หอพระไตรปิฎก คือ อาคาร ซึ่งใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือหนังสือพระธรรมคัมภีร์ ในพระพุทธศาสนา หอพระไตรปิฎกจึงมีสถานะเท่ากับเป็นหอสมุดของวัด กล่าวคือ นอกจากจะใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บรักษาหนังสือแล้ว ยังเป็นแหล่งให้การศึกษา เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ อีกด้วย
หอพระไตรปิฎกที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรนั้น ส่วนใหญ่สร้างเป็นอาคารเดี่ยว อยู่ในบริเวณพื้นที่ส่วนสังฆาวาส ตัวอาคารนิยมปลูกสร้างอยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันมิให้มด ปลวก และแมลงมากัดกินหนังสือ นอกจากนั้นความเย็นจากน้ำ ยังช่วยให้ภายในหอพระไตรปิฎกไม่ร้อนจัด เท่ากับเป็นวิธีการถนอมและอนุรักษ์หนังสือ ซึ่งเก็บอยู่ในตู้พระธรรม หรือหีบพระธรรม ซึ่งตั้งอยู่ภายในหอพระไตรปิฎกอีกด้วย
อาคารซึ่งใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก หรือหอพระไตรปิฎกนั้น ในปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ ว่า หอไตร หรือหอธรรม ก็มี ตามหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลายหลักยังบ่งบอกให้ทราบว่า คนไทยในอดีตเรียกสถานที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกแตกต่างจากปัจจุบัน เช่นเรียกว่า หอพระปิฎกธรรม หอปิฎก และหอพระธรรมมณเฑียร ดังตัวอย่างข้อความ ที่ปรากฏในจารึกต่อไปนี้
ศิลาจารึกวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พ.ศ. ๑๙๒๗ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๔๑ ความว่า
หอพระไตรปิฎก วัดใหญ่สุวรรณาราม อ.เมืองฯ จ.เพชรบุรี
“...แล้วจึงมาตั้งกระทำหอพระปิฎกธรรม...”
ศิลาจารึกวัดป่าใหม่ ปัจจุบันอยู่ที่วัดศรีอุโมงค์คำ อำเภอเมืองฯ จังหวัดพะเยา จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย พ.ศ. ๒๐๔๐ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๓ - ๑๔ ความว่า
“...ไว้กับอุโบสถห้าครัว ไว้กับหอปิฎกห้าครัว...”
ศิลาจารึกวัดพระธาตุ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำพูน จารึกด้วยอักษรไทยล้านนา (อักษรฝักขาม) ภาษาไทย พ.ศ. ๒๐๔๓ ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๒ ความว่า
“...จึงให้สร้างพระธรรมมณเฑียรอันอาเกียรณ์...”
หอพระไตรปิฎกที่พบเห็นในปัจจุบัน จะมีลักษณะเฉพาะตามรูปแบบศิลปะของยุคสมัย ประกอบกับความนิยมของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค และฐานะของวัด ด้วยเหตุนี้ ลักษณะรูปทรง และขนาดของหอพระไตรปิฎก จึงแตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่พบว่า รูปทรงสถาปัตยกรรมของหอพระไตรปิฎก มักจะสร้างตามแบบแผนอย่างประเพณีนิยม คือ เป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบัน และทวยรับชายคา โดยเครื่องบนหลังคาเหล่านี้ นิยมแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ กับลงรักปิดทองประดับกระจกด้วย ส่วนภายในอาคาร ได้แก่ เพดาน เสา และผนังโดยรอบ มักตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรม