การตกแต่งตู้พระธรรม
ตู้พระธรรมส่วนมากมักตกแต่งตามส่วนต่างๆ ของตู้ด้วยลวดลายไทย เป็นลายรดน้ำบนพื้นรักดำที่ทำเป็นลายกำมะลอ ลายจำหลักประดับกระจก และลายประดับมุก ก็มีบ้างแต่เพียงส่วนน้อย สำหรับลายที่ใช้ตกแต่งในแต่ละส่วนของตู้ ช่างก็จะเลือกใช้ลายตามประเภท หรือหน้าที่อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะลายไทย เช่น ลายหน้ากระดาน จะใช้ตกแต่งเฉพาะขอบบน และขอบล่างของตู้ ส่วน ลายเชิง ใช้เฉพาะเสาขอบตู้ตอนบนและตอนล่าง
ลายก้านขด
๑. ส่วนต่างๆ ของตู้พระธรรมที่มีการตกแต่ง
ด้านหน้าและด้านข้างของตู้
ด้านหน้าซึ่งทำเป็นบานประตู ๒ บาน และด้านข้างทั้งซ้ายและขวาเป็นส่วนที่ตกแต่งลวดลายลักษณะเดียวกัน เช่น มีลายกระหนกเปลวเครือเถา ลายกระหนกใบเทศ ลายก้านขด ลายเหล่านี้ช่างมักตกแต่งให้มีนกคาบ นาคคาบ หรือออกเถาแบบต่างๆ เคล้าภาพสัตว์ มีนก กระรอก ลิง เป็นอาทิ บางตู้ก็มีภาพประกอบ ทั้งภาพเล่าเรื่อง และภาพลอยตัว เช่น ภาพพุทธประวัติ วรรณกรรมชาดก รามเกียรติ์ เทพทวารบาล และสัตว์หิมพานต์
ขอบตู้ด้านบนและด้านล่าง
จะใช้ลายหน้ากระดาน เช่น ลายประจำยามลูกฟัก ลายประจำยามลูกฟักก้ามปู ลายดอกซีก ดอกซ้อน ลายหมอนทอง ลายเกลียวใบเทศ ลายสังวาลเพชรพวง
เสาขอบตู้ทั้ง ๔ เสา
ระหว่างช่วงกลางเสานิยมเขียนลายก้านต่อดอก ลายรักร้อย ซึ่งมีทั้งลายรักร้อยหน้าสิงห์ ลายรักร้อยบัวร้อย และลายรักร้อยใบเทศ ส่วนตอนบนและตอนล่าง ของเสาขอบตู้ มักเป็นลายกรวยเชิง และมีบางตู้ที่ช่วงกึ่งกลางเสาตกแต่งด้วยลายประจำยามรัดอก
ลายกระหนกเปลวเครือเถา
เชิงตู้
ตู้พระธรรมที่มีเชิงตู้ส่วนมากจะทำเป็นรูปปากสิงห์ หรือหูช้าง ซึ่งนิยมทำด้วยกรรมวิธีต่างๆ กัน เช่น ลายรดน้ำประดับกระจก และจำหลักฉลุโปร่ง สำหรับลวดลายที่ใช้มีลายก้านขด ลายดอกพุดตานลายกระหนกเปลวเครือเถา นกคาบ นาคคาบ ออกเถาเทพนม ช่อเปลวหางโต
เสาขาตู้
โดยเฉพาะตู้ขาหมู นิยมตกแต่งด้วยลายกรวยเชิง ลายกาบพรหม-สิงห์ ลายครุฑจับนาค และที่เขียนเป็นภาพยักษ์แบก ลิงแบก และท้าวเวสสุวัณยืนถือตระบอง ก็มี ส่วนตู้เท้าสิงห์นั้น นอกจากจะจำหลักขาตู้เป็นรูปเท้าสิงห์ ซึ่งมีเล็บสิงห์เรียวแหลมแล้ว ยังนิยมทำเท้าสิงห์นั้นเหยียบอยู่บนลูกแก้วด้วย และบางตู้ยังตกแต่งเพิ่มเติมด้วยลายต่างๆ เช่น ลายก้านขด และที่เขียนเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคก็มี
ลายจำหลักประดับกระจกที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ฐานสิงห์
สำหรับตู้ฐานสิงห์นั้น ส่วนใหญ่จะทำเป็นฐานจำหลักประดับกระจก ส่วนที่เป็นลายหน้ากระดานมักทำเป็นลายประจำยามลูกฟักก้ามปู เรียงลำดับชั้นฐานด้วยลายบัวหลังสิงห์ ปากสิงห์ และเท้าสิงห์ ลายทั้งหมดประดับด้วยกระจกสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว และสีน้ำเงิน โดยส่วนใดที่ไม่ประดับกระจกสี ก็จะลงรักปิดทองทึบ องค์ประกอบของลายจำหลักประดับกระจก แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันชาญฉลาดของช่างไทยโบราณ ที่ตกแต่งส่วนต่างๆ ของตู้ ให้มีความผสมผสานกัน ระหว่างกระจกสี และลายทอง ซึ่งดูกลมกลืนงดงามได้สัดส่วน อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
ขาตู้อีกประเภทหนึ่งคือ ตู้เท้าคู้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่นิยมตกแต่งลวดลาย มักลงรักทึบเพียงอย่างเดียว
๒. การตกแต่งด้วยภาพเคล้ากระหนก
ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ช่างนิยมตกแต่งตู้พระธรรมด้วยลายกระหนกซึ่งส่วนมากทำเป็นเถากระหนก โดยเริ่มต้นโคนเถาจากขอบล่างของตู้ และพุ่งยอดเถาขึ้นสู่ขอบบน เปรียบเสมือนพันธุ์ไม้เลื้อย ถ้าลักษณะไม้มียอดอ่อนสะบัดพลิ้ว แบบเปลวเพลิงต้องลม จะเรียกว่า ลายกระหนกเปลวเครือเถา ถ้าลวดลายนั้นมีลักษณะเหมือนทรงของใบฝ้ายเทศ เรียกว่า ลายกระหนกใบเทศ หรือถ้าเหมือนรวงข้าว เรียกว่า ลายกระหนกรวงข้าว หากในระหว่างเถากระหนก เขียนภาพสัตว์จำพวกลิง กระรอก และนก ที่เกาะหรือไต่ตามกิ่งก้านของลายกระหนก ซึ่งสะท้อนภาพความเป็นไปตามธรรมชาติ ของไม้เถาไม้เลื้อย เรียกตามศัพท์ช่างว่า ลายกระหนกเครือเถาเคล้าภาพสัตว์
นอกจากนี้ ยังมีภาพเคล้ากระหนก ที่แสดงถึงความรู้ความสามารถของช่างไทย ในการสร้างสรรค์สิ่งอันเป็นเอกลักษณ์ ของความเป็นชาติอีกหลายลักษณะ โดยภาพเหล่านั้นช่างจะเขียนคละไปกับลวดลาย ถ้าเป็นภาพสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะแสดงด้วยตัวภาพหรือรูปร่าง แต่หากเป็นภาพคนจะประกอบด้วยเครื่องแต่งกาย และกิริยาท่าทางอันเป็นแบบฉบับ หรือเป็นไปตามจารีตประเพณี ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะเป็นเหมือนกิริยาท่าทางในการแสดงบทบาท และอารมณ์ ของตัวละคร ในนาฏศิลป์ไทยที่เป็นแบบฉบับ อิริยาบถดังกล่าวใช้แทนอาการเคลื่อนไหวที่ให้ความรู้สึกบ่งบอกอารมณ์ ประกอบกับองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งช่างสามารถเขียนให้เห็นสภาพป่าเขา บ้านเมือง พระราชวัง ชนชั้นสูง กษัตริย์ เทวดา ชนชั้นสามัญ ภิกษุ ลิง ยักษ์ สัตว์ป่า สัตว์หิมพานต์ ทำให้ผู้ดูสามารถเข้าใจได้ทันทีว่า เป็นภาพอะไร ถ้าเป็นภาพเล่าเรื่อง ก็จะรู้ว่า เรื่องอะไร อยู่ในตอนใดของเรื่อง ภาพเคล้ากระหนกที่มักปรากฏอยู่ตามตู้พระธรรม ได้แก่ ภาพต่างๆ ดังนี้
๑. ภาพบุคคลเต็มเนื้อที่
นิยมเขียนเป็นภาพเทพารักษ์ เทพทวารบาล หรือเซี่ยวกาง ยืนบนแท่นหรือนาคบัลลังก์ โดยมีลายช่อกระหนก หรือช่อดอกไม้เป็นพื้นหลัง
ภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ ในอิริยาบถท่าต่อสู้ เรียกว่า ภาพจับ
๒. ภาพจับ
เป็นภาพบุคคลในเรื่องรามเกียรติ์ในอิริยาบถต่างๆ กันด้วยท่าโลมและท่าต่อสู้ โดยจับกันเป็นคู่ และจับเป็นหมู่ ๓ ตน ๔ ตน หรือมากกว่านั้นก็มี เช่น ภาพพระรามกำลังรบกับทศกัณฐ์ หนุมานรบกับยักษ์หลายตน และหนุมานโลมนางสุวรรณมัจฉา
๓. ภาพเล่าเรื่อง
ภาพเคล้ากระหนกที่เป็นภาพเล่าเรื่องที่ตู้พระธรรม ช่างมักเขียนเรื่องเหมือนกับเรื่องที่ใช้เขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังตามโบสถ์วิหารทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติ วรรณกรรมชาดก และรามเกียรติ์ การเขียนภาพเล่าเรื่อง บนตู้พระธรรม มีทั้งแบบตัดทอนมาเขียนเรื่องเดียวทั้งตู้ และแบบเขียนหลายเรื่องรวมอยู่ในตู้เดียว ซึ่งตำแหน่งของภาพแยกสัดส่วนกันชัดเจน สามารถเข้าใจภาพได้ถูกต้อง
ภาพในท้องเรื่องที่นำมาเขียนประดับตู้มักจะเลือกตอนที่สำคัญ หรือตอนที่เห็นซ้ำๆ กันในภาพจิตรกรรม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ทุกตอน แล้วผูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างมีกฎเกณฑ์ในการแสดงออกของตัวภาพที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ภาพพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นประธานของเรื่อง ช่างจะสร้างให้เป็นภาพที่ผสมผสานกันระหว่างลักษณะสมจริงกับพุทธลักษณะ อันเป็นอุดมคติที่ระบุไว้ในคัมภีร์พุทธลักษณะ กับเน้นให้เห็นพุทธบารมี โดยช่างจะสร้างภาพให้มีกรอบประภามณฑล รอบพระวรกาย หรือรอบพระเศียร หรือมีรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียร ส่วนตัวภาพอื่นๆ ช่างจะทำให้มีรูปร่างลักษณะ อย่างอุดมคติกึ่งสมจริง โดยที่ไม่แสดงอารมณ์หรือความรู้สึกของตัวภาพทางใบหน้า แต่สื่อความหมายแสดงพฤติกรรมต่างๆ ด้วยกิริยาท่าทาง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ภาพพุทธประวัติ ซึ่งเขียนบนตู้พระธรรม
ก. ภาพพุทธประวัติ ปางมหาภิเนษกรมณ์
ช่างจะเขียนเป็นภาพพระราชฐานชั้นใน มีพระนางพิมพาบรรทมอยู่กับพระราหุล บนบรรจถรณ์ และสาวสรรกำนัลใน นอนอยู่ในอิริยาบถต่างๆ ตามพื้นพระราชฐาน ส่วนเจ้าชายสิทธัตถะกำลังก้าวพระบาทออกไปทางพระทวาร ที่หน้าพระราชฐาน มีภาพนายฉันนะยืนอยู่กับม้ากัณฐกะ เมื่อเห็นภาพนี้ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เจ้าชายสิทธัตถะทรงลาพระนางพิมพากับพระราหุล แล้วกำลังเสด็จออกจากห้องบรรทม ไปทรงม้ากัณฐกะ ซึ่งนายฉันนะเตรียมไว้รอรับเสด็จ บางทีช่างก็เขียนเป็นภาพตอนที่ เจ้าชายสิทธัตถะประทับอยู่บนหลังม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะเกาะหางม้าตามเสด็จ และมีเทวดาแห่ห้อมโดยเสด็จด้วย บางภาพเบื้องหน้าม้ามีพระยามาร ซึ่งเขียนเป็นรูปยักษ์ยืนขวางทาง ห้ามการเสด็จ หรือบางภาพก็เขียนตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ประทับนั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ แสดงอิริยาบถในท่าตัดพระเกศา มีนายฉันนะกับม้ากัณฐกะนอนฟุบอยู่ด้านข้าง ภาพพุทธประวัติปางนี้ บางตู้อาจเขียนตลอดทุกตอน บางตู้ก็เขียนเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งเท่านั้น
ข. ทศชาติ
เป็นคัมภีร์ชาดกว่าด้วยเรื่องอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ รวม ๑๐ ชาติ โดยมีทั้งแบบที่เขียนทั้ง ๑๐ ชาติในตู้เดียว แบบที่คัดเลือกมาบางชาติ และแบบที่เขียนเพียงชาติเดียวทั้งตู้ แต่ละเรื่องมักมีหลายตอนที่นำมาเขียนเป็นภาพ โดยอาจเขียนภาพต่อเนื่องกันไปตามความยาวของเนื้อเรื่อง แต่หากไม่ต้องการให้เปลืองเนื้อที่มากนัก ก็จะตัดเรื่อง ยกมาเขียนภาพเป็นตอนสั้นๆ ดังตัวอย่างชาดกแต่ละเรื่อง ดังนี้
- เตมิยชาดก แสดงเนกขัมบารมี ส่วนใหญ่จะเขียนภาพ ตอนพระเตมิยกุมารถูกทดสอบ เพื่อให้ตกใจกลัว ด้วยอาวุธ และสัตว์ร้าย โดยเขียนเป็นภาพพระเตมิยกุมารนั่งสมาธิบนพระแท่น มีทหารยกดาบทำท่าจะฟัน หรือจับงูพุ่งเข้าใส่ หรือตอนพระเตมิยกุมารทรงยกราชรถขึ้นแกว่งเหนือพระเศียร มีนายสารถีกำลังขุดหลุมอยู่ด้านข้าง
- มหาชนกชาดก แสดงวิริยะบารมี นิยมเขียนภาพตอนเรือสำเภาอับปาง ในภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำอยู่อย่างไม่ลดละ ท่ามกลางปลาใหญ่และสัตว์ร้าย ในทะเล มีนางเมขลา เทพธิดาแห่งทะเล เหาะลงมาพาพระองค์ขึ้นจากทะเล หรือภาพตอนพระมหาชนกบรรทมหลับอยู่ในอุทยาน มีราชรถหยุดอยู่หน้าพระแท่น
ภาพมหาชนกชาดก
- สุวรรณสามชาดก แสดงเมตตาบารมี ตอนสำคัญของเรื่องที่เห็นกันบ่อยๆ มักเป็นภาพสุวรรณสามแบกหม้อน้ำ มีกวาง และสัตว์ป่านานาชนิดอยู่ล้อมรอบ โดยมีกษัตริย์ปิลยักษ์เล็งศรมาที่สุวรรณสาม หรือตอนที่สุวรรณสาม ถูกศรของกษัตริย์ปิลยักษ์ ซวนเซจะล้มลง มีหม้อน้ำหกคว่ำอยู่ด้านหน้า บางทีก็ตัดมาเขียนเฉพาะ ตอนสามีภรรยา ซึ่งตาบอดทั้งคู่นั่งฟุบสลบอยู่กับร่างสุวรรณสามที่ถูกศร มีกษัตริย์ปิลยักษ์แสดงอาการสลดพระทัยอยู่ด้านข้าง
- เนมิราชชาดก แสดงอธิษฐานบารมี ภาพที่เห็นบ่อยเป็นตอนที่พระเนมิราชประทับอยู่บนราชรถ มีมาตุลีเทพบุตรเป็นสารถีนำเสด็จชมเมืองนรกและเมืองสวรรค์
- มโหสถชาดก แสดงปัญญาบารมี มีตอนสำคัญที่นิยมนำมาเขียนหลายตอน เช่น ตอนมโหสถกับนางปริพาชิกา ถามตอบกันด้วยหัตถปัญหา ช่างจะเขียนเป็นภาพนางปริพาชิกายกมือลูบหัว เป็นคำถามมโหสถว่าเหตุใดไม่บวช มโหสถยกมือลูบท้องเป็นคำตอบว่า มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว หรือตอนมโหสถทำอุบายลักพาตัว พระราชมารดาพระมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าจุลนีไปซ่อนในอุโมงค์ หรือตอนมโหสถยกพระขรรค์ ขู่พระเจ้าจุลนี
- ภูริทัตตชาดก แสดงศีลบารมี ภาพที่เห็นบ่อยๆ คือ ภาพตอนพราหมณ์อาลัม-พายณ์จับนาคภูริทัตต์ ซึ่งลำตัวพันอยู่รอบจอมปลวกชูเศียรขึ้นเบื้องบน