เล่มที่ 35
มาตรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การวัด (Measurement)

            การวัด คือ กระบวนการของปฏิบัติการที่ให้ได้มาซึ่งค่าปริมาณหนึ่งค่าหรือมากกว่า ซึ่งจะเป็นตัวบอกปริมาณได้อย่างมีเหตุผล ผลลัพธ์ของการวัดแบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกคือ ค่าปริมาณที่วัดได้พร้อมค่าความไม่แน่นอนของการวัด (ค่าที่แสดงระดับความเชื่อมั่นในความถูกต้องของผลการวัด) และอีกส่วนหนึ่งคือ หน่วยวัด ตัวอย่างเช่น ผลการวัดตุ้มน้ำหนักที่มีค่าที่ระบุ ๑ กิโลกรัม (kg) คือ ๑๐๐๐.๐๐๑ ± ๐.๐๐๑ กรัม ในที่นี้ ๑๐๐๐.๐๐๑ คือ ค่าปริมาณที่วัดได้ ซึ่งค่าที่วัดได้นี้ มีค่าความไม่แน่นอนของการวัด ± ๐.๐๐๑ และ g (กรัม) คือ หน่วยวัด หรืออาจกล่าวว่า ค่าที่ได้จากการวัดของตุ้มน้ำหนักคือ ๑๐๐๐.๐๐๑ กรัม พร้อมค่าความไม่แน่นอนของการวัดของตุ้มน้ำหนัก คือ ± ๐.๐๐๑ กรัม ซึ่งการรายงานผลการวัดจะอยู่ในรูป ๑๐๐๐.๐๐๑ ± ๐.๐๐๑ กรัม (จุดทศนิยมสามารถเขียนโดยใช้  “ , ”  หรือ  “ . ”  ซึ่งในยุโรปนิยมใช้  “ , ”)

            การวัดเป็นปฏิบัติการทางเทคนิค ที่ต้องปฏิบัติตามวิธีการวัดที่กำหนดขั้นตอนไว้แล้ว เพื่อการเปรียบเทียบกัน ระหว่างปริมาณที่ถูกวัดกับปริมาณมาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยวัด หมายถึง เครื่องมือวัด นั่นเอง สำหรับการเลือกวิธีการวัด และเครื่องมือวัดที่จะใช้ ก็คงขึ้นอยู่กับระดับของความถูกต้องของการวัดที่ต้องการ รวมทั้งความรู้ความชำนาญในระบบการวัดของผู้ที่ทำการวัดประกอบกัน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการตลอดจนผู้มีความสามารถเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความถูกต้องของการวัดได้ตามต้องการ หากเครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการวัดไม่ได้รับการสอบเทียบความถูกต้อง เพื่อให้เกิดความสามารถสอบกลับได้ทางการวัดไปยังมาตรฐานการวัดแห่งชาติ ที่รักษาไว้โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของแต่ละประเทศ