เล่มที่ 35
มาตรวิทยา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ระบบการวัดระหว่างประเทศ

            การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อทุกประเทศได้ใช้ระบบหน่วยวัดเดียวกันที่เป็นสากล สิ่งนี้เองคือ ที่มาของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการวัดปริมาณทางกายภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ การลงนามในสนธิสัญญาเมตริก (Metre Convention) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ (ค.ศ. ๑๘๗๕) ส่งผลให้มีการพัฒนากลไก ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของมาตรฐานการวัดปริมาณทางกายภาพระหว่างประเทศ และยังนำไปสู่การก่อตั้งห้องปฏิบัติการระหว่างประเทศขึ้นหนึ่งแห่ง กับคณะกรรมการระหว่างประเทศอีกหลายคณะ


สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures : BIPM) ณ ประเทศฝรั่งเศส

            สนธิสัญญาเมตริกกำหนดให้จัดตั้งองค์กรและกำหนดดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา คือ การประชุมทั่วไปว่าด้วย การชั่งตวงวัด (General Conference for Weights and Measures : CGPM) คณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Committee for Weights and Measures : CIPM) และให้จัดตั้งห้องปฏิบัติการระหว่างประเทศขึ้น คือ สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (International Bureau of Weights and Measures : BIPM) ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชน Sèvres  ใกล้กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาขึ้นอีกหลายคณะภายหลัง โดยบรรดาคณะกรรมการที่ปรึกษาเหล่านี้ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาในสาระทางวิชาการแก่คณะกรรมการชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ ในมาตรวิทยาสาขาต่างๆ เช่น คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านไฟฟ้า (Consultative Committee on Electricity : CCE) คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านอุณหภูมิ (Consultative Committee on Temperature : CCT) และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านปริมาณสาร (Consultative Committee on Amount of  Substance : CCQM) สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษาได้รับการคัดเลือกมาจากสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศสมาชิก ที่มีศักยภาพด้านการวัด เกี่ยวกับการวิจัยมาตรฐานการวัดในสาขาที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติของประเทศ สมาชิกอื่นๆ ก็มีสิทธิที่จะให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการที่ปรึกษาได้เช่นกัน

สำหรับสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศมีความรับผิดชอบ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวัด ๓ ประการ คือ

๑. การเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างกัน (International Comparison) ของประเทศสมาชิก
๒. การส่งเสริม ประสานงาน และจัดทำเอกสารเพื่อการเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างกัน
๓. การวิจัย ในสาขาของมาตรวิทยาที่เลือกสรรแล้ว ภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการ
ชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ