ฝ่ายวางแผนและควบคุมการผลิต
มีหน้าที่ในการวางแผนการผลิต และควบคุมการรับส่งชิ้นส่วน ให้มีปริมาณที่พอดีกับการใช้งานของฝ่ายผลิต แบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ
๑. การวางแผนการผลิต
แผนกวางแผนของโรงงาน จะได้รับข้อมูลความต้องการจำนวนรถยนต์ของลูกค้า โดยการประชุมร่วมกับฝ่ายขาย แล้วนำมาวางแผนการผลิต โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิต หากความต้องการมีมากกว่ากำลังการผลิต ก็จะต้องประชุมกับทางฝ่ายผลิต และผู้ผลิตชิ้นส่วน ว่าสามารถที่จะผลิตได้ตามเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นนี้หรือไม่ โดยอาจจะมีการทำงานล่วงเวลา หรือการทำงานในวันหยุด แต่ถ้าหากความต้องการน้อยกว่ากำลังการผลิต ก็จะต้องปรับให้การผลิตในแต่ละวันเท่ากัน และจะต้องวางแผนการผลิตให้ได้จำนวนและรุ่นของรถยนต์ตรงกับความต้องการ ทั้งยังต้องผลิตให้ทันกับกำหนดการส่งมอบด้วย
แผนการผลิตแบ่งเป็นระยะคือ แผนเดือน แผนสามเดือน และแผนปี โดยแผนเดือน จะเป็นการยืนยันกำหนดที่แน่นอนว่า ในเดือนนั้นๆ จะผลิตรถยนต์ในแต่ละรุ่นจำนวนเท่าไร และในวันใด ส่วนแผนสามเดือนจะมีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนในการวางแผนว่า จะต้องสั่งวัตถุดิบ จำนวนเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ แผนปีจะบอกถึงแนวโน้มความต้องการรถยนต์ในปีนั้นๆ ใช้เพื่อวางแผนกำลังคนและเครื่องจักรว่า จะต้องมีการเพิ่มหรือลดอย่างไร
การวางแผนจะต้องคำนึงถึงเวลาในแต่ละช่วงการผลิต ตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบ กำหนดการ ส่งมอบ ระยะเวลาในกระบวนการผลิต ตั้งแต่สายการเชื่อม สายการพ่นสี สายการประกอบ การทดสอบต่างๆ จนกระทั่งสำเร็จสมบูรณ์ ประกอบเป็นรถยนต์ที่เรียบร้อยเพื่อการส่งมอบได้
๒. การส่งมอบชิ้นส่วน
กำหนดการส่งมอบชิ้นส่วน จะแยกตามผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละราย ในปัจจุบัน ระบบการส่งมอบแบบทันเวลาพอดี (Just in time system) ถูกนำมาใช้ในการกำหนดเวลาการส่งมอบชิ้นส่วน โดยมีแนวคิดจากหลักการที่ว่า ทุกกระบวนการผลิตจะต้องมีความไว้ใจกัน ดังนั้น จะไม่มีการเก็บสต็อกชิ้นส่วนในแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อที่จะลดปริมาณชิ้นส่วนในสายการผลิตรวม โดยในการผลิตแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์จะมีกำหนดการส่งมอบ เพื่อให้มีปริมาณชิ้นส่วนที่เพียงพอต่อการผลิตตามกำหนดเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดวัตถุดิบในการผลิตแล้ว ยังทำให้วัตถุดิบเสียหายน้อยลงด้วย
ลังบรรจุชิ้นส่วนซีเคดี
เมื่อได้รับคำสั่งซื้อในเดือนนั้นแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละราย ก็จะนำไปวางแผนการผลิตต่อไป เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนทันการส่งมอบตามที่กำหนดไว้ในใบสั่งซื้อ
ในปัจจุบัน การผลิตชิ้นส่วนล่วงหน้าของผู้ผลิตชิ้นส่วนแต่ละราย จะมีปริมาณต่ำ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ดังนั้น หากมีผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใด ที่ไม่สามารถทำตามแผนกำหนดการส่งมอบแล้ว ย่อมจะกระทบต่อสายการผลิตหลัก รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นๆทั้งหมด เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เช่น เครื่องจักรเสีย จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
จะเห็นได้ว่า ระบบการผลิตดังกล่าว ต้องอาศัยกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ผลิตทั้งระบบ จึงต้องมีการเตรียมการที่ดี มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่สามารถทำการผลิตได้
๓. การจัดส่งชิ้นส่วนเข้าสายการผลิต
ชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ จะถูกบรรทุกไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ และขนส่งมาทางเรือ หลังจากผ่านกระบวนการทางศุลกากรแล้ว ชิ้นส่วนจะถูกขนออกมาจากตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้รถยกมาเก็บไว้ในโกดังเพื่อรอการผลิตต่อไป
เมื่อถึงกำหนดการผลิต ชิ้นส่วนที่ต้องใช้จะถูกนำออกมาจากโกดัง ไปไว้ยังพื้นที่จัดชิ้นส่วน จากนั้นชิ้นส่วนก็จะถูกจัดใส่ตะกร้าพลาสติก แล้วจัดวางบนรถ หรืออาจจะจัดวางในรถลากพิเศษ สำหรับชิ้นส่วนนั้นๆโดยเฉพาะ โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ จะถูกคัดแยก เพื่อจัดส่งไปตามจุดประกอบ ในสายพานการผลิตต่อไป
ชิ้นส่วนขนาดเล็กๆ เช่น นอต สกรู คลิบ จะถูกแยกจัดและส่งด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป เนื่องจากมีจำนวนมาก และเป็นชิ้นส่วนที่มีการใช้ทั่วๆ ไป การแบ่งชิ้นส่วนประเภทนี้ จึงไม่นิยมแบ่งด้วยการนับ แต่จะใช้วิธีการชั่ง โดยมีรายการบันทึกไว้ก่อนว่า ชิ้นส่วนหมายเลขใด ใช้ปริมาณเท่าไรต่อครั้ง และมีน้ำหนักเท่าไร การชั่งสามารถให้ความเที่ยงตรงได้พอเพียงภายในระยะเวลาที่สั้นลง
โดยทั่วไป ชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีปริมาณสำรองไว้ เพื่อการประกอบในระยะเวลา ๑๐ วัน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนนั้นๆ มีระยะทางไกลจากประเทศไทยเท่าใด และจะต้องใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือกี่วัน เช่น จากประเทศญี่ปุ่นจะใช้เวลาเดินทางโดยทางเรือ ๙ วัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องคำนวณเผื่อเวลาในการสั่งซื้อ รวมทั้งเวลาในการดำเนินพิธีการทางศุลกากรด้วย
ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ จะมีปริมาณเพียงพอ สำหรับการผลิตในโรงงานวันต่อวันเท่านั้น จะไม่มีการเก็บสำรองไว้มาก ยกเว้นว่าชิ้นส่วนนั้นๆ มีขนาดเล็ก และมีปริมาณการผลิตต่อครั้งมาก เช่น สติกเกอร์ (Sticker) นอต (Knot) สกรู (Screw) เป็นต้น ระยะทางระหว่างโรงงานผลิตชิ้นส่วนกับโรงงานผลิตรถยนต์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการพิจารณาปริมาณสต็อกด้วย
ชั้นเก็บชิ้นส่วนภายในโรงงานจะถูกแยกตาม ประเภทของชิ้นส่วน หรือแยกตามสายการผลิตย่อย เพื่อให้สะดวกในการจัดและควบคุม
ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถัง จะเป็นชิ้นส่วนที่ทำด้วยเหล็ก จึงต้องมีการชุบน้ำมันกันสนิม จากโรงงานผลิตชิ้นส่วน เพราะประเทศไทยมีความชื้นสูง ทำให้ชิ้นส่วนที่ทำด้วยเหล็ก เกิดสนิมได้ง่าย แม้ว่าจะเก็บไว้เพียงวันเดียว หรือสองวันก็ตาม สิ่งที่จะต้องระมัดระวังในการจัดชิ้นส่วนพวกนี้ก็คือ ต้องสวมถุงมือหนัง ในการยกชิ้นส่วน มิฉะนั้นแล้ว จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เนื่องจากชิ้นส่วนจำพวกนี้ มีความคม และต้องระวังไม่ให้มีการตกหล่น หรือกระแทก เพราะจะทำให้เกิดรอยบุบได้ ดังนั้นชิ้นส่วนที่มีขนาดปานกลาง จะถูกบรรทุกมาในรถลากพิเศษเฉพาะชิ้นส่วนนั้นๆ และพยายามให้มีการยกน้อยครั้งที่สุด หลังจากที่ผลิตเป็นชิ้นส่วนแล้ว จนกระทั่งถึงขั้นตอนการประกอบตัวถัง
พนักงานกำลังจัดชิ้นส่วนออกจากลังซีเคดี