เล่มที่ 25
ระบบฐานข้อมูล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย (Network Data Mode)

            แบบจำลองข้อมูลนี้ถูกเสนอขึ้นโดยกลุ่มโคดาซิล (CODASYL Database Task Group) ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ บางคนจึงเรียกแบบจำลองนี้ว่า ดีบีทีจี (DBTG Mode) โครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ ระเบียน (Record) และเซต (Sets) โดยที่ระเบียนสำหรับแบบจำลองนี้คือ ที่เก็บรวบรวมข้อมูล ระเบียนแต่ละอัน จะประกอบด้วยกลุ่มของค่าต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน มีลักษณะเหมือนกับระเบียนของแบบจำลองข้อมูลเชิงลำดับชั้น ส่วนเซตคือ ความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อมาก (1:N relationship) ระหว่าง ๒ ระเบียนใดๆ เซตหนึ่งจะประกอบ ด้วย ๓ ส่วนคือ ๑. ชื่อของเซต ๒. ชนิดของ ระเบียนที่เป็นเจ้าของ (Owner of set type) และ ๓. ชนิดของระเบียนที่เป็นสมาชิกของเซต (Member of set type)

            ตัวอย่างแสดงระเบียนและเซต ซึ่งมี ๒ ระเบียน ได้แก่ ระเบียนวิชา และระเบียนนักศึกษา และ ๒ เซต ได้แก่ เซตลงทะเบียนเรียน ซึ่งมีระเบียนวิชาเป็นระเบียนเจ้าของ และมีระเบียนนักศึกษา เป็นระเบียนสมาชิก แสดงความสัมพันธ์ว่า วิชาหนึ่งๆ มีนักศึกษาคนใดลงทะเบียนเรียนบ้าง ข้อสังเกต การกำหนดเซตนี้ จะทำให้เกิดข้อจำกัดที่ว่า นักศึกษาแต่ละคน ลงทะเบียนเรียนได้คนละ ๑ วิชาเท่านั้น ส่วนเซตผู้ช่วยสอนในวิชานั้น ระเบียนเจ้าของ และระเบียนสมาชิกตรงกันข้ามกับเซตแรก แสดงความสัมพันธ์ว่า นักศึกษาคนใดเป็นผู้ช่วยสอนในวิชาใดบ้าง


แสดงระเบียนและเซตของแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย

            เซตจะแตกต่างกับความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกในลักษณะที่ว่า ระเบียนที่เป็นเจ้าของ และระเบียนสมาชิกในเซตหนึ่ง จะสามารถกลับไปเป็นระเบียนสมาชิก และระเบียนเจ้าของในอีกเซตหนึ่ง ได้ตามลำดับ แต่ระเบียนที่เป็นพ่อและเป็นลูกจะ ไม่สามารถกลับเป็นลูกและเป็นพ่อตามลำดับได้ ในอีกความสัมพันธ์หนึ่ง เซตจึงมีความยืดหยุ่นใน การใช้งานมากกว่าในจุดนี้

            สำหรับความสัมพันธ์แบบ ๑ ต่อ ๑ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใด สามารถใช้เซตได้ เพียงแต่เพิ่มข้อบังคับเข้าไปอีกอย่างว่า ระเบียนที่เป็นสมาชิก จะมีได้เพียง ๑ ตัวเท่านั้น ต่อ ๑ ระเบียนเจ้าของ ส่วนความสัมพันธ์แบบมากต่อมากต้องมี การสร้างระเบียนใหม่ขึ้นมาอีก ๑ ระเบียน และ สร้างเซตขึ้นมาอีก ๒ เซต โดยให้ระเบียนใหม่ เป็นระเบียนสมาชิกของทั้งสองเซต และระเบียน เดิมในความสัมพันธ์แบบมากต่อมากนั้น เป็น ระเบียนเจ้าของเซตทั้งสอง ดังแสดงในตัวอย่าง การแทนความสัมพันธ์แบบมากต่อมาก

ข้อบังคับของแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย

๑. ทางเลือกแบบแทรก (Insertion Option)

            เป็นข้อบังคับ สำหรับระเบียนสมาชิกหนึ่งๆ ของเซตหนึ่ง ที่เพิ่งจะถูกเพิ่มเข้าไปในฐานข้อมูลว่า ควรจะถูกจัดไว้ตรงจุดไหน แบ่งได้เป็น ๒ แบบคือ แบบอัตโนมัติ (Automatic) และ แบบทำเอง (Manual) สำหรับแบบอัตโนมัตินั้น สมาชิกใหม่จะถูกจัดให้ไปอยู่กับเซตที่เหมาะสม อัตโนมัติ ส่วนแบบทำเองนั้น สมาชิกใหม่จะไม่ ถูกต่อเข้ากับเซตใดๆเลย เมื่อผู้ใช้ต้องการจะให้ ไปอยู่ที่ตรงจุดไหน ก็สามารถทำได้ในเวลาต่อมา ด้วยการใช้คำสั่งต่อ (Connect)

๒. ทางเลือกแบบเป็นเจ้าของ (Retention Option)

            เป็นข้อบังคับที่กำหนดว่า ระเบียน สมาชิกหนึ่งๆ นั้น จะสามารถอยู่เดี่ยวๆ ได้ โดยไม่ต้องต่อกับระเบียนเจ้าของใดๆ เลยได้หรือไม่ ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ แบบเลือกได้ (Optional) แบบบังคับ (Mandatory)และแบบจำกัด (Fixed) โดยที่ถ้าเป็นแบบเลือกได้หมายความว่า ระเบียนสมาชิกอยู่โดดๆ ได้ ถ้าเป็นแบบบังคับ หมายความว่า ระเบียนสมาชิกไม่ได้รับอนุญาตให้ อยู่โดดๆ จะต้องต่ออยู่กับระเบียนเจ้าของตลอดเวลา โดยที่สามารถเปลี่ยนระเบียนเจ้าของได้ แต่ถ้าเป็น แบบจำกัด จะมีลักษณะคล้ายกับแบบบังคับ แต่ ไม่สามารถเปลี่ยนระเบียนเจ้าของได้เลย หลังจาก ที่ได้ต่อเข้ากับระเบียนเจ้าของหนึ่งแล้ว

            ข้อบังคับทั้งสองแบบนี้ เมื่อนำมาใช้งานร่วมกันจริงๆ แล้ว จะมีเพียง ๓ แบบเท่านั้น ที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ ได้แก่

                        ๑. การแทรก แบบทำเองร่วมกับการเป็นเจ้าของแบบเลือกได้
                        ๒. การแทรกแบบอัตโนมัติร่วมกับการเป็นเจ้าของ แบบบังคับ
                        ๓. การแทรกแบบอัตโนมัติร่วมกับ การเป็นเจ้าของแบบจำกัด

ภาษาจัดดำเนินการแบบจำลองข้อมูลเชิงเครือข่าย

            ขั้นแรก ต้องระบุคำสั่งค้นหา (Find) เพื่อค้นหาระเบียนที่น่าสนใจว่า มีหรือไม่ ถ้ามี อยู่ที่ไหน และเมื่อหาพบแล้ว จึงใช้คำสั่งนำออกมา (Get) เพื่อจะดึงข้อมูลระเบียนนั้น ออกมาจากฐานข้อมูล อย่างไรก็ตาม ภาษาที่ใช้สำหรับแบบจำลองข้อมูล นี้เป็นภาษาขั้นต่ำ เช่นเดียวกับภาษาจัดดำเนินการ ของแบบจำลองข้อมูลเชิงลำดับชั้น ตัวอย่างของ ภาษาประเภทนี้คือ


            นอกจากคำสั่งค้นหา (Find) และคำสั่งนำออกมา (Get) แล้ว ก็ยังมีคำสั่งอื่นๆ อีก ได้แก่ คำสั่งจัดเก็บ (Store) คำสั่งลบทิ้ง (Erase) คำสั่งลบออกทั้งหมด (Erase All) คำสั่งเปลี่ยนแปลง (Modify) คำสั่งต่อ (Connect) คำสั่งยกเลิกการ ต่อ (Disconnect) คำสั่งต่ออีกครั้ง (Reconnect) ตัวอย่างของระบบจัดการฐานข้อมูลที่มีใช้และ จำหน่ายในท้องตลาด และมีพื้นฐานเป็นแบบจำลอง ข้อมูลเชิงเครือข่ายคือ ทิอินทิเกรตเท็ด เดทาเบส แมเนจเมนต์ (the Integrated Database Management System : IDMS) ไอดีเอส ทู ของ ฮันนีเวลล์ (IDS II of Honeywell) ดีเอ็มเอส ทู ของ เบอร์โรส (DMS II of Burroughs) ดีเอ็มเอส ๑๑๐๐ ของ ยูนิแว็ก (DMS 1100 of UNIVAC) แว็กซ์ - ดีบีเอ็มเอส ของ ดิจิทัล อีควิปเมนต์ (VAX-DBMS of Digital Equipment) และอิมเมจ ของ ฮิวเล็ตต์ แพกการ์ด (IMAGE of Hewlett-Packard) เป็นต้น