เล่มที่ 25
ระบบฐานข้อมูล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ภาษาฐานข้อมูล (Database Language)

            การสื่อสารของสังคมมนุษย์ ต้องอาศัยภาษา เป็นสื่อในการติดต่อสื่อสาร สำหรับระบบฐานข้อมูล ก็ต้องใช้ภาษาฐานข้อมูล ในการกำหนดลักษณะต่างๆ และการใช้งานระบบฐานข้อมูล เนื่องจากระบบฐานข้อมูลแยกออกเป็นส่วนของข้อมูล กับส่วนของซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการฐานข้อมูล สถาปัตยกรรมของระบบฐานข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงสูด คือ สถาปัตยกรรม ๓ เค้าร่าง (Three-Schema Architecture) ซึ่งสนับสนุนการแยกระบบฐานข้อมูลของทั้งสองส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน สถาปัตยกรรมนี้ประกอบด้วย เค้าร่างภายใน (Internal Schema) เค้าร่างเชิงแนวคิด (Conceptual Schema) และเค้าร่างภายนอก (External Schema) ดังนั้น ภาษาของระบบฐานข้อมูลจะเป็นภาษาที่ใช้ในการอธิบายเค้าร่างแต่ละชั้น ซึ่งแบ่งได้เป็น ๔ ประเภท ได้แก่

ภาษากำหนดโครงสร้างข้อมูล (Data Definition Language : DDL)

            เป็นภาษาที่ใช้กำหนดเค้าร่างภายใน (internal schema) และเค้าร่างเชิงแนวคิด (conceptual schema) ใช้ใน กรณีที่เค้าร่างภายใน และเค้าร่างเชิงแนวคิดไม่แยก จากกันโดยเด็ดขาด

ภาษากำหนดหน่วยเก็บ (Storage Definition Language : SDL)

            ในกรณีที่เค้าร่างภายใน และเค้าร่างเชิงแนวคิด แยกออกจากกันโดยเด็ดขาด จะใช้ภาษาเอสดีแอล ในการกำหนดเค้าร่างเชิงแนวคิด

ภาษากำหนดภาพ (View Definition Language : VDL)

            ใช้ในการกำหนดภาพข้อมูล สำหรับผู้ใช้แต่ละกลุ่ม และการเชื่อมโยงกัน เค้าร่างเชิงแนวคิด

ภาษาจัดดำเนินการข้อมูล (Data Manipulation : DML)

            ใช้ในการดึง เพิ่ม ลบ และเปลี่ยนแปลงข้อมูล แบ่งได้เป็น ๒ ระดับ ได้แก่

  • ภาษาขั้นสูง หรือภาษาไร้กระบวนคำสั่ง (High-level หรือ nonprocedural language) ทำงานได้ โดยไม่ต้องนำไปใช้ร่วมกับภาษาโปรแกรม (Programming Language) ภาษาอื่น โดยประมวลผลข้อมูลครั้งละกลุ่ม (set-at-a-time) และระบุเฉพาะสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องระบุขั้น 
  • ภาษาขั้นต่ำ หรือภาษาเชิงกระบวนคำสั่ง (Low-level หรือ procedural language) จำเป็นต้องใช้งานร่วมกับภาษาโปรแกรมทั่วไปภาษาอื่น โดยประมวลผลข้อมูลครั้งละระเบียน (record-at-a-time) เท่านั้น และต้องระบุทุกขั้นตอนการทำงานด้วย

แสดงสถาปัตยกรรมสามเค้าร่าง