วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัสดุการ แพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แต่วัสดุ และอุปกรณ์การแพทย์ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จัดเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ ถึงระดับกลาง คือ
๑. กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโลหะ เช่น เตียงผ่าตัด เตียงคนไข้
๒. กลุ่มผลิตภัณฑ์ทันตกรรม เช่น ชุดยูนิตทำฟันครบชุด เครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า
๓. กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุดแต่งกายสำหรับการใช้งานในห้องผ่าตัด
๔. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทใช้สิ้นเปลืองจำนวนมาก เช่น สำลี ผ้ากอซ ผ้าพันแผล ชุดให้น้ำเกลือ
๕. กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง เช่น เครื่องรังสีเอกซ์ เครื่องนึ่ง เครื่องวัดความดันโลหิต

ผ้ากอซและสำลี
ส่วนวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น วัสดุปลูกฝัง (implant) ต่างๆ ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ทำให้วัสดุ และอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยซึ่งมีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์บางประเภท ที่นำเข้าจากต่างประเทศมักได้รับการออกแบบ โดยใช้ข้อมูลกายวิภาคของชาวตะวันตก เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากกายวิภาคของคนไทย ดังนั้น จึงทำให้การใช้งานบางครั้งมีอุปสรรค และประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ซึ่งจากข้อมูลของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๑ เป็นมูลค่าปีละ ๖,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ล้านบาท และใน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีมูลค่านำเข้า ๑๒,๒๘๓ ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นำเข้าเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเภทเทคโนโลยีระดับกลาง ถึงระดับสูง จากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

เครื่องวัดความดันโลหิต
เป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในด้านการพัฒนาวัสดุการแพทย์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง และมีหน่วยงานที่ทำวิจัย และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบทุกแห่ง และศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เช่น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งผลิตจากวัสดุประเภทโลหะเป็นส่วนใหญ่ และในส่วนของวัสดุ ซึ่งมีการวิจัยเน้นหนักทางด้านพอลิเมอร์ เซรามิก และคอมโพสิต เช่น ไฮโดรเจล ไคทิน ไคโตซาน พอลิเมทิลเมทาคริเลต ไฮดรอกซีแอปาไทต์ คอมโพสิตของพอลิเอทิลีนและไฮดรอกซีแอปาไทต์ อะมัลกัม ปรากฏว่า ผลงานวิจัยบางส่วน ได้มีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
วัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน ประเภทคอมโพสิต ที่มีการวิจัยและพัฒนาขึ้นภายในประเทศไทย และนำออกจำหน่ายเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทของคนไทยที่ผลิต และจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ จำพวกอุปกรณ์ปลูกฝัง เช่น แผ่นโลหะดามกระดูก สกรู อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกภายนอก อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกสันหลัง แต่วัสดุ หรือวัตถุดิบ ที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตขึ้นเองในประเทศไทย