เล่มที่ 35
มาตรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หน่วยงานที่รับผิดชอบระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ

            หน่วยงานที่รับผิดชอบระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ คือ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เป็นองค์กรของรัฐที่บริหารงานเป็นอิสระ ภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีห้องปฏิบัติการอยู่ ณ เทคโนธานี รังสิต คลองห้า จังหวัดปทุมธานี และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนพระรามที่ ๖ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล มีการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัด ไปสู่ผู้ใช้งาน ส่งเสริมผู้ประกอบอาชีพด้านมาตรวิทยา และความสามารถของห้องปฏิบัติการ รวมถึงการทำให้สังคมตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของมาตรวิทยา อาจสรุปได้ถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ดังนี้

พันธกิจ

            การพัฒนามาตรฐานการวัดแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ถ่ายทอดความถูกต้องด้านการวัด สู่กิจกรรมการวัดต่างๆ ในประเทศ และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านมาตรวิทยาสู่สังคมไทย เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรวิทยา อีกทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ค่านิยมองค์กร
            
            มุ่งมั่นเพื่อให้การวัดในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก

การจัดองค์กร

            เพื่อให้ระบบงานด้านมาตรวิทยาดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารงานที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถ ทั้งด้านมาตรวิทยาและด้านบริหาร สถาบันจึงได้กำหนดโครงสร้างหลักประกอบด้วย ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเทคนิคมาตรวิทยา และฝ่ายสนับสนุน
            

การสอบเทียบวัสดุอ้างอิงด้านวัดมุม

๑) ฝ่ายเทคนิคมาตรวิทยา

            รับผิดชอบในการกำหนดหน่วยวัด หรือมาตรฐานการวัดของชาติ โดยการจัดหา พัฒนา และเก็บรักษามาตรฐานแห่งชาติ ดำเนินการให้ห้องปฏิบัติการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นห้องปฏิบัติการสอบเทียบระดับปฐมภูมิ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนด ของคณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ และถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่กิจกรรมการวัด ของห้องปฏิบัติการสอบเทียบระดับทุติยภูมิ และกิจกรรมการวัดต่างๆ ภายในประเทศต่อไป โดยผ่านกระบวนการสอบกลับได้ทางการวัดมายังสถาบันฯ ซึ่งฝ่ายเทคนิคมาตรวิทยาแบ่งกิจการออกเป็น ๗ ฝ่าย คือ ฝ่ายมาตรวิทยาเชิงกล ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า ฝ่ายมาตรวิทยาอุณหภูมิ ฝ่ายมาตรวิทยามิติ ฝ่ายมาตรวิทยาเสียงและการสั่นสะเทือน ฝ่ายมาตรวิทยาแสง และฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ

๒) ฝ่ายสนับสนุน

            รับผิดชอบการสนับสนุนงานให้กับฝ่ายเทคนิคมาตรวิทยา และดำเนินโครงการพิเศษต่างๆ ตามแผนงานที่ระบุไว้ในแผนแม่บท การพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ ฝ่ายบริหารงานกลาง ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้ตรวจสอบภายใน


การฝึกอบรมหรือสัมมนาภาคทฤษฎีแก่หน่วยงานและบุคคลทั่วไป

กิจกรรมการให้บริการ

            ๑)  การบริการสอบเทียบครอบคลุมในสาขาการวัดต่างๆ ได้แก่ สาขาความยาว สาขาไฟฟ้า สาขาเวลาและความถี่ สาขาความดัน สาขาสุญญากาศ สาขามวล  สาขาแรง  สาขาแรงบิด  สาขาความแข็ง  สาขาปริมาตร  สาขาการไหล  สาขาเสียง  สาขาการสั่นสะเทือน  สาขา
อุณหภูมิ  สาขาเคมีและชีวภาพ  และสาขาแสง

            ๒)  การให้บริการฝึกอบรมและสัมมนา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่ห้องปฏิบัติการระดับทุติยภูมิ ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป



การฝึกอบรมหรือสัมมนาภาคทฤษฎีแก่หน่วยงานและบุคคลทั่วไป

            ๓)  การให้บริการให้คำปรึกษาตามความต้องการของลูกค้า โดยให้ความช่วยเหลือ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการวัด และสอบเทียบเครื่องมือวัด ตลอดจนร่วมกันแก้ปัญหาทางเทคนิคด้านการวัดที่เป็นอุปสรรค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิต และการบริการ ของภาคอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก

            ๔) การให้บริการสารสนเทศทางด้านมาตรวิทยา ข้อมูลข่าวสาร และเทคนิคใหม่ๆ แก่สาธารณชน ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลสารสนเทศได้ที่ www.nimt.or.th