ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ
ตรวจสอบการทำงานของระบบไฟฟ้า
การตรวจสอบในระบบผลิตรถยนต์ แบ่งได้ เป็น ๒ ส่วน คือ
ก) การตรวจสอบชิ้นส่วนที่มาประกอบเป็นรถยนต์
เป็นการตรวจสอบ เพื่อควบคุมคุณภาพของชิ้นส่วนที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ผลิตขึ้น ว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยมีลักษณะที่จะต้องควบคุมโดยทั่วไปๆ ไปคือ ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ความแข็งแรงของวัสดุ ความทนทานต่อสภาพต่างๆ เช่น กรด ด่าง เกลือ ทนทานต่อรังสีเหนือม่วง (อัลตราไวโอเลต) ทนทานต่อการเกิดลุกเป็นไฟ ขนาดกำลังไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่ต้องควบคุมดังที่กล่าวมานี้ มิได้หมายถึงว่า ชิ้นส่วนทุกชิ้นส่วนจะต้องถูกตรวจสอบตามลักษณะที่ต้องควบคุมทั้งหมด ชิ้นส่วนบางชิ้น อาจจะมีเพียงไม่กี่ลักษณะ ที่จะต้องมีการตรวจสอบ
ชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานแม้เพียงชิ้นเดียว ก็จะทำให้รถยนต์ทั้งคัน ไม่ได้มาตรฐานไปด้วย ดังนั้นการควบคุมคุณภาพในการผลิต จะต้องกระทำตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นชิ้นส่วน เพื่อไม่ให้มีของเสียในกระบวนการผลิตเลย
ข) การตรวจสอบเมื่อเป็นรถสำเร็จรูป
โดยทั่วไปจะมีหัวข้อในการตรวจสอบตาม สายงาน ลักษณะภายใน และระบบการทำงาน ของอุปกรณ์
๑. ความสวยงามและลักษณะภายนอก
๑.๑ การตรวจสอบสีของรถยนต์ว่า มีรอยขีดข่วน รอยแตกบวมของสี สีเรียบหรือไม่ มีรอยบุบรอยนูนของตัวถังหรือไม่
๑.๒ การตรวจสอบช่องไฟและความเรียบเสมอกันของตัวถัง เป็นการตรวจสอบช่องไฟ รอยต่อของชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ เพื่อให้มีความสวยงาม
๑.๓ การตรวจสอบการประกอบชิ้นส่วนในรถยนต์ เพื่อตรวจดูช่องไฟ รอยต่อ ความเรียบเสมอของผิว และความเรียบร้อยในการประกอบ
๒. ระบบการทำงานของอุปกรณ์
๒.๑ การตรวจสอบการใช้งานของอุปกรณ์รถยนต์ เช่น เครื่องเล่นเทป วิทยุ เครื่องปรับอากาศ ว่ามีการทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือไม่
๒.๒ การตรวจสอบอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัย เช่น ระบบเบรค ไฟฉุกเฉิน ไฟหน้า กระจกมองข้าง อีกทั้งยังเป็นข้อกำหนดตามกฏหมายในหลายๆ ประเทศที่เจริญแล้ว
๒.๓ การทดสอบการรั่วซึมของน้ำ ไม่ให้เข้ามาภายในรถยนต์ได้
๒.๔ การทดสอบวิ่ง เพื่อตรวจสอบการทำงานของชิ้นส่วน ช่วงล่างของรถยนต์ และการประกอบ
๒.๕ การทดสอบเครื่องยนต์ เช่น แรงม้า ปริมาณก๊าซไอเสีย ที่ออกมาจากเครื่องยนต์ โดยการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะเรื่องของก๊าซไอเสีย เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องใส่ใจ เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม