เล่มที่ 25
การพัฒนาซอฟต์แวร์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            คอมพิวเตอร์จะมีประโยชน์สำหรับเรา ก็ต่อเมื่อมีซอฟต์แวร์ที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีวิญญาณ ดังนั้น ซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ขณะที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้กับเครื่องเหล่านี้ก็ยิ่งซับซ้อน มากขึ้น และมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก จากเดิมที่มีชุด คำสั่งเพียง ๑๐๐-๒๐๐ บรรทัด ก็จะเพิ่มเป็นชุด คำสั่งหลายล้านบรรทัด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายและเวลา ที่ต้องใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จึงมากขึ้นตาม ไปด้วย

            ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คาดการณ์ว่า ตลาดซอฟต์แวร์โลกจะมีมูลค่า ๕.๖ ล้านล้านบาท และคงจะขยายตัวเป็นร้อยละ ๑๒.๒ ต่อปี ส่วนตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทย คาดว่า มีมูลค่ากว่า ๖,๖๐๐ ล้านบาท และถ้าภาครัฐเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่ ก็จะมีมูลค่าสูงถึง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี เราอาจจะพิจารณาจาก มูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์ได้ว่า อุตสาหกรรมการ ผลิตซอฟต์แวร์น่าจะเป็นธุรกิจที่ดี และมีบทบาท สำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ลงทุนเรื่องเครื่องมือและ อุปกรณ์ต่างๆ ไม่มาก แต่จะยึดถือบุคลากรเป็น หลักในการพัฒนา

            ความจริงแล้ว การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศไทยยังต้องปรับปรุงศักยภาพของซอฟต์แวร์อีกมาก จึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ปัญหา และอุปสรรค ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาด้านการตลาด ปัญหาด้านการทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และปัญหาด้านคุณภาพ

๑. ปัญหาด้านการตลาด

            บริษัทซอฟต์แวร์ไทยประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เช่นเดียวกับบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลกคือ หลังจากลงทุนมหาศาลในการผลิตซอฟต์แวร์ แต่เมื่อนำออกจำหน่าย ก็ถูกลอกเลียนแบบด้วยการอัดสำเนา และจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าต้นแบบถึงสิบเท่า ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นแบบจำหน่ายได้น้อย ผู้ผลิตจึงขาดทุน

๒. ปัญหาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

            ซอฟต์แวร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำให้คอมพิวเตอร์ทำงาน โดยใช้ภาษาไทยได้ เช่น อ่านออก เขียน และตรวจไวยากรณ์ได้ ฟังรู้เรื่อง พูดเป็น ฯลฯ แต่การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ เป็นเรื่องที่ยาก จึงต้องอาศัยการทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีมาสนับสนุน

            นักวิจัยหลายร้อยคนต้องค้นคว้าทดลองนานนับสิบปี จึงจะสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่ฟัง พูด และเขียน ภาษาอังกฤษได้สำเร็จ แต่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ในเรื่องเหล่านี้ของไทยมีอยู่น้อยมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องเพิ่มทรัพยากรมนุษย์ในส่วนนี้

๓. ปัญหาด้านคุณภาพ

            ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาโดยคนไทย จะมีความแตกต่างด้านคุณภาพ ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะประสบปัญหาในเรื่องการประเมินคุณภาพของซอฟต์แวร์ กล่าวคือ เมื่อขาดการประเมินคุณภาพที่ดี คนไทยก็จะไปนิยมซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เพราะไม่เชื่อถือฝีมือคนไทยด้วยกัน ทั้งที่ซอฟต์แวร์ของไทยก็มีคุณภาพดี ในทางกลับกัน เมื่อมีซอฟต์แวร์ที่ด้อยคุณภาพ ผู้พัฒนาก็ไม่ทราบจุดบกพร่อง จึงไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพให้ดีเท่าที่ควร

            สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ซอฟต์แวร์ของไทยขาดคุณภาพ ได้แก่ การขาดการบริหารโครงการที่ดี การขาดบุคลากร ที่มีทักษะทันสมัยในด้านการพัฒนา และทดสอบซอฟต์แวร์ การขาดวิธีการกำหนดคุณลักษณะซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม ฯลฯ

            หากจะมีการเพิ่มคุณภาพของซอฟต์แวร์ไทย ก็จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับปรุงเรื่องของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (ซึ่งรวมถึงการกำหนดคุณลักษณะซอฟต์แวร์ และการประเมินคุณภาพของซอฟต์แวร์) และการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ไปพร้อมกันด้วย


ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อผิดพลาดในการพัฒนาซอฟต์แวร์จากการศึกษาของนายแบรี่ บีม ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖
แสดงให้เห็นว่า ยิ่งแก้ไขข้อผิดพลาดล่าช้า ก็ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ