มาตรการในการเตรียมตัวรับภัย
เพื่อให้เกิดความเสียหายจากพายุต่างๆ น้อยที่สุด จึงควรมีมาตรการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยง หรือป้องกันตนจากภัยอันตราย ที่อาจจะเกิดขึ้น มาตรการที่สำคัญๆ ได้แก่
๑. ติดตามข่าวสารจากสื่อสารมวลชนต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เพื่อให้ทราบล่วงหน้าว่า อาจมีพายุเกิดขึ้น จากการออกประกาศคำเตือนของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา
๒. ในกรณีชาวประมง ไม่ควรนำเรือเล็กออกจากฝั่ง หากได้รับการเตือนว่าจะเกิดพาย หรือถ้าอยู่ในท้องทะเลแล้ว ก็ควรรีบนำเรือกลับเข้าฝั่ง และจอดในที่กำบังที่ปลอดภัยที่สุด หากนำเรือกลับเข้าฝั่งไม่ทัน ก็ควรแล่นเรือให้ไกลออกไปจากศูนย์กลางของพายุ
๓. สำหรับประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่งทะเล หรืออยู่ในเส้นทางที่คลื่นและพายุจะเข้าถึง ควรอพยพขึ้นสู่ที่สูง หรือบริเวณห่างไกลชายฝั่ง ให้พ้นจากบริเวณที่พายุโหมกระหน่ำ หรือเกิดน้ำท่วมฉับพลัน
๔. ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามบริเวณลาดเขา หรือเชิงเขา ซึ่งอาจเกิดภัยอันตรายจากน้ำป่าไหลหลาก หรือดินโคลนถล่ม เมื่อฝนตกหนัก จะต้องอพยพหนีภัยให้ทันท่วงที และหากเป็นไปได้ ไม่ควรตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว
๕. เมื่อได้รับการเตือนภัยจากการเข้ามาของพายุ ควรเตรียมสิ่งของจำเป็นในที่พักอาศัย เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ในเวลาฉุกเฉิน สิ่งของที่ต้องเตรียม ได้แก่ อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป น้ำสะอาด อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไฟฉาย เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มที่กันน้ำได้ ยารักษาโรคที่ต้องรับประทานเป็นประจำ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็น
๖. ในกรณีที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ควรระมัดระวังการถูกฟ้าผ่า โดยไม่อยู่กลางแจ้ง หรือไม่หลบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรอยู่กลางแจ้ง ในบริเวณที่สูง เช่น ภูเขา หรือเนินเขา ซึ่งเกิดฟ้าผ่าได้ง่าย หรือพายเรืออยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสื่อล่อฟ้าผ่าได้เช่นกัน
๗. หากกำลังขับรถอยู่ เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ให้ขับด้วยความระมัดระวัง หรือหลบเข้าจอดในที่ที่ปลอดภัย และต้องระมัดระวังว่า มีน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วม อยู่ในเส้นทางที่จะผ่านไปหรือไม่ โดยเฉพาะการเกิดดินถล่ม หรือสะพานข้ามลำน้ำที่อาจพังทลาย จากฝนที่ตกหนัก หรือกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาก
๘. หน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการแถลงข่าว เมื่อทราบว่า อาจเกิดมีพายุขึ้น ณ ที่ใด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ควรต้องแจ้งข่าวให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมเพื่อการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับภัยพิบัติ
๙. ทางราชการควรมีการวางแผนในระยะยาว เพื่อป้องกันภัยจากพายุ เช่น การดูแลไม่ให้มีการถางป่าในบริเวณต้นน้ำลำธาร เสริมสร้างความแข็งแรงของบริเวณไหล่เขาและลาดเขา ที่อาจเกิดดินถล่มหรือโคลนไหลได้ และควรตรวจตราดูความแข็งแรง ของสะพานข้ามลำน้ำ ที่มีการสัญจรไปมาของยานพาหนะต่างๆ