เล่มที่ 32
นาโนเทคโนโลยี
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประวัติความเป็นมาของนาโนเทคโนโลยี

            แนวคิดที่นำไปสู่การพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม คือ ปาฐกถา ของศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟยน์แมน (Richard Phillips Feynman) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งบรรยาย ณ สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ เรื่อง "There’s Plenty of Room at the Bottom" สาระสำคัญ ของการบรรยายในครั้งนั้น ได้จุดประกายแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ของนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดเรียงอะตอมให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ อย่างแม่นยำ มีเสถียรภาพ และสามารถนำไปประดิษฐ์สิ่งเล็กจิ๋วต่างๆ ได้ โดยปรัชญา และแนวคิดนี้ ทำให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งนาโนเทคโนโลยี" ในเวลาต่อมา


ดร. คิม อีริก เดรกซ์เลอร์
(Kim Eric Drexler)

            หลังจากนั้นต่อมาอีกประมาณ ๓๐ ปี ดร. คิม อีริก เดรกซ์เลอร์ (Kim Eric Drexler) วิศวกรชาวอเมริกัน ได้ลงมือบุกเบิกแนวคิดนาโนเทคโนโลยี และทุ่มเทการค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจัง เดรกซ์เลอร์ได้เขียนหนังสือชื่อ "Engines of Creation : The Coming Era of Nanotechnology" พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดตัวนาโนเทคโนโลยีออกสู่สาธารณชน ในหนังสือเล่มนั้น เดรกซ์เลอร์ได้กล่าวว่า โลกจะเปลี่ยนสภาพไปโดยแอสเซมเบลอร์ (assemblers) ซึ่งตามแนวคิดของเขา แอสเซมเบลอร์นี้ สามารถสร้างหรือประกอบชิ้นส่วนวัสดุขึ้น จากการควบคุมจัดเรียงตัวของอะตอมด้วยความเที่ยงตรง ทำให้ไม่มีของเสียเหลือทิ้ง ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ หรือการใช้พลังงานเกินความจำเป็น เดรกซ์เลอร์ยังได้ให้คำนิยาม นาโนเทคโนโลยี ไว้ในหนังสือของเขาว่า นาโนเทคโนโลยีเชิงโมเลกุล (molecular nanotechnology) เป็นนาโนเทคโนโลยีที่อยู่บนพื้นฐานของการโยกย้ายเปลี่ยนแปลง ในระดับโมเลกุล หรืออะตอมทีละอะตอม

            นอกจากนักวิทยาศาสตร์ทั้ง ๒ คนนี้แล้ว ยังมีคนอื่นๆ อีก ที่ได้ริเริ่มศึกษาค้นคว้านาโนเทคโนโลยีไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป