เล่มที่ 31
ตู้พระธรรม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แนวคิดเกี่ยวกับตู้พระธรรม

            ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าคนไทยเริ่มใช้ตู้พระธรรมมาตั้งแต่เมื่อใด แม้ในศิลาจารึกจะได้กล่าวถึง การสร้างวัสดุสิ่งของหลายสิ่งหลายอย่างถวายวัด เพื่อเป็นพุทธบูชา หรืออุทิศไว้กับพระพุทธศาสนา ตามที่ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ปรากฏข้อความในที่ใดๆ บ่งบอกว่า ได้มีการสร้างตู้ หรืออุทิศตู้ ให้แก่วัด หรือพระพุทธศาสนา คงมีแต่คำบางคำปรากฏอยู่ในศิลาจารึกบางหลัก ซึ่งอาจนำมาพิจารณาใช้เป็นแนวคิด ที่จะช่วยให้คลี่คลายปัญหานี้ได้ เช่น คำว่า พระธรรมมณเฑียร หอปิฎก หอพระปิฎกธรรม คำเหล่านี้ หมายถึง อาคารหรือสถานที่เก็บพระไตรปิฎก หรือพระธรรมคัมภีร์ เรียกตามความนิยมในปัจจุบันว่า หอพระไตรปิฎก หรือหอไตร คำเหล่านี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลายหลัก ดังจะได้ยกตัวอย่าง พอเป็นสังเขป ดังนี้

            ๑. ศิลาจารึกวัดช้างล้อม (หลักที่ ๑๐๖) จังหวัดสุโขทัย

                        ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๗ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔๑ - ๔๒ ความว่า "แล้วจึงมาตั้งกระทำหอพระปิฎกธรรมสังวรใจบูชาพระอภิธรรม"

            ๒. ศิลาจารึกจังหวัดเชียงราย (หลักที ๘๗)

                        จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย - บาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๑ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๙ - ๑๐ ความว่า "หื้อไม้สักแปลงพิหารทั้งหอปิดก"

            ๓. ศิลาจารึกวัดป่าใหม่ (หลักที่ ๑๐๑)

                        ปัจจุบันอยู่ที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๐ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๓ - ๑๔ ความว่า "ไว้กับอุโบสถห้าครัว ไว้กับหอปิฎกห้าครัว"

            ๔. ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ (หลักที่ ๗๑) จังหวัดลำพูน

                        จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๒ ความว่า "จึงให้สร้างพระธรรมมนเทียรอันอาเกียรณ์"

            ๕. ศิลาจารึกวัดศรีอุโมงคำ (หลักที่ ๑๐๕) อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา

                        จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๖ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๗ ความว่า "๕๕๐ เงินไว้กับหอปิฎก"

            พิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกซึ่งได้ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ทำให้ทราบว่า การสร้างอาคาร หรือสถานที่เก็บรักษาหนังสือมีปรากฏมานานแล้ว อย่างน้อยน่าจะไม่ต่ำกว่า พ.ศ. ๑๙๒๗ ดังนั้น เมื่อมีอาคาร ซึ่งใช้เป็นที่เก็บหนังสือแล้ว จึงอาจสันนิษฐานต่อไปได้อีกว่า การจัดเก็บหนังสือภายในอาคารนั้น น่าจะมีสิ่งรองรับหนังสือ ซึ่งควรต้องมีขนาด และรูปทรงอันเหมาะสม สำหรับการใช้เป็นที่เก็บรักษาหนังสือ หรือคัมภีร์ใบลาน ขณะเดียวกันสิ่งที่ใช้เก็บหนังสือนั้น ก็ควรต้องให้มีลักษณะสภาพที่มองดูแล้ว เกิดความรู้สึกว่าเป็นของสำคัญ มีคุณค่าสูงยิ่ง และการที่จะพูดถึงหนังสือ หรือวัสดุที่ใช้สร้างหนังสือว่า เป็นสิ่งสำคัญนั้น มีข้อความบางประการปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยบางหลัก ดังนี้คือ

            ๑. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย

                        จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๙ ความว่า "โอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร"

            ๒. ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร จังหวัดสุโขทัย

                        จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาเขมร เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๔ - ๔๗ ความว่า "พระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช เสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทอง และพระไตรปิฎกที่เก็บไว้บนพระราชมนเทียร"


คัมภีร์ใบลานที่ใช้สายสนองร้อยรวมกันเป็นผูก
            หนังสือพระไตรปิฎกที่ปรากฏข้อความอยู่ในจารึกดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นเป็นหนังสือที่จารลงบนใบลาน หรือที่เรียกกันว่า หนังสือใบลาน หรือ คัมภีร์ใบลาน นั่นเอง มีรูปลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีความยาว มากกว่าความกว้าง เรียงซ้อนกัน มีสายสนองร้อยรวมเป็นผูก หนังสือใบลานเรื่องหนึ่งๆ หรือคัมภีร์หนึ่งๆ นั้น อาจมีจำนวนผูกมากน้อยต่างกันตามความสั้นยาว ของเรื่องที่จารลงบนใบลานนั้น แม้จะมีจำนวนผูกเท่าใดก็ตาม นับรวมเป็น ๑ คัมภีร์ โดยต้องมีไม้ประกับ ๒ อัน กำกับไว้หน้าหลัง มัดรวมกัน มีผ้าห่อ แล้วมัดด้วยเชือก เสียบฉลาก หรือป้ายบอกชื่อคัมภีร์ไว้ที่หน้ามัดด้วย ตามลักษณะดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ทราบได้ว่า วัสดุที่ใช้สร้างหนังสือคืออะไร รูปทรงของหนังสือเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงอาจนำรูปลักษณะของหนังสือที่กล่าวถึงนี้ ไปเป็นข้อสมมุติฐาน ถึงสิ่งที่จะใช้เป็นที่รองรับ หรือสิ่งที่ใช้เก็บรักษาหนังสือดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานว่า หนังสือเหล่านั้นเก็บในที่ใด มีวิธีการเก็บอย่างไรในสมัยที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ในจารึกเหล่านั้น แต่อาจคาดคะเนได้จากข้อมูลทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นว่า หนังสือเหล่านั้นจะต้องมีสิ่งรองรับ ซึ่งอาจเป็นหีบ ตู้ หิ้ง ชั้น ตั่ง โต๊ะ หรือวัสดุที่มีรูปลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้มีการสร้างมาแล้ว หรืออาจจะสร้างพร้อมๆ กับการสร้างหนังสือ ก็ได้

            ในจารึกปราสาทพระขรรค์ ที่พบในบริเวณเมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๔ ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๔๑ ความว่า "หีบจีน ๕๒๐ ใบ" บรรทัดที่ ๖๗ - ๗๒ ความว่า "ศรีชยราชธานี ศรีชยันตนครี ชยสิงหวตี ศรีชยวีรวตี ละโว้ทยปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ชยราชปุรีศรีชยสิงหปุรี ศรีชยวัชรปุรี ศรีชยสตัมภปุรี ศรีชยราชคิริ ศรีชยวีรปุรี ศรีชยวัชรวตี…" ด้านที่ ๔ บรรทัดที่ ๓ ความว่า "จากเมืองหลวงไปยังเมืองวิมาย (มี) ที่พักพร้อมด้วยไฟ ๑๗ แห่ง"


หีบพระธรรม

            เมื่อพิจารณาข้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์ข้างต้นนี้ มีการกล่าวถึงชื่อเมืองบางเมือง ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่า เป็นเมืองที่อยู่ในเขตของประเทศไทยปัจจุบัน อาทิ เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสิงห์ และเมืองพิมาย นอกจากชื่อเมืองแล้ว ยังมีคำว่า หีบจีน  ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญบ่งบอกให้รู้ว่า ในช่วงเวลาราว พ.ศ. ๑๗๓๔ นั้น จีนรู้จักใช้หีบใส่วัสดุสิ่งของแล้ว และยังได้ให้แบบอย่าง การใช้หีบ แก่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย หีบจีนในสมัยนั้นมีรูปลักษณะอย่างไร ไม่อาจทราบได้อย่างถูกต้อง แต่อาจสันนิษฐานได้ว่า ลักษณะรูปทรงของหีบน่าจะเป็นทรงลูกบาศก์ ซึ่งมีขนาดกว้าง แคบ สูง ต่ำ แตกต่างกันไป ตามประโยชน์ใช้สอย และก็น่าจะใช้หีบเป็นที่ใส่หนังสือด้วย เพราะในปัจจุบันยังพบว่ามีหีบใส่คัมภีร์ใบลาน ที่เรียกว่า หีบพระธรรม เป็นหลักฐานให้เห็นอยู่ หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นไปได้ หีบใส่หนังสือก็น่าจะใช้กันแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๑๗๓๔ และเมื่อมีการสร้างหอพระไตรปิฎกเพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์เหล่านั้น ก็น่าจะบรรจุอยู่ในหีบ เก็บไว้ในหอพระไตรปิฎกนั่นเอง


หีบพระธรรมรูปทรงแบบหนึ่ง

            แม้ว่าการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเรื่องตู้จากจารึกต่างๆ จะไม่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนก็ตาม แต่หากพิจารณารูปลักษณะของหีบทรงลูกบาศก์ แล้วต่อขาลงมา ๔ ข้าง จะเห็นได้ว่า หีบนั้นมีรูปลักษณะเป็นตู้ไปโดยปริยาย ซึ่งใช้เปิดปิดทางด้านหน้า หากว่าข้อสันนิษฐานนี้เป็นไปได้ ก็อาจจะกำหนดไว้เป็นแนวทาง ในเบื้องต้นว่า การใช้หีบเก็บวัสดุสิ่งของน่าจะมีมาก่อนการใช้ตู้ และในสมัยต่อๆ มา เมื่อมีตู้ใช้แล้ว ก็น่าจะได้มีการดัดแปลงรูปลักษณะของตู้ให้สวยงาม มีองค์ประกอบการตกแต่งประดับเพิ่มเติมมากขึ้น มีรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันออกไปหลายแบบ หลายอย่าง และมีประโยชน์ในทางใช้สอยได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ความนิยมในการใช้ตู้มีมากขึ้นเป็นลำดับ

            จากหลักฐานที่บ่งบอกว่า หมู่ชนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้จักใช้หีบมาแล้วตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และแม้ว่า ไม่มีข้อยืนยันว่า มีการใช้ตู้มาแต่เมื่อใด แต่ข้อสันนิษฐานที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะไม่ใช่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ดังนั้น ในสมัยสุโขทัยซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรอิสระในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ การใช้หีบหรือตู้ของคนไทยในสมัยนั้น จึงน่าจะได้แบบอย่างสืบต่อมาจากอดีต หรือถ้าได้รับอิทธิพลมาจากจีน ลักษณะรูปทรงของหีบหรือตู้ในสมัยนั้น น่าจะเป็นแบบจีนก็ได้


หีบพระธรรมซึ่งสันนิษฐานว่า แต่เดิมอาจใช้เป็นที่เก็บเสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้ก็ได้

            การใช้หีบและตู้ในหมู่คนไทยคงจะได้รับความนิยม และใช้สืบต่อกันมา จนถึงสมัยอยุธยา ซึ่งอยู่ระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ตลอดระยะเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี สันนิษฐานว่า น่าจะได้มีการดัดแปลงรูปลักษณะของตู้ ให้มีประโยชน์ใช้สอยได้สะดวก และดูงดงามตามอุปนิสัยของคนไทย จนกลายรูปไปเป็นลักษณะของไทยโดยเฉพาะ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจเกิดจากฐานะของผู้ใช้ หากใช้กันอยู่ตามบ้านเรือนทั่วไปของชนชั้นกลาง หรือชนชั้นสามัญ รูปทรง และคุณภาพของตู้ ก็คงจะไม่สวยงามหรูหรามากนัก อาจทำจากไม้ธรรมดา ไม่มีการตกแต่งให้วิจิตรพิสดาร แต่สำหรับชนชั้นสูง และผู้ที่มีฐานะดี ซึ่งนิยมใช้สิ่งของที่งดงาม ทรงคุณค่า หรูหรา ราคาแพง ย่อมต้องการให้มีการตกแต่งอย่างละเอียด ประณีตงดงาม

            ตามคติความเชื่อและประเพณีของคนไทยแต่โบราณ นิยมสร้าง และถวายสิ่งของ ไว้ให้แก่พระพุทธศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชาบ้าง เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาบ้าง เพื่อให้เกิดอานิสงส์ส่งให้ตนเองได้ไปเกิดบนสวรรค์ ในที่บรมสุข ได้พบพระศรีอารย์ ซึ่งจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต เพื่อให้ได้บรรลุถึงความเป็นผู้เสวยสุข สำเร็จสมปรารถนาถึงพระนิพพานเป็นที่สุดบ้าง หรือเพื่อเป็นการอุทิศผลบุญกุศลผลทานนั้นๆ ให้แก่ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ บุพการีผู้ล่วงลับไปแล้วบ้าง สิ่งของที่สร้างให้แก่ผู้อื่นก็ดี ถวายแก่พระพุทธศาสนาก็ดี ย่อมนิยมทำให้ดีที่สุด มีคุณค่าที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และหากเจาะจงเพื่อพระพุทธศาสนา ก็ยิ่งต้องดีจนสุดวิเศษทีเดียว ดังตัวอย่างคำจารึกปรากฏอยู่ที่ตู้พระธรรมหลายตู้ในหอสมุดแห่งชาติ แต่จะยกตัวอย่างเฉพาะตู้หมายเลข กท. ๑๒๗ ขอบล่างด้านหน้า ความว่า "๏ ตู้ใบนี้ นายแกน แม่หนับ แม่ทองอยู่ สร้างเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒๔๐๘ พระวัสสา ปีฉลู สัปตศก เป็นเงินตรา ๑ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนิพพานเถิด" นอกจากจะสร้างสิ่งของถวายแก่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังนิยมนำสิ่งของชิ้นสำคัญ หรือชิ้นที่ดีที่สุด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของเคยใช้อยู่ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ทายาทไม่ประสงค์จะเก็บไว้เอง จึงได้นำไปถวายวัด เพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่เจ้าของผู้ล่วงลับไปแล้ว สิ่งของดังกล่าวนั้นรวมถึงหีบและตู้ด้วย นักปราชญ์บางท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า หีบ หรือตู้ ที่ถวายไว้แก่พระพุทธศาสนานั้น แต่เดิมผู้เป็นเจ้าของอาจใช้เป็นที่เก็บเสื้อผ้าหรือสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ในครัวเรือน เมื่อถวายไว้แก่วัดแล้ว พระสงฆ์อาจใช้เป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ และเมื่อกาลเวลาผ่านไป ชื่อที่ใช้เรียกหีบหรือตู้ อาจเปลี่ยนไปเรียกตามสิ่งของที่เก็บว่า หีบพระธรรม หรือตู้พระธรรม ในสมัยต่อมา ตู้ไทยโบราณอย่างที่เรียกว่า ตู้พระธรรม คนทั่วไปอาจเห็นว่า เป็นของสูง มีคุณค่า จึงนิยมสร้างถวายวัดอย่างเดียว และเลิกสร้างสำหรับใช้ในครัวเรือนไปโดยปริยาย