เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับบ้านพักอาศัยและเมือง
ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๒.๕ ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ ๖ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งพลังงาน ที่สามารถสนองความต้องการนี้ และมีความปลอดภัยเพียงพอ แนวทางหนึ่งที่สอดคล้องกับความต้องการดังกล่าวคือ การกระจายโรงไฟฟ้าขนาดย่อม ที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเพียงพอ และทั่วถึง บรรดาประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัย และทดลองเซลล์เชื้อเพลิง ชนิดเยื่อแลกเปลี่ยนโปรตอน และเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แข็ง ขนาด ๑ กิโลวัตต์ ถึง ๗ กิโลวัตต์ สำหรับติดตั้งเป็นระบบผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้ภายในบ้านพักอาศัย ซึ่งเพียงพอ สำหรับใช้กับหลอดไฟให้แสงสว่าง โทรทัศน์ ตู้เย็น และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ รวมทั้งได้ทดลองสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ ๒๕๐ กิโลวัตต์ จนถึง ๑,๐๐๐ กิโลวัตต เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชนในระดับหมู่บ้าน หรือระดับเมืองอีกหลายแห่ง ถึงแม้ว่าระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ จะใช้แก๊สไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับเซลล์เชื้อเพลิงขนาดเล็ก แต่การผลิตแก๊สไฮโดรเจนปริมาณมาก ด้วยวิธีแยกน้ำด้วยไฟฟ้าอาจไม่เหมาะสมนัก ดังนั้น โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ จึงมักใช้กระบวนการเปลี่ยนเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น แก๊สมีเทน แก๊สธรรมชาติ หรือถ่านหิน ให้เป็นแก๊สไฮโดรเจน ซึ่งมักก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย
โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ขนาด ๒๐๐ กิโลวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา