วัสดุนาโน (nanomaterials)
วัสดุนาโนหรืออนุภาคนาโนเป็นอนุภาคที่มีขนาดในระดับ ๑ - ๑๐๐ นาโนเมตร ซึ่งโดยประมาณเทียบได้กับขนาดเฉลี่ยของไวรัส หรือมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของคน ประมาณ ๑,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ เท่า ซึ่งสามารถตรวจพบ หรือสัมผัสรับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว วัสดุนาโนสามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ชนิดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาจพบได้หลังเกิดไฟป่า หรือภูเขาไฟระเบิด บางชนิดอาจอยู่ในรูปของอนุภาคไวรัส ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ส่วนอนุภาคนาโน ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้จากการสังเคราะห์โดยตรง และเป็นสารปนเปื้อนออกมา เช่น จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เครื่องจักร หรือยานพาหนะ หรือจากกระบวนการผลิต ทั้งทางเคมี และชีวภาพ

โครงสร้างของเพชร
ช่วงก่อนศตวรรษที่ ๒๑ ตามปกติ เมื่อกล่าวถึงวัสดุในทางวัสดุศาสตร์ เรามักจะนึกถึงโลหะ อโลหะ เซรามิก และพอลิเมอร์ แต่เมื่อมาถึงยุคนาโนเทคโนโลยี เราต้องปฏิวัติแนวคิด และค่านิยมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ วัสดุในยุคปัจจุบันจะขยายรวมถึงวัสดุในความหมายเดิม และวัสดุที่มีขนาดนาโนที่ในปัจจุบัน มักมีการนำมาใช้ในกระบวนการผลิต เช่น อนุภาคนาโน วัสดุดีเอ็นเอด้วย วิวัฒนาการนี้เอง เป็นผลให้องค์ความรู้เดิมด้านวิทยาศาสตร์ พื้นฐานที่ใช้อธิบายวัสดุ จะต้องมีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้สอดคล้อง และสมจริง สิ่งที่เคยอธิบายได้ด้วยหลักการเดิม กลับมีความซับซ้อน และมีความเป็นไป ที่แปลกไปจากเดิมมาก ดังนั้น หลักการ หรือคำอธิบาย ที่เกี่ยวกับระบบนาโนจะต้องได้รับการบูรณาการขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับระบบนาโนอย่างแท้จริง

โครงสร้างของแกรไฟต์
วัสดุนาโนมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่
๑. วัสดุที่มีธาตุคาร์บอนเป็นหลัก (carbonbased materials)
คาร์บอนเป็นธาตุที่รู้จักกันแพร่หลาย และเป็นองค์ประกอบหลักของสิ่งมีชีวิต ส่วนมากแล้ว อะตอมของคาร์บอนจะยึดกันเอง หรือยึดกับอะตอมของธาตุอื่นด้วย พันธะโคเวเลนซ์ (covalent bond) ซึ่งเป็นการเกาะยึดที่แข็งแรง การยึดกันเอง ของอะตอมคาร์บอน ทำให้เกิดเป็นโมเลกุล หรือโครงสร้างใหญ่ขึ้นมาได้หลากหลาย เช่น โครงสร้างของเพชร และแกรไฟต์ ซึ่งมีสมบัติทางกายภาพ อาทิ ความแข็ง การหักเหแสง ที่แตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นผลจากรูปแบบการจัดเรียงอะตอมที่ต่างกัน นอกจากนี้เมื่ออะตอมของคาร์บอน ไปยึดกับอะตอมของธาตุอื่นๆ และมีการเรียงตัวในแบบต่างๆ ก็จะทำให้เกิดเป็นสารมากมายหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น เกิดเป็นข้าว เผือก ไม้ ทั้งนี้ แล้วแต่ระบบจัดการของธรรมชาติ โดยธรรมชาติมีวิธีควบคุม ดูแล หรือจัดการ ให้มีการจัดเรียงอะตอม ทำให้เกิดเป็นโครงสร้างแบบต่างๆ อย่างหลากหลาย และเป็นระบบ ทั้งรูปแบบที่เป็นผลึก (crystal) และอสัณฐาน (amorphous) ปัจจุบัน เราค้นพบรูปแบบใหม่ของคาร์บอน ที่กำลังเป็นที่สนใจ และมีการวิจัยกันอย่างกว้างขวาง
บักกีบอล
ก. ฟูลเลอร์รีนคาร์บอน ๖๐ (Fullerenes C60 )
ซึ่งมีชื่อเล่นว่า บักกีบอล (buckeyballs) เป็นกลุ่มของอะตอมคาร์บอน ที่เกาะกันเป็นรูปวงแหวนห้าเหลี่ยม ผสมกับหกเหลี่ยม ซึ่งวงแหวนเหล่านี้จะมาเกาะสลับกัน เป็นโครงสร้างสามมิติ มีรูปทรงคล้ายลูกฟุตบอล โดยได้ค้นพบตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ นอกจาก C60 แล้ว ยังมี C70 ซึ่งมีลักษณะคล้ายลูกรักบี้ และอื่นๆ จนถึงประมาณ C120 โดยความต่างกันของโมเลกุลเหล่านี้ จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของจำนวนวงแหวน แต่ละชนิด และรูปแบบการจัดเรียงเป็นสำคัญ โมเลกุลเหล่านี้ถือว่า มีความสำคัญต่อการพัฒนา นาโนเทคโนโลยีอย่างมาก เช่น จากผลการวิจัยพบว่า เมื่อนำอะตอมของโลหะ เข้าไปวางในลูกบักกีบอลได้ จะทำให้สมบัติการนำไฟฟ้าดีขึ้น ซึ่งเหมาะกับการที่จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก และยังลดปัญหาการถูกทำลาย หรือการเสื่อมสภาพ และไม่เสถียร เมื่อเทียบกับการใช้อะตอมของโลหะตามลำพัง ดังในปัจจุบัน
ข. ท่อนาโนคาร์บอน (carbon nano-tubes)
มีลักษณะเป็นท่อเปิดรูปทรงกระบอกเหมือนการม้วนพับของแผ่นแกรไฟต์ โดยมีความกว้าง หรือเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ ซึ่งเล็กมาก ที่พบมากประมาณ ๔ นาโนเมตร (เล็กกว่าเส้นผม ประมาณ ๕๐,๐๐๐ เท่า) โดยอัตราส่วนของความยาวต่อความกว้างของท่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ เท่า

ท่อนาโนคาร์บอน
สมบัติทางกายภาพที่สำคัญของท่อนาโนคาร์บอน คือ ความแข็ง โดยความแข็ง ของวัสดุนาโนชนิดนี้ เท่ากับความแข็งของเพชร ซึ่งแข็งมากกว่าเหล็กกล้าประมาณ ๑๐๐ เท่า ในขณะที่มีน้ำหนักเพียง ๑ ใน ๖ เมื่อคิดจากปริมาตรที่เท่ากัน ท่อนาโนคาร์บอนนำความร้อน และนำกระแสไฟฟ้าได้ดีมาก เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สมบัติการนำไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงในช่วงค่อนข้างกว้างมาก คือ สามารถมีสมบัติของตัวนำ ตั้งแต่โลหะ สารกึ่งโลหะ ไปจนถึงฉนวน ซึ่งขึ้นอยู่กับ โครงสร้างของโมเลกุล คาดกันว่า สมบัติเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต ขึ้นอยู่กับเทคนิคการสังเคราะห์

การม้วนของแผ่นแกรไฟต์ เป็นรูปทรงกระบอก หรือท่อนาโนคาร์บอนแบบผนังเดี่ยว
เนื่องจากสมบัติที่แข็งและเบา จึงได้มีการพิจารณาในเชิงวัสดุศาสตร์เกี่ยวกับ การนำท่อนาโนคาร์บอนไปใช้ในการสร้างอากาศยาน ปัจจุบันลำตัวของเครื่องบินทำจากวัสดุ ที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้อะลูมิเนียมแข็งน้อยกว่าเพชรมาก แต่เบา สามารถทำให้เป็นรูปต่างๆ ได้ดี โดยไม่เปราะหรือแตกง่าย และราคาไม่แพง แต่หากใช้ท่อนาโนคาร์บอน เครื่องบินจะมีน้ำหนักลดลงได้ถึง ๕๐ เท่า โดยมีความแข็งแรงเท่ากัน หรือมากกว่า และคาดว่า ต้นทุนจะต่ำกว่าเดิม นอกจากเครื่องบินแล้ว ยังอาจนำไปใช้กับยานอวกาศด้วย การพัฒนาด้านวัตถุดิบโดยใช้นาโนเทคโนโลยี จะทำให้ประสิทธิภาพเชิงพาณิชย์ ของธุรกิจการบินสามารถปรับตัวดีขึ้นอีกมาก ปัจจุบัน ได้มีการนำท่อนาโนคาร์บอน มาใช้เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ ที่ใช้สมบัติในระดับจุลภาคของสาร เช่น กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอมแบบกราด รวมทั้งการใช้เป็นส่วนผสมกับวัสดุอื่น เช่น พอลิเมอร์ เพื่อทำให้โครงสร้างของผลิตภัณฑ์มีความแข็งแรงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า สายนาโน (nanowire) ซึ่งจะสามารถใช้เป็นชิ้นส่วนทรานซิสเตอร์ หรือประตูสัญญาณตรรกะ (logic gates) อันจะทำให้เกิดการปฏิวัติกระบวนการผลิต ในระบบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์
๒. วัสดุนาโนสารกึ่งตัวนำและโลหะ (semiconductor and metal nanomaterials)
เนื่องจากอนุภาคนาโนมีขนาดเล็กจิ๋วและมีพื้นที่ผิวต่อปริมาตรมาก จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ในอุตสาหกรรมสารเร่งปฏิกิริยา (catalyst) ซึ่งเกี่ยวข้องกับพื้นที่ผิวโดยตรง และยังนำไปใช้เป็นตัวตามรอย โดยเฉพาะในโครงสร้างที่เล็กมาก และยากต่อการติดตาม หากนำอนุภาคนาโนไปติดตั้ง หรือวางตามตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ผนังเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ หรือโครโมโซม จะทำให้เราสามารถติดตามการทำงานของระบบเหล่านั้นได้ดี ที่สำคัญได้แก่
ก. ไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2)
หรือไทเทเนีย เป็นทั้งสารกึ่งตัวนำและเซรามิก สารชนิดนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปี แต่ใช้เป็นอนุภาคระดับไมโคร หรือ ๑๐-๖ เช่น เป็นส่วนผสมของสีทาบ้าน และเครื่องสำอาง เพื่อทำให้บริเวณที่ใช้มีความสว่างขึ้นและอยู่ทน เนื่องจาก สารนี้มีลักษณะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสง (photocatalyst) จึงได้ถูกนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ หรือตัวฟอกอากาศ แต่เมื่ออนุภาคไทเทเนียมีขนาดเล็กลง จนถึงระดับนาโน ทำให้สัดส่วนของพื้นที่ผิวต่อปริมาตรเพิ่มขึ้นมาก และสมบัติสำคัญบางอย่าง เช่น การหักเหแสงนั้นจะเปลี่ยนไป ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการเกิดปฏิกิริยา และประโยชน์ต่อการใช้งานมากขึ้น การสังเคราะห์อนุภาคนาโนไทเทเนียด้วยเทคนิคต่างๆ เช่น เชิงเคมี เชิงกล หรือแบบใช้ความร้อนสูง จะทำให้ได้อนุภาคนาโนที่มีสมบัติโดยเฉพาะ ด้านกายภาพ และเสถียรภาพ ต่างกันตามจุดประสงค์การใช้งาน อย่างไรก็ตาม การสังเคราะห์อนุภาคนาโน เพื่อให้ได้ผลผลิตมากพอคุ้มทุน อนุภาคมีเสถียรภาพสูงพอ และอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานในรูปแบบต่างๆ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป

อนุภาคของไทเทเนียมไดออกไซต์
ข. ซิงก์ซัลไฟด์ (ZnS)
เป็นสารกึ่งตัวนำที่เรืองแสง ที่ใช้ในการทำจอภาพเครื่องรับรู้ อุปกรณ์เกี่ยวกับเลเซอร์ เป็นต้น สำหรับอนุภาคระดับนาโนนั้น ได้มีการใช้ประโยชน์จากสมบัติที่เกี่ยวกับการเรืองแสง เช่น การทำให้เกิดภาพของระบบขนาดเล็ก และใช้ติดตามการทำงาน ของกลไกต่างๆ โดยเฉพาะในระดับเล็กลงไปจากเซลล์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาด้านชีวภาพ และการแพทย์

อนุภาคของซิงก์ซัลไฟด์
ค. เงิน (Ag)
เป็นที่รู้จักกันอย่างดี มานานกว่า ๑๐๐ ปีพอๆ กับทองและทองแดง สมบัติของเงินที่สำคัญคือ ที่เกี่ยวกับการนำความร้อน และนำไฟฟ้า ในด้านสมบัติที่เกี่ยวกับการใช้เป็นตัวทำลาย หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคนั้น ก็มีหลักฐานมายาวนานเช่นกัน สำหรับอนุภาคนาโนของเงิน พบว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งาน ซึ่งเป็นผลมาจาก การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ผิวต่อปริมาตร ปัจจุบัน ได้มีความพยายามที่จะนำอนุภาคนาโนเงิน มาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีสมบัติในการต่อต้านเชื้อโรคที่มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง ดังจะเห็นได้จากเสื้อนาโน ที่มีจำหน่ายกันในปัจจุบัน

อนุภาคของเงิน
๓. วัสดุดีเอ็นเอ (DNA material)
ดีเอ็นเอเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับรหัส หรือการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูก เช่น ลักษณะดวงตา สีผม รวมไปถึงโรคทางพันธุกรรมบางโรค ดีเอ็นเอ มีองค์ประกอบหลักคือ เบส น้ำตาล และฟอสเฟต มีลักษณะเป็นสายเกลียวคู่ ขนาดเล็ก และยาวมาก ประกอบด้วยน้ำตาล ปกติ สายดีเอ็นเอมีความกว้างประมาณ ๒ นาโนเมตร และมีเบสรวมประมาณ ๓ พันล้านเบส หรือประมาณ ๑๐ คู่ ต่อความยาว ๓.๔ - ๓.๖ นาโนเมตร ดังนั้น โครงสร้างที่ทำจากดีเอ็นเอจะมีระดับขนาดเป็นนาโนเมตร
วัสดุดิเอ็นเอ
นับตั้งแต่ได้มีการค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ดีเอ็นเอได้มีบทบาทสำคัญ เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างมาก ทั้งทางด้านพันธุศาสตร์ ด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านยีนบำบัด (gene therapy) อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคนาโนเทคโนโลยีแล้ว ก็ควรพิจารณาว่า ทำอย่างไรจึงจะนำดีเอ็นเอมาใช้เป็นวัตถุดิบ ในการสร้างสิ่งที่เล็กจิ๋วในระดับนาโนได้ เนื่องจาก ดีเอ็นเอได้รับการพิจารณาว่า เป็นสารที่สามารถใช้เป็นสื่อในการส่งข้อมูล หรือสัญญาณ ในระบบสิ่งมีชีวิต อันเนื่องมาจากปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี ได้มีความสามารถในการ "เรียนรู้" และมีความสามารถ ในการปรับสภาพให้เหมาะกับสภาวการณ์และเงื่อนไข ภายใต้ความจำเพาะที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น ดีเอ็นเอจึงเป็นวัสดุนาโน ที่มีความสำคัญ ทางด้านนาโนเทคโนโลยีในอนาคต