เล่มที่ 25
ระบบฐานข้อมูล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การรวมกันของข้อมูล (Data Integration)

            เมื่อข้อมูลเข้ามามีบทบาทในการทำงาน ขององค์กรมากขึ้น จึงมีความจำเป็นในการนำ ข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ในหลายๆ ทาง เพื่อให้เกิด ประโยชน์สูงสุด ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อองค์กรใหญ่ องค์กรหนึ่งๆ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายๆ แผนก  แต่ละแผนกเก็บข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับแผนกของตน ซึ่งอาจใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลแตกต่างกันไป โครงสร้างของข้อมูล ก็อาจแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งใช้ชื่อเดียวกัน แต่หมายถึงของคนละอย่าง หรือของอย่างเดียวกัน แต่ใช้ชื่อเรียกต่างกันใน แต่ละแผนก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การนำข้อมูลของ บริษัทมาใช้โดยรวมต้องมีการจัดสร้างคลังข้อมูล (Data Warehousing) ขึ้นมา เพื่อที่จะทำสำเนา ข้อมูลจากฐานข้อมูลของแต่ละแผนก และมีการ เปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมและถูกต้องมาใช้พัฒนา สร้างฐานข้อมูลของส่วนกลางขึ้นซึ่งคลังข้อมูลนี้จะมี การปรับปรุงตามฐานข้อมูลย่อยของแต่ละแผนก แต่อาจไม่จำเป็นที่จะต้องปรับทันทีทันใดที่ข้อมูล ถูกเปลี่ยนแปลง อาจจะแก้ไขข้อมูลทุกๆ คืน ซึ่ง เป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีการใช้งานฐานข้อมูล โดย คลังข้อมูลนี้ส่งผลให้ข้อมูลโดยรวมของบริษัท มีโครงสร้างเดียวกัน ทำให้นำมาใช้ในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือประเมินผลงานของแต่ละ แผนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การ วางแผนและวิเคราะห์งานดีขึ้นอีกด้วย


            ส่วนเหมืองข้อมูล (Data Mining) เป็นวิธีการค้นหารูปแบบ หรือโครงสร้างของข้อมูล ที่ผู้ใช้ไม่สามารถเห็น หรือเข้าใจได้ในทันที จากข้อมูลที่มีอยู่ หรือกล่าวได้ว่า เป็นเทคนิค เพื่อค้นหาความสัมพันธ์ ในข้อมูล ที่ผู้ใช้ไม่ทราบมาก่อน เช่น การค้นหารายชื่อกลุ่มลูกค้า ที่สนใจสินค้าประเภทเดียวกัน จากฐานข้อมูลลูกค้า และการสั่งซื้อของ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานข้อมูลกลุ่มนั้นๆ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในเหมืองข้อมูลมีมากมาย เช่น ระบบฐานข้อมูล การรู้จำรูปแบบข้อมูล โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Networks) ฟัซซีลอจิก (Fuzz Logic) ขั้นตอนวิธีทางยีน (Genetic Algorithms) เป็นต้น