การประยุกต์ใช้ตู้พระธรรมในปัจจุบัน
บรรดาตู้พระธรรมที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรนั้น ส่วนหนึ่งมีประวัติความเป็นมา กล่าวคือ เมื่อแรกที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ประกาศจัดตั้ง หอพระสมุดวชิรญาณ เป็นหอพระสมุด สำหรับพระนครนั้น มีกระแสพระราชดำริว่า ควรใช้ตู้ลายทองรดน้ำของเก่า (ตู้พระธรรม) เป็นตู้ สำหรับใส่หนังสือ ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการหอพระสมุดได้ทราบว่า มีอยู่ตามวัดโดยมาก จึงให้ราชบัณฑิตไปขอจากพระสงฆ์ผู้เป็นเจ้าของ พระสงฆ์ส่วนมาก ยินดีถวายให้แก่ หอพระสมุด สำหรับพระนคร เพื่อสนองพระราชประสงค์ จึงทำให้ได้ตู้ และหีบลายทองรดน้ำ รวมทั้งตู้ลายจีน ตู้ประดับกระจก และอื่นๆ มาเป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร จำนวนมาก
ตู้พระธรรมที่ได้มาในคราวนั้น ส่วนมาก ด้านหลังตู้ไม่ได้ตกแต่งด้วยลายทอง มีแต่ลงรักทึบ ซึ่งมีทั้งรักแดงและรักดำ มีที่ลงรักปิดทองทึบ และตกแต่งลวดลายบ้างแต่เพียงส่วนน้อย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร ทรงดำริให้ช่างทำประตูตู้ขึ้นใหม่ เฉพาะตู้ที่ด้านหลัง มิได้ตกแต่งด้วยลายทอง ให้ทำเป็นประตูกระจกเพื่อใช้เปิดปิดแทนด้านหน้า เป็นการป้องกันมิให้ภาพลายทองหมอง
ปัจจุบัน ตู้ดังกล่าว มิได้เก็บรักษาไว้ ที่หอสมุดแห่งชาติเพียงแห่งเดียว บางส่วนอยู่ในความดูแลของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพมหานคร โดยตั้งแสดงรวมไว้กับศิลปวัตถุอื่นๆ ให้ประชาชนได้ชม ส่วนตู้ที่อยู่ในความดูแลของหอสมุดแห่งชาติ ปัจจุบัน เลิกใช้เป็นที่เก็บหนังสือแล้ว แต่ยังเก็บรักษา และจัดแสดงไว้ในอาคาร หอพระสมุดวชิรญาณ ในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร และให้บริการ เพื่อส่งเสริมการศึกษา ศิลปะลายไทย และให้ความรู้เกี่ยวกับอารยธรรม ความเจริญของชาติ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมและศึกษาได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ เพราะตู้เหล่านี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักฐาน แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของ กิจการหอสมุดแห่งชาตินับแต่แรกเริ่มเท่านั้น ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นหลักฐาน แสดงถึงความเจริญของไทย ในด้านหนังสือ อักษรศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะลวดลาย ที่ตกแต่งประดับอยู่ที่ตู้เหล่านั้น ล้วนแต่มีลักษณะสุนทรียภาพ ทางศิลปะอย่างยอดเยี่ยม ซึ่งช่างไทยแต่โบราณ ได้บรรจงสร้างสรรค์ไว้ อย่างวิจิตรงดงาม ยากที่จะถ่ายทอดด้วยลายลักษณ์อักษร ให้เข้าใจได้อย่างชัดเจน