกลาง จึงเกิดการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของแต่ละฝ่ายขึ้น เมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย จึงเกิดขึ้น เนื่องจากแบบแผนการคมนาคมขนส่ง เพื่อการค้าดังกล่าวแล้ว แม้แต่เมืองสุโขทัย ตำนานเรื่องพระร่วง บุตรนายคงเคราส่วยน้ำเมืองละโว้ ศิลาจารึกวัดศรีชุม เรื่องราวความสัมพันธ์กับอาณาจักรขอมกัมพูชาที่กล่าวข้างต้น หรือแบบแผนทางศิลปกรรมวัดพระพายหลวง ที่เป็นศิลปะแบบขอม ต่างก็มีความสอดคล้องกัน ที่สามารถนำมาอธิบายความสัมพันธ์ได้ว่า เมืองสุโขทัยเกิดขึ้นจากการสนับสนุน โดยกรุงละโว้ ซึ่งเป็นเครือข่ายทางวัฒนธรรมของอาณาจักรขอมกัมพูชา จัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าจากแผ่นดินภายในทวีปส่งลงมาให้แก่ กรุงละโว้ เพื่อการบริโภคภายใน และค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเลต่อไปอีกทีหนึ่ง
การที่เมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยเกิดขึ้น ด้วยเงื่อนไขของความสัมพันธ์กัน ระหว่างสภาพภูมิศาสตร์กับการเป็นศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทำให้พบหลักฐานเป็นศิลาจารึกของสุโขทัยหลายหลัก ทั้งที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระมหาธรรมราชาลิไท และหลังจากสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับบ้านเมืองที่ห่างไกลออกไปตามเส้นทางแม่น้ำ โขง ตั้งแต่เมืองเวียงจันเวียงคำ เมืองหลวงพระบาง เหนือสุดคือเมืองเชียงแสน เพราะเส้นทางตามที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงคือ เส้นทางที่เข้าสู่แผ่นดินภายในพื้นทวีปได้ลึกที่สุดที่แคว้นสุโขทัย ติดต่อสัมพันธ์ไปได้ ตามพันธกิจด้านการค้าขายที่มีอยู่ของเมืองสุโขทัย
ใน สมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ทรงรวบรวมบ้านพี่เมืองน้อง ที่แยกตัวเป็นอิสระ ให้กลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยทรงใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ ในการสร้างความเป็นเอกภาพของดินแดนแคว้นสุโขทัยของพระองค์ และผูกมัดบ้านเมืองอื่น ให้เป็นพันธมิตรต่อกันอย่างแน่นแฟ้น คือ เมืองแพร่ และเมืองน่าน ซึ่งเป็นนครรัฐอิสระอยู่ รวมไปถึงเมืองหลวงพระบางของพระเจ้าฟ้างุ้มแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง ด้วย ศิลาจารึกได้สรรเสริญ พระมหาธรรมราชาลิไทว่า ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระนาม ธรรมราชา จึงได้รับการถวายให้แด่กษัตริย์สุโขทัย มาตั้งแต่ครั้งนั้น
หลัง พ.ศ. ๑๙๐๐ พระมหาธรรมราชาลิไททรงพยายามสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่แคว้นสุโขทัยมาก ขึ้นอีก โดยการนำทัพไปรบ พร้อมทั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปนอกแคว้นสุโขทัย โดยทางทิศเหนือขึ้นไปยังเมืองแพร่ อยู่ที่เมืองแพร่ ๗ เดือน นำคนเมืองแพร่มาเป็นข้าพระ ที่เมืองศรีสัชนาลัย พระมหาธรรมราชาลิไทมีความใกล้ชิดกับพระยาการเมือง (ผากอง) เจ้าเมืองน่าน จึงมีการส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองน่าน และมอบวัตถุมงคลทางพระพุทธศาสนา ให้แก่พระยาการเมือง เพื่อใช้ในการสร้างวัดพระธาตุแช่แห้ง ส่วนทางทิศตะวันออก ได้ยกพลไปรบยังบ้านเมือง ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก
การขยายตัวของแคว้นสุโขทัยไปสู่ลุ่มน้ำป่าสัก น่าจะส่งผลกระทบไปถึงบ้านเมือง ในอาณัติของกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ตามลุ่มน้ำสายนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงยกพลขึ้นมายึดเมืองสรลวงสองแคว (พิษณุโลก) ไว้ได้ และให้เจ้าเมืองสุพรรณภูมิ ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์สุโขทัยมาก่อน มาครองเมืองสองแควอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง อันเป็นการเข้ายึดครองศูนย์ปฏิบัติการรบของสุโขทัย ที่เข้าไปรุกรานบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก พระมหาธรรมราชาลิไทได้นิมนต์พระมหาสวามีสังฆราช จากนครพัน เมืองมอญ ที่ริมอ่าวเมาะตะมะ เดินทางมาเมืองสุโขทัย และพระองค์ได้ทรงออกผนวชกับพระสวามีสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลานี้ ที่ได้มีการเจรจาตกลงรับเมืองสองแควคืนจากกรุงศรีอยุธยา โดยพระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว และให้พระมหาเทวี พระขนิษฐาของพระองค์ขึ้น ครองเมืองสุโขทัย ราชบัลลังก์สุโขทัยจึงหมดความศักดิ์สิทธิ์แห่งอำนาจชอบธรรม ที่จะเป็นศูนย์กลางของแว่นแคว้น ที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงเพียรพยายามสร้างขึ้นมา
พระมหาธรรมราชาลิไทประทับอยู่ที่เมือง สองแคว ๗ ปี ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดิน เนื่องจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๑ และสมเด็จพระราเมศวร ขึ้นเสวยราชสมบัติในปีถัดมา พระมหาธรรมราชาลิไทได้เสด็จกลับเมืองสุโขทัย และระดมไพร่พลเจ้าเมืองต่างๆ ในเขตแคว้นสุโขทัย ที่ยังคงจงรักภักดีอยู่ เตรียมการที่จะดำเนินนโยบายการเมือง ที่จะให้สุโขทัยเป็นศูนย์กลางการปกครองแคว้นอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ส่งพระสุมนเถระ ขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๒ เพื่อ สร้างสัมพันธไมตรี แต่พระองค์ก็ไม่สามารถ พลิกฟื้นอำนาจของเมืองสุโขทัยกลับคืนมาได้อีก เนื่องจากในปีต่อมา พ.ศ. ๑๙๑๓ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ่องั่ว) ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระราเมศวรยินยอมถวายราชบัลลังก์ให้ เป็นเวลาที่พระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ่องั่ว) จึงยกทัพเข้ายึดดินแดนของแคว้นสุโขทัยได้ทั้งหมดในปีถัดมา
ก่อนเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พ่องั่ว) เคยเป็นเจ้าเมืองสุพรรรภูมิ และเคยเสด็จไปครองเมืองสองแคว ราชวงศ์สุพรรณภูมิอาจจะมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์สุโขทัยมา ก่อนแล้ว และเมื่อพระองค์ไปครองเมืองสองแคว ก็อาจจะได้สร้างสายสัมพันธ์กับราชวงศ์สุโขทัยขึ้นใหม่ด้วย ดังนั้น เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จสวรรคตลง บ้านเมืองในแคว้นสุโขทัย ก็มีความวุ่นวายแตกแยกกันออกไปอีก การที่พระองค์ยกทัพเข้ายึดแคว้น สุโขทัยได้ ก็ถือเป็นการสร้างความสงบแก่บ้านเมือง ของเครือญาติที่เป็นพันธมิตรกับพระองค์ได้ทางหนึ่ง บ้านเมืองใดที่ไม่ยอมเป็นพันธมิตร พระองค์ ก็จะยกกองทัพเข้าปราบปรามจนราบคาบเกือบ ได้ประกาศตนเป็นพระมหาธรรมราชา อันเป็น ความพยายามสร้างศูนย์อำนาจชอบธรรมแห่งใหม่ของดินแดนสุโขทัย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ยังปราบไม่สำเร็จ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิสวรรคต ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ตกเป็นของสมเด็จพระราเมศวร เชื้อสายของพระเจ้าอู่ทอง และพระองค์ต่อมาคื อสมเด็จพระรามราชา โอรสของสมเด็จพระราเมศวร รวมแล้วเป็นระยะเวลานานถึง ๒๑ - ๒๒ ปี ในช่วงเวลานี้ เมืองสุพรรณภูมิเหมือนกับมีการปลีกตัวออกไปจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยา แต่กลับมาสร้างความสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัยต่อไป การแลกเปลี่ยนเชื้อพระวงศ์ฝ่ายหญิง เพื่อสมรสกับเชื้อพระวงศ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง มีหลักฐานให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ดังเช่น พระพุทธรูปในศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น (ศิลปะอู่ทอง) ที่พระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ พระชายาของพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งเป็นหลานของพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงสร้างถวายแก่วัดบูรพาราม ที่สุโขทัย เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แสดงให้เห็นว่า พระนางน่าจะเป็นเชื้อสายของสุพรรณภูมิ ตำนานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีน มีเนื้อหาคล้ายกับประวัติของเจ้านครอินทร์ ผู้มีชายาเป็นเจ้าหญิงสุโขทัย และภายหลังได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระนครินทราธิราช
นอกจากสายสัมพันธ์โดยการสมรสระหว่างกันแล้ว ทางฝ่ายสุพรรณภูมิได้อาศัยศักดิ์ของการเป็นเครือญาติที่สูงกว่า เข้าครอบงำเจ้านายของฝ่ายสุโขทัย ทั้งโดยการสนับสนุนเครือญาติสุโขทัย ฝ่ายของตน ในการรวบรวมบ้านเมือง ในแคว้นที่แตกแยกกันออกไป หลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสิ้นพระชนม์ ให้รวมกันเป็นกลุ่มเมืองดังเดิม เมืองชากังราวก็คงจะยอมรับอำนาจ จากสุพรรณภูมิในช่วงเวลานี้ การเข้ามาสร้างเมืองใหม่ ภายใต้อิทธิพลของสุพรรณภูมิคือ เมืองกำแพงเพชร บนฝั่งแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุมของสุโขทัยแต่เดิม สร้างพระราชวังจันทน์ ในเมืองชัยนาทบนฝั่งแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองสรลวงสองแควของสุโขทัย สร้างเมืองพิจิตร บริเวณที่แม่น้ำยมมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน ล้วน แต่เป็นการควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ แคว้นสุโขทัย ทั้งในด้านเส้นทางคมนาคมและ ศูนย์กลางการปกครองท้องที่ ทำให้บ้านเมืองในแคว้นสุโขทัย ต้องพึ่งพิงอยู่กับสุพรรณภูมิ ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยเหตุนี้ เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งสุพรรณภูมิ มีอำนาจเข้าครอบครองกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ. ๑๙๕๒ จึงเป็นเวลาที่แคว้นสุโขทัยรวมกันกับแคว้นสุพรรณภูมิแล้ว และได้กลายเป็นกลุ่มเมืองเหนือ ตามคำเรียกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป ไม่ปรากฏว่า มีเจ้านายซื้อสายราชวงศ์สุโขทัยพระองค์ใด ที่แสดงแนวคิดว่า จะให้เมืองสุโขทัย หรือเมืองใดเมืองหนึ่ง ในอาณาเขต เป็นที่ตั้งของอำนาจชอบธรรมในการปกครองแว่นแคว้น คือ เป็นราชธานี ที่ตั้งแห่งราชบังลังก์พระมหากษัตริย์ หรือเมืองหลวง ทุกคนจะมุ่งไปที่ราชบังลังก์กรุงศรีอยุธยา เป็นตำแหน่งเป้าหมาย แห่งพระราชอำนาจสูงสุด ที่เจ้านายจากเมืองเหนือ สามารถอ้างสิทธิในการก้าวขึ้นสู่อำนาจชอบธรรมนั้นได้ด้วย