เล่มที่ 3
ช้าง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โรคของช้าง

            แม้ว่าช้างจะมีรูปร่างใหญ่โต แม้ว่าช้างจะมีรูปร่างใหญ่โต แต่ก็อาจเป็นโรคได้ เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ช้างที่ถูกกักขัง และอยู่ใกล้ชิดสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีโอกาสติดโรคจากสัตว์เลี้ยงได้ง่าย ส่วนช้างที่ทำงานในป่า มักจะเกิดเป็นฝี และโรคผิวหนังพุพองกันมาก ฝีอาจเกิดขึ้นได้ง่ายจากการถูกหนามทิ่มตำผิวหนัง แล้วเกิดเป็นหนองบวมพองขึ้นมา ผิวหนังที่พุพองเป็นตุ่มนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากแมลงวันป่าชนิดหนึ่ง มาไข่ไว้ตามรูขนของช้าง เมื่อไข่ของแมลงวันกลายเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะเข้าไปอาศัยในขุมขน แล้วดูดเลือดช้างกินเป็นอาหาร ช้างที่เป็นโรคนี้ จะสังเกตเห็นผิวหนังเป็นตุ่มมีหนอง เมื่อแกะตุ่มออก จะพบตัวหนอนกลมๆ ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวฝังตัวอยู่ เมื่อตัวหนอนแก่ ก็จะกลายเป็นแมลงวันป่ามารบกวนช้างอีก แล้วทิ้งคราบไว้ในรูขนที่มันอาศัยอยู่ ทำให้ผิวหนังเกิดอักเสบ เป็นตุ่ม มีหนองขึ้น วิธีป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ ให้ช้างได้อาบน้ำบ่อยๆ ชาวบ้านได้ใช้เครือสะบ้าทุบเป็นฝอยถูตัวช้างเวลาอาบน้ำ เพื่อฆ่าตัวอ่อนของแมลงวันชนิดนี้ นับว่าได้ผลดีพอสมควร โรคที่ช้างเป็นกันมากอีกชนิดหนึ่ง คือ โรคพยาธิฟิลาเรีย (filaria) โรคนี้เกิดจากยุงในป่า ซึ่งไปกัดสัตว์ที่เป็นโรคนี้มาแล้วมากัดช้าง พยาธิที่ติดมากับแมลงจะเข้าไปในเส้นโลหิต และเจริญเติบโตในเส้นโลหิตของช้าง แล้วเข้าไปอุดตันในหัวใจ จนทำให้ช้างถึงแก่ความตาย  นอกจากโรคที่กล่าวมาแล้ว ยังมีโรคติดต่อร้ายแรงของสัตว์จำพวก วัวควาย อาจคิดต่อถึงช้างได้ เช่น โรคแอนแทรกซ์ ซึ่งเป็นโรคที่ต้องแจ้งให้ทางการทราบ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ โรคนี้อาจติดต่อถึงมนุษย์ได้ด้วย ยังมีโรคอีก ๒-๓ ชนิดที่มักเกิดกับช้าง เสมอ เช่น โรคคอบวม (haemorrhagic septicaemia)  โรคเซอร์รา (surra) โรคดังกล่าวข้างต้น เป็นโรคที่ต้องอาศัยสัตวแพทย์ผู้ชำนาญ เป็นผู้ป้องกันและรักษา ทั้งสิ้น

การให้ช้างได้อาบน้ำเป็นการป้องกันโรคให้แก่ช้างอย่างหนึ่ง
การให้ช้างได้อาบน้ำเป็นการป้องกันโรคให้แก่ช้างอย่างหนึ่ง

            ประเทศไทยเรามีช้าง ซึ่งจดทะเบียนไว้กับทางราชการประมาณ ๑๑,๒๗๗ เชือก (รายงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี ๒๕๐๙) เป็นจำนวนช้างพลาย และช้างพังไล่เลี่ยกัน ในจำนวนนี้มีช้างตกลูก ในปีนั้น ๒๘๘ เชือก ภาคกลางเป็นภาคที่มีช้างมากที่สุด ถัดไปเป็นภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับจากสถิติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อัตราการเกิดของช้างมีจำนวนน้อย รัฐบาลจึงได้กำหนดวิธีการสงวนพันธุ์ช้างขึ้น เช่น การจับช้างป่า และการส่งช้างออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาล นอกจากนั้น รัฐบาลยังกำหนดให้เจ้าของช้าง ซึ่งมีช้างอายุย่างเข้าปีที่ ๘ ต้องไปขอรับการจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณด้วย