ข้อมูลที่ได้จากการตรวจอากาศ
การพยากรณ์อากาศทำได้ด้วยการวิเคราะห์แผนที่อากาศ ซึ่งแสดงข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจอากาศ ประกอบด้วยค่าต่างๆ เช่น ความกดอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ทิศทางลมและความเร็วลม ชนิดและจำนวนเมฆในท้องฟ้า
ความกดอากาศ
หมายถึง น้ำหนักของอากาศที่กระทำต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่บริเวณความกดอากาศต่ำ (เรียกในภาษาอังกฤษว่า LOW ใช้อักษรย่อว่า L) แสดงว่า เป็นบริเวณที่อากาศมีการยกตัว หรือลอยตัว น้ำหนักของอากาศที่กระทำต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่มีค่าต่ำ และในขณะที่อากาศลอยตัวจะมีไอน้ำติดไปกับอากาศด้วย เมื่อไอน้ำลอยตัวสูงขึ้นจะกระทบกับความเย็นเกิดการกลั่นตัวเป็นเมฆ ในทางตรงกันข้าม บริเวณที่มีความกดอากาศสูง (เรียกในภาษาอังกฤษว่า HIGH ใช้อักษรย่อว่า H) อากาศหนัก ไม่มีการลอยตัว อากาศจมลงและอัดตัวแน่นเข้า การกลั่นตัวเป็นเมฆและฝนมีน้อย ดังนั้นบริเวณใดที่มีความกดอากาศสูง แสดงว่าบริเวณนั้นมีอากาศดี ซึ่งในบรรดาข้อมูลต่างๆ ทางอุตุนิยมวิทยา ความกดอากาศนับว่า มีความสำคัญมากสำหรับการพยากรณ์อากาศ
บารอมิเตอร์
เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดค่าความกดอากาศ เรียกว่า บารอมิเตอร์ (barometer) ซึ่งมี ๓ แบบ คือ บารอมิเตอร์ปรอท บารอมิเตอร์แบบแอนีรอยด์ และบารอกราฟ ส่วนหน่วยที่ใช้วัดความกดอากาศอาจเป็นความสูงของปรอทเป็นนิ้ว หรือเซนติเมตร ปอนด์ต่อตารางนิ้ว หรือกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรก็ได้ แต่ในปัจจุบัน ส่วนมากนิยมใช้หน่วยเป็นเฮกโตปาสกาล (hecto Pascals) ตามธรรมดาความกดอากาศที่พื้นดินจะมีค่าเท่ากับความสูงของปรอทประมาณ ๗๖ เซนติเมตร หรือ ๒๙.๙๒ นิ้ว หรือ ๑,๐๑๓.๓ เฮกโตปาสกาล
อุณหภูมิ
หมายถึง ระดับความร้อนของอากาศ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการหมุนเวียนของอากาศ ตลอดจนความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยอากาศที่มีอุณหภูมิสูงจะลอยตัวขึ้น และสามารถรับจำนวนไอน้ำในอากาศได้มากกว่าอากาศเย็น เครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิเรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ (thermometer) ซึ่งใช้หน่วยวัดเป็นองศาเซลเซียส หรือองศาฟาเรนไฮต์
ความชื้น
หมายถึง ปริมาณไอน้ำในอากาศ เครื่องมือที่ใช้วัดความชื้นของอากาศ เรียกว่า ไซโครมิเตอร์ (psychrometer) ซึ่งประกอบด้วย เทอร์โมมิเตอร์ ๒ อัน อันหนึ่งเป็นเทอร์โมมิเตอร์ธรรมดา เรียกว่า "เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง" อีกอันหนึ่งเป็นเทอร์โมมิเตอร์ ที่มีผ้ามัสลินเปียกหุ้มอยู่ เรียกว่า "เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มเปียก" จากการอ่านผลต่างอุณหภูมิของตุ้มเปียกและตุ้มแห้ง โดยเทียบกับแผ่นตารางที่คำนวณไว้ก่อนแล้ว จะสามารถหาความชื้นของอากาศในขณะนั้นได้ เรียกว่า ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของจำนวนไอน้ำ ที่มีอยู่ในอากาศในขณะนั้น ต่อจำนวนไอน้ำที่อาจจะมีอยู่ได้ เมื่ออากาศนั้นอิ่มตัว ด้วยไอน้ำ ที่อุณหภูมิเดียวกัน โดยแสดงค่าเป็นร้อยละ

ไซโครมิเตอร์
เครื่องมือวัดความชื้นของอากาศนอกจากใช้ไซโครมิเตอร์แล้ว ยังอาจวัดความชื้นของอากาศได้ด้วย ไฮโกรกราฟ (hygrograph) ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกค่าความชื้นของอากาศลงบนแผ่นกระดาษกราฟ โดยใช้เส้นผมของมนุษย์หรือขนของสัตว์บางชนิด นำมาขึงให้ตึง และต่อกับคานกระเดื่อง และแขนปากกา เส้นผมสามารถยืดและหดตัวได้ ตามการเปลี่ยนแปลงความชื้นของอากาศ จึงทำให้คานกระเดื่องและแขนปากกาเขียนเส้นบนกระดาษกราฟที่ใช้บันทึกนั้น และนำมาอ่านค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้
ทิศทางลมและความเร็วลม
การวัดทิศทางและความเร็วลมมีจุดประสงค์เพื่อให้ทราบถึงการเคลื่อนตัวของมวลอากาศว่าเป็นไปในทิศทางใด สำหรับการวัดทิศของลมนั้น จะใช้ศรลม (wind vane) ส่วนการวัดความเร็วของลมจะใช้เครื่องวัดที่เรียกว่า อะนีมอมิเตอร์ (anemometer) ซึ่งมีหลายชนิด แต่ส่วนมากใช้แบบใบพัดหรือกังหัน หรือใช้แบบถ้วยกลม ๓ ใบ และมีก้าน ๓ ก้าน ต่อมารวมกันที่แกนกลาง จากแกนกลางจะมีแกนต่อลงมาเบื้องล่าง เมื่อกังหันหมุนจะเกิดกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เข็มที่หน้าปัดชี้แสดงความเร็วของลม คล้ายๆ กับหน้าปัดที่บอกความเร็วของรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบันทึกความเร็ว และทิศทางลมลงบนกราฟ เรียกว่า อะนีมอกราฟ (anemograph)
อะนีมอมิเตอร์
มาตราลมที่นิยมใช้กันทั่วไปคือ มาตราลมโบฟอร์ต (Beaufort wind scale) ซึ่งตั้งตามชื่อของพลเรือเอก เซอร์ฟรานซิส โบฟอร์ต (Admiral Sir Francis Beaufort) ชาวอังกฤษ ที่คิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ โดยแบ่งกำลังลมออกเป็น ๑๓ ชั้น ตั้งแต่ ๐ ถึง ๑๒ โดยชั้น ๐ เป็นลมสงบ และชั้น ๑๒ เป็นพายุไต้ฝุ่น หรือพายุเฮอร์ริเคน
ชนิดและจำนวนเมฆในท้องฟ้า
การตรวจชนิดและปริมาณของเมฆในท้องฟ้าจะช่วยบอกลักษณะของอากาศในช่วงนั้นๆ ได้ และช่วยทำให้ทราบถึงแนวโน้มของลักษณะอากาศล่วงหน้าได้ด้วย เช่น ถ้าในท้องฟ้ามีเมฆก่อตัวในทางแนวตั้ง แสดงว่า อากาศกำลังลอยตัวขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องหมายก่อนการเกิดพายุ ยิ่งเป็นเมฆที่ก่อตัวทางแนวตั้งสูงใหญ่ มียอดเป็นรูปทั่งที่เรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส ด้วยแล้ว มักจะมีฝนตกหนักและพายุฟ้าคะนองตามมาเสมอๆ ในทางตรงกันข้าม หากท้องฟ้ามีเมฆเกิดขึ้นเป็นชั้นๆ หรือแผ่ตามแนวนอนแสดงว่า อากาศกำลังสงบ
การวัดจำนวนเมฆในท้องฟ้าตามปกติจะแบ่งท้องฟ้าออกเป็น ๑๐ ส่วน จำนวนเมฆในขณะทำการตรวจจะถือว่า มีเมฆเกิดขึ้นกี่ส่วน ของท้องฟ้าในเขตนั้น เช่น บอกว่า ท้องฟ้ามีเมฆ ๔ ส่วน ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าท้องฟ้ามีเมฆเกิดขึ้น ๔ ใน ๑๐ ส่วนของท้องฟ้าในขณะที่ทำการตรวจนั้น